รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีชัยค์ ฮาซินา แห่งบังกลาเทศ ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) เกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญานับแสนๆ คนที่หลบหนีการกวาดล้างมาจากพม่า แต่ไม่คาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งแสดงออกชัดเจนว่ามองผู้ลี้ภัยอย่างไร
ฮาซินา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตนเข้าไปขอพูดคุยกับ ทรัมป์ ประมาณ 2-3 นาทีที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก “เขาแค่ถามดิฉันว่าบังกลาเทศเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันก็ตอบว่าเราสบายดี มีปัญหาอยู่เรื่องเดียวคือผู้ลี้ภัยจากพม่า... แต่เขาไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้เลย”
ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 410,000 คนต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกวาดล้างทางเชื้อชาติ (ethnic cleansing)
รัฐบาลพม่าระบุว่า เหตุสู้รบครั้งนี้ทำให้มีผู้ถูกสังหารไปแล้วราว 400 คน
ฮาซินา ซึ่งมีกำหนดclf'ปาฐกถาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันพฤหัสบดี (21) ระบุว่า ทรัมป์ มีจุดยืน “ชัดเจน” ในเรื่องผู้ลี้ภัย และการขอร้องให้เขาช่วยมุสลิมโรฮิงญานั้น “ไม่มีประโยชน์”
“อเมริกาประกาศว่าไม่รับผู้ลี้ภัยหน้าไหนทั้งนั้น แล้วดิฉันจะคาดหวังอะไรจากพวกเขาได้ล่ะ ยิ่งตัวประธานาธิบดีเองด้วยแล้ว เขาแสดงออกชัดเจนว่าคิดอย่างไร แล้วดิฉันจะขอร้องไปทำไม” นายกฯ หญิงบังกลาเทศ กล่าว
“บังกลาเทศไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่ถ้าเราสามารถเลี้ยงดูพลเมือง 160 ล้านคนได้ จะมีเพิ่มมาอีก 500 หรือ 700,000 คนเราก็ต้องทำได้”
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของทำเนียบขาวปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องบทสนทนาระหว่าง ทรัมป์ กับ ฮาซินา แต่ยืนยันว่าผู้นำสหรัฐฯ ให้ความใส่ใจกับปัญหาโรฮิงญา “และท่านจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแน่นอน ถ้ามีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา”
หลังสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค.ได้ไม่นาน ทรัมป์ ก็ออกคำสั่งแช่แข็งโครงการรับผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 120 วัน โดยผู้ลี้ภัยซีเรียนั้นถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ อย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ยังสั่งห้ามชาวมุสลิมจาก 6 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วันด้วย
ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15) ว่า “คำสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ควรจะถูกขยายให้กว้าง เข้มงวด และเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นไปอีก แต่มันก็จะไปขัดกับความถูกต้องในแง่การเมือง (political correctness) เข้าน่ะสิ! ”
ทรัมป์ อ้างว่านโยบายของเขามีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และเพื่อให้รัฐบาลมีเวลาคิดหามาตรการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น โดยศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะเปิดการไต่สวนนัดสำคัญในเดือน ต.ค.นี้เพื่อตัดสินว่าคำสั่งแบนของ ทรัมป์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
รัฐยะไข่มีมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ราวๆ 1 ล้านคนก่อนจะเกิดการกวาดล้างระลอกล่าสุด ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ และถูกรัฐบาลปฏิเสธความเป็นพลเมือง ขณะที่ชาวพุทธพม่าก็เชื่อว่าโรฮิงญาเป็นพวกต่างด้าวที่อพยพมาจากบังกลาเทศ และไม่ได้มีรากเหง้าร่วมกับพวกเขา
ฮาซินา เรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่อทางการพม่ามากกว่านี้ เพื่อให้ชาวโรฮิงญาสามารถกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของพวกเขาในรัฐยะไข่ได้
“(อองซานซูจี) ต้องยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นประชากรของพม่า และพม่าคือบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา รัฐบาลพม่าควรรับตัวคนเหล่านี้กลับไป... พวกเขากำลังทนทุกข์ทรมาน”
ซูจี ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกประชาคมโลกติเตียนอย่างหนักที่ไม่พยายามยับยั้งการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ขณะที่ ต่อง ตุน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของพม่า บอกกับรอยเตอร์วานนี้ (18) ว่ารัฐบาลจะช่วยให้ผู้คนที่ละทิ้งบ้านเรือนได้เดินทางกลับ “แต่มีกระบวนการที่ต้องหารือกันก่อน”
นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร เปิดทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอนุญาตให้พลเรือนสามารถกลับเข้าไปอาศัยยังชุมชนเดิมของพวกเขาได้