รอยเตอร์ - จากการที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธนำวิถีข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในทะเล กำลังเพิ่มแรงบีบคั้นวอชิงตันให้ต้องพิจารณาใช้วิธียิงสกัดทำลายการทดสอบครั้งต่อๆ ไปในอนาคตของโสมแดง ถึงแม้ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าจะประสบความสำเร็จ รวมทั้งพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เองก็กังวลว่าการประจันหน้ากับเปียงยางเช่นนี้อาจเกิดการบานปลายที่มีอันตรายยิ่ง
หลังจากเกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธครั้งสุดห้าวที่สุดในรอบระยะเวลาหลายๆ ปีเมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.) ที่ผ่านมา ทำให้น่าจะมีความสนใจมุ่งโฟกัสกันมากขึ้น เกี่ยวกับลู่ทางโอกาสที่จะเข้าสกัดกั้นทำลายขีปนาวุธขณะที่มันยังกำลังบินอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์
การตัดสินใจในเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างง่ายๆ สบายๆ เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดอันสลับซับซ้อนและอันตรายเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
และขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงคุยโวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ทางเลือกทุกๆ ทางกำลังวางแบให้เลือกใช้อยู่บนโต๊ะ” ทว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่าวอชิงตันจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างรวดเร็วใดๆ ไปในทางที่จะใช้การปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯโดยตรง
กระนั้น การที่เปียงยางยิงขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (intermediate range) แบบ ฮวาซอง-12 (Hwasong-12) บินข้ามเกาะฮอกไกโด ที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ไปตกในทะเลหนนี้ ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า แค่คำพูดแรงๆ ของทรัมป์, การเดินหน้าใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตร, และการสำแดงแสนยานุภาพทางทหารรอบๆ คาบสมุทรเกาหลีเป็นครั้งคราวนั้น แทบไม่มีผลในการเหนี่ยวรั้งป้องปรามผู้นำเกาหลีเหนือเอาเลย
“คิม จองอึน เลือกที่จะใช้การทดสอบครั้งนี้มาเป็นแสดงการดูหมิ่นฝ่ายอเมริกันและฝ่ายญี่ปุ่น” เดวิด เชียร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก กล่าวให้ความเห็น
อันที่จริงก่อนหน้านี้ จิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันได้ให้คำมั่นเอาไว้แล้วว่า กองทัพอเมริกันจะยิงทำลายขีปนาวุธใดๆ ก็ตามที่ทำท่าจะเป็นอันตรายต่อดินแดนของสหรัฐฯหรือของพันธมิตร
แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือ วอชิงตันพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธอันซับซ้อนหลายชั้นประสานกัน เพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธอย่างลูกเมื่อวันอังคาร (29) ซึ่งบินข้ามเหนือญี่ปุ่น ทว่าไม่ได้มีการคุกคามโดยตรงใดๆ ต่อดินแดนของญี่ปุ่น
การกดปุ่มเปิดฉากใช้ระบบนี้ในกรณีนี้ โดยเนื้อหาสาระแล้วย่อมกลายเป็นการสำแดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯ มากกว่าเป็นพฤติการณ์ป้องกันตนเอง
ขณะที่ เชียร์ก็ตอบแบบกลางๆ ว่า ตามความคิดของเขาแล้ว ในการพินิจพิจารณาของรัฐบาล น่าที่จะต้องมีเรื่องนี้เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งวางแบเอาไว้บนโต๊ะ
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า มีอันตรายที่เกาหลีเหนือจะมองการ “สอย” ขีปนาวุธของตน เป็นพฤติกรรมแห่งสงคราม และทำการตอบโต้ทางการทหาร ซึ่งอาจเกิดผลต่อเนื่องในทางวิบัติหายนะต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
จีน ผู้เป็นทั้งเพื่อนบ้านและคู่ค้ารายหลักของเกาหลีเหนือ ก็น่าจะคัดค้านการที่สหรัฐฯ จะตอบโต้ด้วยมาตรการทางทหารโดยตรงเช่นนี้
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกล่าวว่า ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ เลยว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรือรบติดระบบป้องกันขีปนาวุธนำวิถี “เอจิส” (Aegis) ที่อเมริกันมีอยู่หลายลำในภูมิภาคนี้ หรือระบบป้องกันมุ่งสกัดกั้นในบรรยากาศชั้นสูง (Terminal High Altitude Area Defense หรือ THAAD) ซึ่งยิงจากภาคพื้นดิน และสหรัฐฯ นำมาติดตั้งเอาไว้ทั้งบนเกาะกวมและที่เกาหลีใต้ จะยิงถูกเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ถึงแม้การทดสอบหลายครั้งในระยะหลังๆ มานี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
หากสหรัฐฯใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธเหล่านี้แล้วประสบความล้มเหลว ย่อมเป็นเรื่องที่อเมริกาจะต้องอับอายขายหน้า ขณะที่จะยิ่งเพิ่มความฮึกเหิมให้เกาหลีเหนือ ซึ่งในปีนี้ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปที่เชื่อกันว่ามีศักยภาพเข้าโจมตีถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้ ไปแล้ว 2 ครั้ง
สหรัฐฯ นั้นได้ใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว 40,000 ล้านดอลลาร์ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ในการวิจัยและพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ ทว่ายังไม่เคยนำเอาระบบเหล่านี้มาใช้ปฏิบัติการภายใต้ภาวะสงครามจริงๆ
แมตทิสกล่าวแสดงความเชื่อมั่นในเดือนนี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ สามารถสกัดกั้นทำลายขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือยิงขึ้นมาได้แน่นอน ถ้าขีปนาวุธนั้นๆ มุ่งหน้าสู่เกาะกวม ทั้งนี้ หลังจากเกาหลีเหนือคุยอวดว่ากำลังจัดทำแผนการเพื่อยิงขีปนาวุธพิสัยปานกลาง 4 ลูกไปตกใกล้ๆ ดินแดนของสหรัฐฯที่เป็นฐานทัพทางยุทธศาสตร์สำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้
แมตทิสบอกด้วยว่า ถ้าเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธใส่สหรัฐฯ แล้ว สถานการณ์ก็อาจบานปลายขยายตัวกลายเป็นสงครามขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนมีความแน่ใจว่ากองทัพอเมริกันสามารถคุ้มครองป้องกันได้อบาส
แน่นอน เมื่อเผชิญกับสมรรถนะทางขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่เติบใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนให้ระวังว่า ระบบป้องกันของสหรัฐฯในปัจจุบันจัดเตรียมไว้เพื่อรับมือกับขีปนาวุธที่พุ่งเข้ามาทีละลูก หรือบางทีถ้าเป็นจำนวนน้อยๆ ก็ยังจะรับมือไหว แต่ถ้าเทคโนโลยีและการผลิตของเกาหลีเหนือยังคงก้าวหน้าไปไม่หยุดหย่อนแล้ว มันก็อาจจะเกินกำลังของระบบการป้องกันของสหรัฐฯ
“ถ้ายิงสกัดกั้นขึ้นไปแล้วล้มเหลว มันก็จะเป็นเรื่องน่าอับอาย ถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องที่ทำให้รู้สึกเซอร์ไพรซ์สุดสยองหรอก” เป็นคำกล่าวของไมเคิล เอลเลแมน ผู้เชี่ยวชาญขีปนาวุธของสำนักคลังสมอง “38 นอร์ท” ในกรุงวอชิงตัน
“ระบบป้องกันขีปนาวุธไม่ได้เป็นการสร้างโล่ขึ้นมาคอยพิทักษ์ป้องกันพวกขีปนาวุธที่ยิงเข้ามา มันจะเหมือนกับระบบป้องกันทางอากาศมากกว่า มันถูกออกแบบมาเพื่อลดความเสียหายที่ฝ่ายข้าศึกสามารถก่อขึ้นมาได้ ให้เหลือน้อยที่สุด” เขาแจกแจง
ในอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้หนึ่งบอกว่ากองทัพจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องการยิงทำลายขีปนาวุธเกาหลีเหนือที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามโดยตรง เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย ถ้าเข้าสกักดกั้นเหนือญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นเรื่องลำบากที่จะวินิจฉัยว่าเปียงยางจะตอบโต้กลับมาอย่างไร เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวโดยขอให้สงวนนาม
ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าที่ทางทหารและข่าวกรองของสหรัฐฯ ต่างเตือนว่า เกาหลีเหนือสามารถยิงถล่มขีปนาวุธและปืนใหญ่ชนิดสร้างความหายนะเข้าใส่กรุงโซล และฐานทัพสหรัฐฯ แห่งต่างๆ ในเกาหลีใต้ เพื่อตอบโต้หากโสมแดงถูกโจมตีทางการทหารใดๆ ก็ตาม
ขณะเดียวกัน การพุ่งเป้าเล่นงานขีปนาวุธเกาหลีเหนือที่กำลังเดินทาง และไม่ได้ทำท่าสร้างอันตรายต่อสหรัฐฯ หรือพันธมิตร ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมา โดยที่มติฉบับต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งห้ามเปียงยางดำเนินโครงการขีปนาวุธนำวิถีนั้นก็ไม่ได้ให้อำนาจอย่างชัดเจนว่าให้ใช้ปฏิบัติการเช่นนี้ได้
ทางด้านญี่ปุ่นก็เจอปัญหาความถูกต้องทางกฎหมายเช่นกัน หากยิงทำลายขีปนาวุธที่เข้ามาในน่านฟ้าของตนทว่าไม่ได้พุ่งเป้าโจมตีญี่ปุ่น ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในปี 2015 โตเกียวสามารถอ้างสิทธิอันจำกัดในเรื่องการป้องกันตนเองร่วม เพื่อเข้าช่วยเหลือพันธมิตรที่กำลังถูกโจมตี ถ้าวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวมีภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น “ดำรงอยู่”