เอเจนซีส์ - เกาหลีใต้และญี่ปุ่นส่งเครื่องบินไอพ่นขึ้นฝึกร่วมกับเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ไฮเทคของสหรัฐฯ ในและใกล้ๆ คาบสมุทรเกาหลีเมื่อวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นของโสมแดงเมื่อต้นสัปดาห์ ขณะที่ทรัมป์และนายใหญ่เพนตากอนงัดข้อกันออกสื่อเรื่องวิธีจัดการเปียงยาง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของการวางตัวเหินห่างจากผู้นำสหรัฐฯ ของบรรดาที่ปรึกษาอาวุโสหลายต่อหลายคน ด้านจีนยืนยันจะไม่ปล่อยให้เกิดสงคราม “หน้าประตูบ้าน” ย้ำสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี “ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์”
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เข้าร่วมฝึกกับอากาศยานไฮเทคอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดเร็วเหนือเสียงแบบ B-1B จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินขับไล่สเตทธ์แบบ F-35B จำนวน 4 ลำครั้งนี้ เป็นการปิดฉากการซ้อมรบประจำปีระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ซึ่งแม้มุ่งเน้นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ แต่ก็ตอกย้ำแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นว่า อเมริกาต้องการโชว์พลังเพื่อกำราบการยั่วยุของเปียงยาง
นอกจากนั้นเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.) สำนักงานป้องกันขีปนาวุธของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และลูกเรือยูเอสเอส จอห์น พอล โจนส์ ซึ่งเป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยังทดสอบการยิงสกัดขีปนาวุธพิสัยกลางที่ฮาวาย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และพลโทแซม กรีเวส ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันขีปนาวุธ ระบุว่า การทดสอบดังกล่าวเป็นความคืบหน้าสำคัญในการเพิ่มแสนยานุภาพของเรือที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิส
แม้ไม่มีการพาดพิงถึงเกาหลีเหนือ ทว่า การทดสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เปียงยางทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยปานกลางข้ามเกาะฮ็อกไกโดของญี่ปุ่นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.) ซึ่งในวันเดียวกันนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมติประณามและเรียกร้องให้เกาหลีเหนือระงับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธทันที
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพยายามผลักดันให้อเมริกาเสนอมาตรการแซงก์ชันเกาหลีเหนือเพิ่มเติมในที่ประชุมคณะมนตรี ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการคว่ำบาตรน้ำมันและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับน้ำมัน
ทางด้านเปียงยาง นอกจากจะเพิกเฉยต่อมติของคณะมนตรีฯ ซ้ำประกาศเดินหน้าซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นไปปิดล้อมเกาะกวมที่เชื่อว่า อเมริกาจะใช้เป็นด่านหน้ารุกรานตนเองแล้ว เคซีเอ็นเอ สำนักข่าวของรัฐบาลโสมแดง ยังออกคำเตือนเมื่อค่ำวันพุธ (30) ว่า “การเชื่อมต่อทางทหาร” ของอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อคาบสมุทรเกาหลี และสำทับว่า โตเกียวไม่สำเหนียกว่า กำลังเร่งเร้าทำลายตัวเอง ซึ่งพาดพิงโดยตรงถึงการที่อเมริกามีทหารประจำการณ์อยู่ในฮ็อกไกโด
วันพฤหัสบดี(31) เริ่น กั๋วเฉียง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนแถลงว่า จีนจะไม่ยอมให้เกิดสงครามหน้าประตูบ้านตัวเอง และย้ำว่า แนวทางการทหารไม่ใช่ทางเลือก
หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกร สำทับว่า สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีร้ายแรงและ “ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์”
ทว่า เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตว่า อเมริกาคุยกับเกาหลีเหนือมานาน แถมยังยอมถูกรีดไถเงินมา 25 ปี ซึ่งเป็นข้อสรุปว่า“การหารือไม่ใช่คำตอบ” สำหรับวิกฤตเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า อเมริกาจะยุติแนวทางทางการทูตต่อเกาหลีเหนือหรือไม่ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหม กลับตอบทันทีว่า “ไม่”
เหตุการณ์นี้ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ที่ปรึกษาระดับสูงแสดงจุดยืนตรงกันข้ามกับผู้นำสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย
นอกจากแมตทิสแล้ว ก่อนหน้านี้เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ และแกรี่ คอห์น ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ก็เคยออกมาวิจารณ์การแสดงจุดยืนของทรัมป์ที่เข้าข้างกลุ่มชาตินิยมผิวขาวอย่างชัดเจน ในเหตุการณ์รุนแรงที่เวอร์จิเนียช่วงต้นเดือนสิงหาคม
ไมเคิล เบชลอสส์ นักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่า ไม่เคยเห็นมาก่อนที่ประธานาธิบดียุคสมัยใหม่จะมีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงแบบที่เป็นอยู่ในยุคทรัมป์ และว่า จริงอยู่ที่ผู้นำมักมีความเห็นไม่ลงรอยกับบรรดาที่ปรึกษาอาวุโสเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ แต่ปกติแล้ว ความขัดแย้งมักได้รับการจัดการเป็นการภายในและไม่แพร่งพรายให้สาธารณชนรับรู้เด็ดขาด นอกจากจะมีข่าวรั่ว หรือมีการเปิดเผยในภายหลังผ่านบันทึกความจำ ประวัติศาสตร์ หรือการบอกเล่าของอดีตเจ้าหน้าที่
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 ส.ค.) ระหว่างให้สัมภาษณ์ทางทีวีและถูกซักถามเรื่องที่ทรัมป์กล่าวโทษ “ทุกฝ่าย” ในเหตุการณ์รุนแรงที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย แทนที่จะตำหนิติเตียนกลุ่มนีโอ-นาซีและกลุ่มชาตินิยมผิวขาว ทิลเลอร์สันตอบสั้นๆ ว่า “ประธานาธิบดีพูดตามความเห็นของตัวเอง”
สองวันต่อมา ซาราห์ แซนเดอร์ โฆษกทำเนียบขาว พยายามออกมาดับกระแสว่า ไม่มีใครคิดวางตัวเหินห่างจากทรัมป์ แต่เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีความเห็นไม่ตรงกัน
ทว่า เบชลอสส์แย้งว่า ที่ไม่ปกติก็คือ การแสดงความเห็นขัดแย้งอย่างเปิดเผย ซึ่งบ่งชี้ถึงความต้องการปกป้องชื่อเสียงของตนเองที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รายล้อมประธานาธิบดี
แมตทิสนั้นย้ำมาตลอดว่า แนวทางการทูตที่มีทางเลือกทางการทหารที่น่าเชื่อถือสนับสนุน เป็นทางเดียวในการป้องกันไม่ให้วิกฤตเกาหลีเหนือลุกลาม
เมื่อถูกซักถามเรื่องนี้ ดานา ไวท์ โฆษกเพนตากอนตอบว่า แมตทิสเสนอคำแนะนำที่ดีที่สุด โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย
ทว่า ลีออน พาเนตตา อดีตรัฐมนตรีและผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามาจากพรรคเดโมแครต ชี้ว่า การที่เจ้าหน้าที่คณะบริหารของทรัมป์แสดงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีออกสื่อ มีต้นตอมาจากนิสัยชอบแชร์ความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ของทรัมป์ แทนที่จะนั่งถกเถียงกับทีมความมั่นคงแห่งชาติเพื่อขบคิดปัญหาหรือนโยบายต่างๆ เป็นการภายใน
เจนนิเฟอร์ ลอว์เลสส์ ศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครองของมหาวิทยาลัยอเมริกัน สำทับว่า การที่ที่ปรึกษามากมายทำตัวเหินห่างจากทรัมป์โดยเฉพาะในประเด็นเหตุการณ์ที่ชาร์ลอตส์วิลล์ ทำให้ทรัมป์ไม่สามารถตามตอบโต้แต่ละคนได้ เพราะจะกลายเป็นว่า ตัวเขาเองนั่นแหละที่เลือกผิด