เอเจนซีส์ - ทั่วโลกต่างแสดงความกังวลกันดังอึงคะนึงยิ่งขึ้นอีกในวันพุธ (6 ธ.ค.) ก่อนหน้า “ทรัมป์” ประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งเท่ากับเป็นการละทิ้งจุดยืนที่อเมริกายึดถือมานับสิบปีเกี่ยวกับข้อพิพาทยิว - ปาเลสไตน์ แถมยังเป็นการเพิกเฉยต่อเสียงเตือนจากพันธมิตรทั่วโลก ที่ว่า การตัดสินใจนี้จะกระพือความขัดแย้งรุนแรงในตะวันออกกลาง
เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวันอังคาร (5) ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะแถลงจากทำเนียบขาวในเวลา 13.00 น. วันพุธ (1.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค. ตามเวลาในไทย) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับว่า เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
แหล่งข่าวสำทับว่า ทรัมป์ มองว่า ถ้อยแถลงนี้เป็นการยอมรับความเป็นจริง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และยุคสมัยใหม่
นอกจากนั้น ผู้นำสหรัฐฯ ยังเตรียมประกาศแผนย้ายสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันจากกรุงเทลอาวีฟ ไปยังนครเยรูซาเลมด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่คนเดิม เสริมว่า กระบวนการนี้คงต้องใช้เวลาเป็นปี เนื่องจากต้องหาที่ตั้งสถานทูต จัดการปัญหาความปลอดภัย ออกแบบสถานที่ ของบประมาณ และลงมือก่อสร้าง
สถานะของนครเยรูซาเลมอันเป็นที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา คือ คริสต์, อิสลาม และ ยิว ถือเป็นประเด็นใหญ่ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ซึ่งต่างก็ต้องการได้นครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของชนชาติตน
ผู้นำหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ จอร์แดน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี ต่างออกมาเตือนทรัมป์ ว่า ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงสถานะของเยรูซาเลมเป็นอันขาด แต่ผู้นำสหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่รับฟัง และเตรียมทำในสิ่งที่ได้สัญญาไว้กับบรรดาฐานเสียง และผู้บริจาคสายอนุรักษนิยมที่เทคะแนนอุ้มตนขึ้นสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี
กระนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่อเมริกันหลีกเลี่ยงเขตเมืองเก่าเยรูซาเลม และ เวสต์แบงก์ เนื่องจากคาดว่า จะเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง
ในวันพุธ (6) ยังมีเสียงเตือนอื้ออึงมาจากอังกฤษ จีน ซีเรีย และผู้แทนสหประชาชาติ ที่รับผิดชอบกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง
บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวขณะเดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์เพื่อเข้าร่วมการประชุมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า ลอนดอนกังวลกับข่าวนี้ และคิดว่า เยรูซาเลมควรเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสุดท้ายระหว่างอิสราเอล กับ ปาเลสไตน์
ทางด้านจีนเตือนว่า แผนการของทรัมป์อาจกระพือความตึงเครียดในตะวันออกลาง และซีเรียวิจารณ์ว่า เป็นความเคลื่อนไหวอันตรายที่สะท้อนว่า อเมริกาดูหมิ่นกฎหมายระหว่างประเทศ
เช่นเดียวกับ อิหร่าน ผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ประกาศว่า เจตนารมณ์ในการย้ายสถานทูตไปยังเยรูซาเลม เป็นสัญญาณบ่งชี้ความไร้น้ำยาและความล้มเหลวของวอชิงตัน โดยบอกว่า อเมริกาถูกมัดมือในประเด็นปาเลสไตน์ และไม่สามารถผลักดันเป้าหมายของตัวเองได้
เตหะรานนั้นให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์หลายกลุ่มที่ต่อสู้กับอิสราเอล
ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ยังประกาศว่า ปาเลสไตน์จะได้รับการปลดปล่อยและชาวปาเลสไตน์จะได้ชัยชนะ และสำทับว่า อเมริกาต้องการก่อสงครามในตะวันออกกลาง เพื่อปกป้องความปลอดภัยของอิสราเอล ด้าน นิโคเล มิลาเดนอฟ ผู้แทนยูเอ็น แสดงความเห็นว่า ทุกประเทศต้องระมัดระวังการกระทำของตัวเอง เนื่องจากอาจส่งผลรุนแรงตามมา
ทั้งนี้ ประชาคมโลกส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่า เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ำว่า สถานะสุดท้ายของนครแห่งนี้จะต้องเกิดจากกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างชาวยิว และ ปาเลสไตน์เท่านั้น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ทรัมป์พยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของตัวเอง พร้อมๆ กับผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพให้เดินหน้าต่อ ขณะที่ทำเนียบขาวอ้างว่าการรับรองสถานะของนครศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นการ “ด่วนสรุป” เพราะความจริงก็คือ เยรูซาเลมฝั่งตะวันตกเป็นดินแดนของอิสราเอล และจะต้องเป็นต่อไป ไม่ว่าผลการเจรจาสันติภาพจะออกมาในรูปใดก็ตาม
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกคน ระบุว่า ทรัมป์ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และเชื่อว่า สันติภาพเกิดขึ้นได้ โดยพร้อมที่จะสนับสนุนทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ (two-state solution) หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบ
ด้านผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์จุดไฟเผาภาพประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่จัตุรัสในเมืองเบธเลเฮม ในเขตเวสต์แบงก์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. หลังทราบข่าวว่า จะมีการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟ ไปยังนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่า แนวทางของ ทรัมป์ ไม่ต่างอะไรกับการ “ฉีกทารกเป็น 2 ส่วน” ซึ่งอาจทำให้ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะเป็นคนกลางสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางต้องพังทลายลง และทำให้ภูมิภาคที่กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้ง ทั้งใน เลบานอน ซีเรีย อิรัก เยเมน และ กาตาร์ ยิ่งร้อนระอุหนักขึ้นไปอีก
ขบวนการ “ฮามาส” ซึ่งเป็นพรรคอิสลามิสต์ที่มีกองกำลังติดอาวุธ ได้ออกมาขู่แล้วว่าพวกเขาจะเริ่มต้นการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ (อินติฟาเฎาะห์) อีกครั้ง
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระราชดำรัสเตือนสหรัฐฯ ว่า การย้ายสถานทูตเป็น “ก้าวอันตราย” ที่จะสร้างความโกรธแค้นต่อชาวมุสลิมทั่วโลก ขณะที่ ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์ ว่า เยรูซาเลม คือ เส้นแดงสำหรับชาวมุสลิม
อิสราเอลเข้ายึดเยรูซาเลมฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นย่านคนอาหรับระหว่างสงคราม 6 วัน เมื่อปี 1967 และประกาศในปี 1980 ว่า พื้นที่เยรูซาเลมทั้งหมดถือเป็น “เมืองหลวงตลอดกาลของอิสราเอล อันจะแบ่งแยกมิได้” ขณะที่ชาวปาเลสไตน์เองก็ต้องการได้เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อปี 1995 รัฐสภาอเมริกันผ่านกฎหมาย “เจรูซาเลม เอสแบสซี แอคต์” ซึ่งกำหนดให้สหรัฐฯ รับรองนครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงอิสราเอล และให้ย้ายสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันไปตั้งที่นั่นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็อนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนได้ หากมีเหตุอันจะกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ”
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ บิล คลินตัน เรื่อยมาจนถึง บารัค โอบามา ต่างใช้อำนาจสั่งเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด