รอยเตอร์ - คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ (The Norwegian Nobel Committee) ส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์และการแพร่ขยายอาวุธสู่เกาหลีเหนือ ด้วยการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในวันศุกร์ (6 ต.ค.) ให้แก่กลุ่มเคลื่อนไหวหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนามว่าโครงการระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (ICAN) ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องทั่วโลกแบนอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางข้อสังเกตว่าอาจเป็นความพยายามตำหนิโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และไม่อยากมอบเครดิตแก่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
รางวัลที่มอบแด่โครงการระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ถือว่าผิดคาดอย่างมาก โดยเฉพาะมันเกิดขึ้นในปีที่ความสำเร็จของข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างเหล่าชาติมหาอำนาจกับอิหร่านถูกมองว่าจะเป็นตัวเต็ง เนื่องจากการบรรลุเป้าหมายฝ่าทางตันทางการทูตลักษณะนี้เคยคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้วในอดีต
ไอซีเอเอ็น จัดตั้งขึ้นระหว่างการประชุมนานาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อปี 2007 โดยผลงานโดดเด่นของพวกเขา คือ เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการลงมติรับรองโดยเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และมีมากกว่า 50 ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ บางส่วนได้ให้สัตยาบันในรัฐสภาแล้ว
Beatrice Fihn กรรมการบริหารของ ICAN บอกกับรอยเตอร์ ว่า ทางกลุ่มรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อถูกถามว่าเธอจะส่งสารใดถึงเกาหลีเหนือ ซึ่งทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขัดขืนแรงกดดันจากทั่วโลก และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขู่ทำลายโสมแดงโดยสิ้นเชิงเพื่อปกป้องอเมริกาและพันธมิตร เธอตอบว่าทั้งสองผู้นำจำเป็นต้องตระหนักว่าอาวุธเหล่านั้นผิดกฎหมาย “อาวุธนิวเคลียร์ผิดกฎหมาย คำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ผิดกฎหมาย การมีอาวุธนิวเคลียร์ ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ล้วนผิดกฎหมายและพวกเขาจำเป็นต้องหยุด”
2 วันก่อนหน้าที่กลุ่มของเธอจะคว้ารางวัลโนเบล Fihn เขียนลงทวิตเตอร์ด่า ทรัมป์ ว่า “ปัญญานิ่ม” พาดพิงถึงรายงานข่าวของสื่อมวลชนในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ระบุว่า เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้คำพูดเดียวกันเรียกผู้นำของเขา อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าบุคลิกหุนหันพลันแล่นของทรัมป์ ตอกย้ำความสำคัญที่ต้องห้ามทุกประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์
ICAN ให้คำจำกัดความตนเองว่าเป็นพันธมิตรในระดับรากหญ้าของกลุ่มองค์การนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) ในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก “เราอาศัยอยู่ในโลกที่เผชิญความเสี่ยงของอาวุธนิวเคลียร์หนักหนาสาหัสมากกว่าแต่ก่อน” เบริต รีส แอนเดอร์สัน ประธานประธานคณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ “บางรัฐได้ปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย มันอันตรายอย่างแท้จริงที่มีประเทศต่างๆมากขึ้นพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีเหนือ”
รางวัลนี้หวังส่งเสริมการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางนิวเคลียร์ระหว่างวอชิงตันกับเปียงยาง เช่นเดียวกับความคืบหน้าของข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ระหว่างอิหร่านและเหล่ามหาอำนาจในการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน ขณะที่ทางคณะกรรมการไม่มีการพูดพาดพิงถึงข้อตกลงอิหร่านในการประกาศรางวัลแม้แต่น้อย
คณะกรรมการโนเบลสร้างความฉงนด้วยการมอบรางัลแก่กลุ่มรณรงค์นานาชาติที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก แทนที่จะให้การยอมรับข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านการเจรจาทางการทูตที่มีเดิมพันสูงยาวนานหลายปี “คณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์มีแนวทางของตนเอง แต่ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านคือความสำเร็จที่แท้จริงและสมควรได้รับรางวัล” คาร์ล บิลด์ต อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน ซึ่งเคยทำหน้าที่นักการทูตระหว่างประเทศกล่าว
มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการอาจลังเลใจที่จะมอบรางวัลแก่รัฐบาลอิหร่านต่อบทบาทของเตหะรานในข้อตกลงนิวเคลียร์ เนื่องจากชาวอิหร่านเพียงคนเดียวที่เคยได้รับรางวัลนี้ ก็คือ ชาริน เอบาดี ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่ถูกบีบให้ต้องลี้ภัยในต่างแดน “ผมคิดว่าคณะกรรมการคงใคร่ครวญเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอิหร่าน มันเป็นจะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายเกี่ยวกับการมอบรางวัล แม้ในมุมมองแล้วข้อตกลงอิหร่านคือตัวเต็ง” อาเซิล สวีน นักประวัติศาสตร์แห่งรางวัลโนเบลสันติภาพบอกกับรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ยืนยันว่า การมอบรางวัลแก่กลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ไม่มีเจตนาตำหนิทรัมป์หรือปฏิเสธความสำเร็จของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน “สนธิสัญญาอิหร่านคือพัฒนาการในทางบวก ความคืบหน้าของการปลดอาวุธเป็นบวก แต่เหตุผลที่เราพาดพิงเกาหลีเหนือ(ในถ้อยแถลง) คือการอ้างถึงภัยคุกคามที่ประชาชนรู้สึกจริงๆ ตรงกันข้าม อิหร่านไม่เคยส่งเสียงขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เลย” รีส แอนเดอร์สัน กล่าว