เอเจนซีส์ - โรงงานเคมีแห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองฮุสตันเกิดไฟไหม้และระเบิด 2 ครั้งเมื่อก่อนรุ่งสางวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) หลังจากพายุ “ฮาร์วีย์” ทำให้ไฟฟ้าดับ และระบบหล่อเย็นหยุดทำงาน สำหรับ “ฮาร์วีย์” เองนั้นอ่อนกำลังลงแล้วขณะเคลื่อนจากรัฐเทกซัสเข้าสู่รัฐลุยเซียนา นอกจากนั้นท้องฟ้าเมืองฮุสตันยังปลอดโปร่งเป็นครั้งแรก ผู้ว่าการรัฐเทกซัสยังเตือนประชาชนในพื้นที่ประสบภัยให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันอีกหนึ่งสัปดาห์
ถึงแม้มีเปลวไฟสูง 30-40 ฟุต และควันดำโขมงที่บริเวณโรงงานบริษัทอาร์เคมา แห่งนี้ ซึ่งอยู่ในเขตเมืองครอสบี ห่างจากฮุสตันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 25 กม. แต่พวกเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าชุมชนใกล้ๆ ไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายอะไร
ขณะที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านดับเพลิงกล่าวว่า ไฟลุกไหม้ที่โรงงานนี้ มีขนาดเล็ก และแม้เจ้าหน้าที่บางคนมีอาการเคืองตาจากควันดำ แต่วัสดุที่เกิดลุกไหม้ในเวลาไม่นานนักหลังผ่านเที่ยงคืนก็ไม่ใช่วัตถุมีพิษ เจ้าหน้าที่บอกด้วยว่า เนื่องจากพื้นที่รอบๆ โรงงานส่วนใหญ่เป็นชนบท พวกเขาจึงออกไปอธิบายสถานการณ์ให้แต่ละบ้านรับทราบ และขอให้อพยพแต่ว่าไม่ได้เป็นการบังคับ
โรงงานแห่งนี้ถึงแม้ได้ปิดทำการตั้งแต่ก่อนพายุฮาร์วีย์พัดขึ้นฝั่งแล้ว แต่เนื่องจากน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร และไม่มีไฟฟ้าใช้ภายหลังพายุ ทำให้ไม่สามารถใช้ระบบหล่อเย็นที่จะควบคุมอุณหภูมิสำหรับสารเคมีซึ่งอาจลุกไหม้ได้เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
ฮาร์วีย์ เฮอร์ริเคนระดับ 4 ที่ขึ้นฝั่งที่เทกซัสเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (25 ส.ค.) และล่าสุดอ่อนกำลังลดระดับเป็นดีเปรสชันเขตร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 35 คน และประชาชน 32,000 คนต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิง
ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติพยากรณ์เมื่อวันพฤหัสบีด (31) ว่า ฮาร์วีย์จะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านลุยเซียนาไปยังรัฐมิสซิสซิปปี รวมทั้งขยายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมจากชายฝั่งเทกซัส-ลุยเซียนาไปยังรัฐเคนทักกี
เดอร์ริก ฟอร์แมน นายกเทศมนตรีเมืองพอร์ต อาร์เธอร์ในเทกซัส โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า ทั่วทั้งเมืองขณะนี้จมน้ำ หลังจากมีฝนตกหนักเกือบ 76 เซนติเมตร
ขณะเดียวกัน เมืองโบมอนต์ที่อยู่ใกล้พอร์ต อาร์เธอร์ ไม่มีน้ำประปาใช้เนื่องจากสถานีสูบน้ำเสียหายจากน้ำท่วม และเทศมณฑลฟอร์ตเบนด์สั่งอพยพประชาชนที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำบาร์เกอร์ที่มีแนวโน้มจมน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากฮุสตันทางตะวันตก 32 กิโลเมตร
ในทางกลับกัน ท้องฟ้าในเมืองฮุสตันกลับมาสดใสอีกครั้งเมื่อวันพุธ (30) หลังเจอฝนถล่มนาน 5 วันที่ทำให้น้ำท่วมสาหัสทั่วเมือง โดยสนามบินหลัก 2 แห่งเริ่มเปิดให้บริการบางส่วน
ซิลเวสเตอร์ เทอร์เนอร์ นายกเทศมนตรีฮุสตัน เผยว่า รถขยะและบริการรถไฟใต้ดินในบางพื้นที่ที่น้ำลดแล้วจะกลับมาให้บริการตามปกติเร็วๆ นี้
กระนั้น บ้านเรือนและอาคารธุรกิจเกือบ 200,000 หลังในลุยเซียนาและเทกซัสยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ในวันพฤหัสบดี(31)
อุทกภัยใหญ่ครั้งนี้ยังทำให้โรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของอเมริกาในพอร์ตอาร์เธอร์ต้องระงับการผลิต ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น และซัปพลายเชื้อเพลิงโลกชะงักงัน
มูดี้ส์ อะนาลิติกส์คาดว่า ฮาร์วีย์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเทกซัส 51,000-75,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้พายุลูกนี้เป็นหนึ่งในพายุที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
เกร็ก แอ็บบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส เตือนเมื่อวันพุธว่า เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดสำหรับพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐยังไม่สิ้นสุด พร้อมบอกประชาชนในพื้นที่ประสบภัยให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันตลอดหนึ่งสัปดาห์ และว่า พื้นที่ประสบภัยในขณะนี้กินบริเวณกว้างกว่าพื้นที่ประสบภัยเฮอร์ริเคแคทรินาเมื่อปี 2005 ที่มีคนตาย 1,800 คนในนิวออร์ลีนส์ รวมทั้งโคตรพายุแซนดี้ปี 2012 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 132 คนในนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์
รายงานระบุว่า รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และสมาชิกคณะรัฐมนตรีอีกหลายคน มีกำหนดเดินทางไปยังเทกซัสในวันพฤหัสบดีเพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยและประเมินความเสียหาย
ขณะเดียวกัน กองทัพอาสาสมัครร่วมกับตำรวจ สมาชิกกองทหารรักษาดินแดน ทีมรับมืออุทกภัยของหน่วยยามฝั่ง และเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินนับพันคน เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง
หน่วยยามฝั่งนำเครื่องบิน 50 ลำและเรือกว่า 20 ลำร่วมปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ ขณะที่ความพยายามในการกู้ภัยโดยรวมใช้เครื่องบินทั้งหมดกว่า 100 ลำ ล่าสุดสามารถช่วยประชาชนได้มากกว่า 4,500 คน และสัตว์เลี้ยงอีกราว 1,000 ตัว และคาดว่า จะสามารถช่วยผู้ประสบภัยได้อีก 1,000 คนเฉพาะในพอร์ตอาร์เธอร์
พลเรือเอกพอล โธมัส ผู้ควบคุมปฏิบัติการหน่วยยามฝั่งใน 26 รัฐ เผยว่า ทีมกู้ภัยนำบทเรียนจากแคทรินามาใช้ นอกจากนี้สมาชิกทีมหลายคนยังเป็นชาวลุยเซียนาที่มีประสบการณ์ตรงในภัยพิบัติธรรมชาติเมื่อ 12 ปีที่แล้ว