เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ต่อโทรศัพท์หารือเรื่องอิหร่านกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) พร้อมเอ่ยปากเชิญผู้นำยิวไปเยือนทำเนียบขาวต้นเดือนหน้า
ในการพูดคุยกันครั้งนี้ ทั้งสอง “ตกลงที่จะพูดคุยปัญหาในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงเรื่องภัยคุกคามจากอิหร่านด้วย” ถ้อยแถลงจากทำเนียบขาวระบุ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าวอชิงตันจะมีนโยบายต่ออิหร่านที่แข็งกร้าวมากขึ้น
ทรัมป์ ยังเชื้อเชิญ เนทันยาฮู “ให้เดินทางมาพบปะกันที่ทำเนียบขาวในช่วงต้นเดือน ก.พ.”
ทางการอิสราเอลยังได้อนุมัติการก่อสร้างนิคมชาวยิวใหม่ในเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเมื่อวานนี้ (22) โดยประกาศ “ไฟเขียว” มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ เนทันยาฮู จะสนทนากับ ทรัมป์ ซึ่งรัฐบาลเทลอาวีฟระบุว่าเป็นไปอย่าง “อบอุ่น”
อย่างไรก็ดี แผนของอิสราเอลที่จะผนวกนิคมชาวยิวขนาดใหญ่ในเขตเวสต์แบงก์ได้ถูกชะลอไว้ก่อน จนกว่าผู้นำทั้งสองจะได้พบกัน
“นายกรัฐมนตรีมีความปรารถนาที่จะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีทรัมป์อย่างใกล้ชิด” สำนักงานของเนทันยาฮู แถลง
ทรัมป์ ยืนยันว่าจะหนุนหลังอิสราเอลเต็มที่ และยังประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของเขาจะรับรองนครเยรูซาเลมเป็น “เมืองหลวงที่ไร้การแบ่งแยก” ของอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงจากทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (22) ไม่ได้เอ่ยเรื่องที่ ทรัมป์ จะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืนของนานาชาติที่ยังไม่ยอมรับว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
“การเจรจาเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นอย่างมากๆ” ฌอน สไปเซอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว
สหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจทั่วโลกยังคงตั้งสถานทูตอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ จนกว่าข้อพิพาทดินแดนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้ข้อยุติที่ชัดเจน
อิสราเอลได้บุกยึดเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นย่านคนอาหรับระหว่างสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 และประกาศในปี 1980 ว่าพื้นที่เยรูซาเลมทั้งหมดถือเป็นเมืองหลวงหนึ่งเดียวของอิสราเอล
ขณะเดียวกัน ชาวปาเลสไตน์ก็ต้องการได้เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเป็น “เมืองหลวง” ของรัฐปาเลสไตน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ระหว่างการคุยโทรศัพท์ ทรัมป์ ได้ย้ำกับ เนทันยาฮู ถึงความจำเป็นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์จะต้องเปิดเจรจากันโดยตรง
“ประธานาธิบดีย้ำว่า สันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะต้องเกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้น และสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุซึ่งจุดหมายดังกล่าว” ทำเนียบขาวระบุ
สหรัฐฯ ถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล และให้งบสนับสนุนด้านกลาโหมแก่รัฐยิวสูงถึงปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าระยะหลังๆ เริ่มมีความบาดหมางเกิดขึ้น เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไม่พอใจที่อิสราเอลยังคงขยายนิคมชาวยิวในเยรูซาเลมตะวันออกและเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนโอกาสในการทำข้อตกลงสันติภาพกับปาเลสไตน์
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ปีที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นสามารถออกญัตติประณามการก่อตั้งนิคมชาวยิวในปาเลสไตน์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี เนื่องจากรัฐบาลโอบามาเลือกที่จะงดออกเสียงแทนการใช้สิทธิ์วีโต
ทันทีที่อำนาจบริหารในสหรัฐฯ ถูกเปลี่ยนมือมาสู่รัฐบาลทรัมป์ เจ้าหน้าที่อิสราเอลก็อนุมัติให้มีการก่อสร้างบ้านเรือนชาวยิวเพิ่มอีก 556 หลังในเยรูซาเลมตะวันออก
“กฎเกณฑ์เปลี่ยนไปเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ... เราไม่ได้ถูกบีบบังคับเหมือนในสมัยของ บารัค โอบามา และสามารถขยายถิ่นฐานชาวยิวได้ในที่สุด” เมอีร์ ตูร์เจมาน รองนายกเทศมนตรีนครเยรูซาเลม ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ทำเนียบประธานาธิบดีปาเลสไตน์ออกคำแถลงประณามท่าทีของรัฐยิว โดยระบุว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของยูเอ็นอย่างชัดแจ้ง