xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามอินเดีย-จีน’ทำท่าจะระเบิดขึ้นแล้ว และเผยให้เห็นจุดอ่อนของแดนภารตะ

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A war in the Himalayas would expose India’s soft power
By M K Bhadrakumar
10/08/2017

วาทกรรมทางยุทธศาสตร์ในยุคหลังสงครามเย็นของอินเดียนั้น วางพื้นฐานอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าสหรัฐฯถือว่าอินเดียเป็น “ตัวถ่วงน้ำหนัก” ที่จะคอยทัดทานคัดง้างจีน และเวลานี้กระทั่งมองว่าสหรัฐฯจะเข้าข้างช่วยเหลืออินเดีย เรื่องเช่นนี้กำลังจะได้รับการทดสอบครั้งใหญ่ ในเมื่อการเผชิญหน้ากับทางทหารระหว่างอินเดียกับจีนที่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยซึ่งยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ ทำท่าจะระเบิดเป็นสงครามขึ้นมาแล้ว

ทั้งสำนักข่าวซินหวา และหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ซึ่งต่างเป็นเวทีที่เชื่อถือได้เสมอมาในเรื่องนโยบายต่างๆ ของจีน ได้ออกมาเตือนอย่างแรงๆ ในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันทางทหารระหว่างจีนกับอินเดียในบริเวณใกล้ๆ พรมแดนสิกขิม (Sikkim)

ไชน่าเดลี่ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://usa.chinadaily.com.cn/epaper/2017-08/09/content_30390080.htm) เขียนเอาไว้อย่างตรงๆ ทื่อๆ ว่า “หน้าต่างสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างสันติกำลังปิดลงแล้ว การนับถอยหลังเพื่อไปสู่การปะทะกันระหว่างกองกำลังอาวุธของทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ...” ส่วนซินหวาบอกว่า “ความอดทนอดกลั้น (ของจีน) มีขอบเขตจำกัด และในทุกๆ วันที่ผ่านไปความเหนี่ยวรั้งใจดังกล่าวก็หดถอยลงเรื่อยๆ” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2017-08/08/c_136509429.htm)

คำเตือนเหล่านี้ควรที่จะนำเอามาพิจารณาใส่ใจอย่างจริงจังหรือไม่? อินเดียนั้นได้เคยเพิกเฉยอย่างดื้อดึงต่อคำเตือนทำนองเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อ 55 ปีก่อน ในสงครามชายแดนซึ่งตนเองประสบความพ่ายแพ้อย่างกลายเป็นเรื่องดังกระฉ่อน หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่เราท่านทราบๆ กันดีอยู่แล้ว

สงครามระหว่างอินเดียกับจีนเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมา เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดเลยที่ต้องการทำศึกกัน ทว่าพื้นที่ก่อนจะไปจนถึงธรณีประตูแห่งสงคราม กลับมีขนาดขอบเขตอันกว้างขวางซึ่งการคำนวณพลาดการเดาใจฝ่ายตรงกันข้ามผิดสามารถบังเกิดขึ้นได้ ชาวอินเดียกับชาวจีนนั้นต่างเป็นประชาชนผู้มีความรักชาติ แล้วยังถูกขับดันโดยคณะผู้นำที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ขณะที่เรื่อง "บูรณภาพแห่งดินแดน" ก็เป็นประเด็นปัญหาที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้ขึ้นสูงสู่ความร้อนรุ่มได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่ควรถือเป็นสัญญาณเตือนภัยก็คือรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต่างประสบความสำเร็จในการระดมความสนับสนุนจากมติมหาชนภายในประเทศ

เรื่องเช่นนี้สำหรับในประเทศจีนแล้วอาจจะไม่ใช่ของยากลำบากอะไรเป็นพิเศษ แต่ในอินเดียซึ่งธรรมดาแล้วจะอุดมด้วยความคิดเห็นผิดแผกแตกต่างประดุจดังดอกไม้ร้อยพรรณบานประชันขันแข่งกัน มติมหาชนกลับกำลังรวมศูนย์จับขั้วกันด้วยอัตรารวดเร็วใหญ่โตเป็นพิเศษ ดูเหมือนว่าชาวอินเดียทั้งหลายทั้งปวงกำลังมีความโกรธเกรี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อความแสดงการสนับสนุนจีนที่โพสต์กันบนเฟซบุ๊ก ทว่ามันจะเกิดมีความคิดเห็นแบบสวนกระแสขึ้นมาได้อย่างไรกัน?

สภาพเช่นนี้มีอันตรายแฝงฝังอยู่ เนื่องจากความอหังการนั้นเป็นปีศาจร้ายที่กำลังเขมือบกลืนกินตัวเอง สัจธรรมพื้นๆ ธรรมดาๆ เลยมีอยู่ว่า การคาดคำนวณทางด้านนโยบายการต่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็นของอินเดีย จะต้องเผชิญกับบททดสอดอันหนักหน่วงสาหัสเป็นครั้งแรก ถ้าหากว่าเกิดการสู้รบขัดแย้งกับจีนติดตามมา ชาวอินเดียทั้งหลายต่างเห็นพ้องไปกับความฝันเฟื่องจินตนาการที่ว่า พวกเขาอยู่เหนือชั้นชนิดทิ้งห่างหลายขั้นหลายระดับจากชาวจีนทีเดียว ในเรื่องของ “อำนาจละมุน” (soft power) --ประจักษ์พยานที่พวกเขาชอบอ้างอิงกันก็คือว่า ความแพร่หลายของ การเล่นโยคะ, มหาตมะ คานธี, คนเป่าปี่ทำให้งูเคลิบเคลิ้มร่ายรำ และอื่นๆ อีกมากมาย (ซึ่งจะทำให้นานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ความเห็นอกเห็นใจหรือกระทั่งเข้าข้างอินเดีย) แต่ความเป็นจริงดูเหมือนไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่สหรัฐฯไม่ได้แสดงท่าทางใดๆ ว่าฝักใฝ่เข้าข้างอินเดียด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเกิดความรำคาญต่อความคิดเห็นเช่นนี้มากเป็นพิเศษ วาทกรรมทางยุทธศาสตร์ในยุคหลังสงครามเย็นของอินเดียนั้น วางพื้นฐานอิงอาศัยอยู่กับสมมุติฐานอันชวนให้สบายอกสบายใจประการหนึ่งเป็นอย่างมาก สมมุติฐานดังกล่าวก็คือสหรัฐฯถือว่าอินเดียเป็น “ตัวถ่วงน้ำหนัก” ที่จะคอยทัดทานคัดง้างจีน เมกนัด เดซาย (Meghnad Desai) นักแสดงความคิดเห็นผู้ทะเยอทะยานในแวดวงผู้พูดภาษาอังกฤษในนิวเดลี ได้กล่าวเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนี้:

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ติดตามมาในเวลานี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯได้ส่งสัญญาณออกมามากมายเพียงพอแล้ว ถ้าหากจะเกิดสงครามขึ้นมา มันก็จะเป็นสงครามสหรัฐฯ-จีน โดยที่อินเดียเข้าข้างอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐฯ ทั้งในทะเลจีนใต้และในเทือกเขาหิมาลัย ทั้ง 3 รายนี้ (อินเดีย, จีน, และสหรัฐฯ) เป็นส่วนผสมที่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดตูมตามขึ้นมาได้ง่ายๆ ในขณะนี้ ... ถึงที่สุดแล้ว คุณต้องเข้าใจว่าอินเดียไม่สามารถที่จะยืนหยัดขึ้นมาต่อสู้กับจีนได้หากปราศจากความช่วยเหลือและความสนับสนุนของอเมริกัน อเมริกาก็ไม่สามารถที่จะยืนหยัดขึ้นมาต่อสู้กับจีนได้หากปราศจากความช่วยเหลือของฝ่ายอินเดีย นี่แหละคือสมมาตรของความสัมพันธ์นี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hindustantimes.com/india-news/this-time-it-s-likely-we-will-be-in-a-full-scale-war-with-china-very-soon-meghnad-desai/story-S74VHhbMKI4xqbUJqDcuAP.html)

ความไร้เดียงสาอย่างสุดๆ ในข้อความข้างบนนี้ เป็นการประมวลให้เห็นถึงความโชคร้ายของอินเดีย ชาวอินเดียปฏิเสธไม่ยอมที่จะมองดูความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ พวกเขาไม่ได้เคยฉุกคิดกันเลยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯนั้นจะสู้รบทำสงครามก็เพียงเมื่อผลประโยชน์ของอเมริกาถูกคุกคามโดยตรงเท่านั้น มีเหตุผลอะไรหรือเขาจึงควรออกคำสั่งให้เพนตากอนส่งกองทหารนาวิกโยธินไปที่เทือกเขาหิมาลัย หรือจัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีออกมาไล่ล่าพวกเรือดำน้ำของจีนในมหาสมุทรอินเดียล่ะ?

สิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นจากการพบปะหารือกันที่กรุงมะนิลาเมื่อวันศุกร์ (4 ส.ค.) ที่ผ่านมา ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ก็คือว่า นักการทูตระดับท็อปทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้เสียเวลาไปกับเรื่องทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรอินเดียเลย

ทิลเลอร์สันบอกกับสื่อมวลชนว่า เรื่องเกาหลีเหนือเป็นหัวข้อหลักในการหารือของพวกเขา และการพูดจาอะไรกันเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีก “นิดหน่อยในการสะท้อนความสัมพันธ์” ที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีนซึ่งบังเกิดขึ้นในคราวนี้นั้น ก็เป็นการหารือกันถึงการสนทนาระดับสูง 4 คนระหว่างประเทศทั้งสองเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในตอนที่มีการประชุมซัมมิตที่รีสอร์ตมาร์-อา-ลาโก มลรัฐฟลอริดา เขากล่าวด้วยว่า การหารือกันที่ฟลอริดาคราวนั้น “กำลังทำให้ประเทศของเราทั้งสองบังเกิดความคืบหน้าไปอย่างแท้จริงในการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์นี้ ... และเราควรใช้ความพยายามกันอย่างไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้แก่ความสัมพันธ์นี้ เพื่อที่จะได้เอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่โลก ในแง่ของการธำรงรักษาโลกที่มีความมั่นคงปราศจากการสู้รบขัดแย้งกัน”

น่าสนใจด้วยว่า ทำเนียบขาวยังได้เผยแพร่เอกสารข่าวฉบับหนึ่งเมื่อวันเสาร์ (5 ส.ค.) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/08/05/statement-press-secretary-north-korea) ซึ่งมีเนื้อหาขอบคุณจีนสำหรับการให้ความร่วมมือจนทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านญัตติว่าด้วยการเพิ่มการลงโทษคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เป็นที่คาดหมายกันว่าทรัมป์จะไปเยือนจีนอย่างเป็นรัฐพิธีในเดือนพฤศจิกายนนี้ และ หวัง เปิดเผยว่าการเตรียมการในเรื่องนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

พวกนักวิเคราะห์ชาวอินเดียช่างไม่สามารถมองเห็นเอาเสียเลยในประเด็นสำคัญที่ว่า ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้น อยู่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง (กับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดีย) สรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า แม่แบบสำคัญยิ่งยวดที่สุดเพียงหนึ่งเดียวของยุทธศาสตร์ในการต่อต้านจีนของอินเดียนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็กลับกลายเป็นอาการหลงผิดคิดเข้าข้างตัวเอง โดยมองไปว่าสหรัฐฯจะเผชิญหน้ากับจีนเพื่อช่วยเหลือเข้าข้างอินเดีย

ในทำนองเดียวกัน พวกนักยุทธศาสตร์ชาวอินเดียก็ไม่เคยคาดหมายกันเลยว่า รัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต จะสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาสู่เวทีโลกได้อีกครั้งหนึ่ง ตลอดช่วงระยะ 25 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียชุดแล้วชุดเล่าต่างดำเนินนโยบายซึ่งเป็นการเพิกเฉยละเลยในฐานกรุณา ต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซีย โดยที่ในทุกวันนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ในภาวะที่เล็กลีบลงไปอย่างมากมายแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนในทุกวันนี้กำลังอยู่ในจุดสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาทีเดียว

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ว่า “อำนาจละมุน” ของอินเดียได้ถึงแก่ความตายไปเสียแล้ว ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาตินิยมฮินดู นำโดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี นี่ไม่ใช่เฉพาะในแวดวงความคิดเห็นของพวกเสรีนิยมโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังในโลกมุสลิมอีกด้วย ความรุนแรงที่กระทำต่อชาวมุสลิมในอินเดีย, ความสึกกร่อนเสื่อมโทรมในรากฐานแนวความคิดและการปฏิบัติแบบแยกศาสนาออกจากรัฐ (secularist foundations) ของอินเดีย, หรือการลุกฮือของมวลชน (มุสลิม) ในแคว้นแคชเมียร์ เหล่านี้ต่างได้รับความสนอกสนใจจากนานาชาติ มีประโยชน์อย่างมากทีเดียวที่จะจดจำระลึกว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) นั้น เป็นตัวแทนของรัฐสมาชิกองค์การสหประชาชาติถึง 54 ประเทศ

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้จะออกมาแสดงบทบาทแน่นอน ถ้าหากเกิดสงครามระหว่างอินเดียกับจีนขึ้นมา อินเดียไม่เพียงสู้จีนไม่ได้ในทางการทหารเท่านั้น กระทั่งในเรื่องอำนาจละมุนก็เช่นกัน จีนน่าที่จะแซงหน้าไปเสียแล้ว แต่ด้วยการทำตัวเป็นดักแด้ที่สำรอกเส้นใยออกมาห่อพันตัวเองเอาไว้ให้อยู่แต่ในโลกแห่งจินตนาการ ชาวอินเดียจึงกำลังทึกทักถึงความสำคัญของตนเอง จนกระทั่งปฏิเสธไม่ยอมรับการตัดสินวินิจฉัยของประชามตินานาชาติ -- โดยไม่ต้องพูดถึงประชามติของจีนหรือของเหล่าชาติเพื่อนบ้านรายเล็กกว่าในเอเชียใต้

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น