รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ภายหลังเจอทางตันตกลงกันไม่ได้มา 1 วันในเรื่องวิธีการรับมือคลี่คลายข้อพิพาทที่มีอยู่กับจีนในทะเลจีนใต้ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ (6 ส.ค.) โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้ รวมทั้งแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการถมทะเลสร้างเกาะเทียมด้วย
อาเซียนล้มเหลวไม่สามารถออกคำแถลงร่วมตามธรรมเนียมปฏิบัติภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขากันเองที่กรุงมะนิลาเมื่อวันเสาร์ (5) โดยที่พวกนักการทูตระบุว่าเนื่องจากเหล่าชาติสมาชิกมีความเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องจะใช้ถ้อยคำอย่างไรในการอ้างอิงพูดถึงเรื่องที่จีนเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารบนเกาะเทียมหลายแห่งซึ่งสร้างขึ้นในน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้
ปรากฏว่าในแถลงการณ์ซึ่งออกมาในคืนวันอาทิตย์ (6) บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนตกลงใช้จุดยืนที่แข็งขึ้นกว่าในฉบับร่างก่อนหน้านั้นที่พวกผู้สื่อข่าวได้เห็นกัน โดยที่ในฉบับร่างนี้ยังอ่อนลงกว่าฉบับที่ประกาศออกมาเมื่อปีที่แล้วระหว่างการประชุมกันที่ประเทศลาวอีกด้วย
ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ร่วมที่เห็นพ้องกันได้ในที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ (6) นี้ พูดถึงทะเลจีนใต้ โดย “ตอกย้ำถึงความสำคัญของการไม่เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารและของการยับยั้งชั่งใจตนเอง”
แถลงการณ์บอกด้วยว่า ภายหลังจากการอภิปรายหารือกันอย่างกว้างขวาง ได้มีชาติสมาชิกบางรายแสดงความวิตกเกี่ยวกับการถมทะเลสร้างเกาะเทียม “ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้ลดทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น, เพิ่มพูนความตึงเครียด และอาจจะบ่อนทำลายสันติภาพ, ความมั่นคง และเสถียรภาพ”
การที่อาเซียนประสบภาวะชะงักงันไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้เช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสมาคมแห่งนี้ ในจังหวะเวลาเดียวกับที่มีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญด้านความมั่นคงของคณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าวอชิงตันยังคงมีความพยายามที่จะทัดทานกิจกรรมทางทะเลต่างๆ ของจีนต่อไปอีกหรือไม่
พวกนักการทูตอาเซียนจำนวนมากกล่าวว่า ในบรรดาชาติสมาชิกซึ่งผลักดันให้แถลงการณ์คงส่วนประกอบที่ค่อนข้างแสดงความไม่พอใจจีนเอาไว้ต่อไปนั้น ที่โดดเด่นกว่าเพื่อนคือเวียดนาม ขณะที่กัมพูชายังคงแสดงตนเป็นผู้คอยแก้ต่างให้ปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม มีนักการทูตอาเซียนอีกผู้หนึ่งซึ่งยืนยันว่า แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเนื้อหาของแถลงการณ์ เพียงแต่ว่ามีชาติสมาชิกบางรายเห็นว่าในฉบับร่างยังใช้ถ้อยคำที่อ่อนเกินไป