เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนส่งสัญญาณปราม โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งขู่จะคว่ำข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน โดยเตือนในวันนี้ (5 ธ.ค.) ว่าข้อตกลงดังกล่าว “ไม่ควรได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน” ของทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action) ซึ่งอิหร่านและกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี) ได้ร่วมลงนามที่กรุงเวียนนาเมื่อเดือน ก.ค.ปี 2015 และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้ นับเป็นชัยชนะทางการทูตและผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เทอมสอง โดยกำหนดเงื่อนไขให้เตหะรานจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ลง เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และนานาชาติ
ทรัมป์ซึ่งชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ขู่จะฉีกข้อตกลงนี้ทิ้งทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่ามันเป็นข้อตกลงที่ “เลวร้ายที่สุด” เท่าที่เคยเจรจากันมา
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้แถลงข่าวหลังจากพูดคุยกับ จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านว่า ข้อตกลงฉบับนี้เป็น “ความรับผิดชอบและหน้าที่ร่วมของทุกๆ ฝ่าย” ซึ่ง “ไม่ควรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในที่เปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง”
“สิ่งสำคัญก็คือ การเคารพต่อพันธกรณี และการมีความเชื่อมั่นเมื่อต้องเผชิญกับความแตกต่าง หรือโอกาสที่จะเกิดความแตกต่างขึ้น” เกี่ยวกับข้อตกลงนี้
สัปดาห์ที่แล้ว สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้โหวตขยายอายุกฎหมายคว่ำบาตรการทดสอบขีปนาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิหร่านต่อไปอีก 10 ปี โดยอ้างว่าเป็นคนละส่วนกับข้อตกลงนิวเคลียร์ ขณะที่เตหะรานมองว่าเรื่องนี้สะท้อนถึงความหน้าไหว้หลังหลอกของอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวอชิงตันยังไม่สนับสนุนให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจในอิหร่านดังเดิม
รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านประกาศกร้าวว่า “เราจะไม่ยอมให้ใครกระทำการฝ่ายเดียวอันละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์”
ซารีฟ ระบุด้วยว่า ตนได้หารือกับ หวัง ในเรื่องการยกระดับความร่วมมือด้านพลังงาน, การคมนาคมขนส่ง, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การป้องกันประเทศ และการต่อต้านก่อการร้าย
“เราไม่ต้องสงวนท่าที หรือมีขีดจำกัดใดๆ ทั้งสิ้นในความสัมพันธ์กับจีน เพราะเราทั้งสองชาติมีหลักการและจุดมุ่งหมายร่วมกันในเรื่องกฎระเบียบโลกในอนาคต”
หวัง และ ซารีฟ ได้เอ่ยถึงการไปเยือนอิหร่านของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือน ม.ค.ว่าเป็น “ทริปประวัติศาสตร์” ที่ทั้งสองชาติได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฉบับ รวมมูลค่าถึง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 10 ปี
ประธานาธิบดีสี ยังถือเป็นผู้นำจีนคนแรกที่ไปเยือนอิหร่านในรอบ 14 ปี
แม้จีนจะแทบไม่เคยแสดงบทบาทผู้นำในเรื่องปัญหาตะวันออกกลาง แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ภูมิภาคนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ “One Belt, One Road” ซึ่งเป็นโครงการของจีนที่จะฟื้นฟูเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21
จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากตะวันออกกลาง