รอยเตอร์ - บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนและจีน เห็นพ้องกันเมื่อวันอาทิตย์ (6 ส.ค.) ในเรื่องกรอบโครงสำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct on South China Sea - CoC) อันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งพวกเขายกย่องสรรเสริญว่าเป็นความก้าวหน้า ทว่าบรรดานักวิจารณ์กลับมองว่านี่เป็นเพียงยุทธวิธีในการซื้อเวลาของปักกิ่ง ในขณะเร่งรวบรวมกำลังสถาปนาตนเองขึ้นเป็นมหาอำนาจทางทะเล
กรอบโครงสำหรับการเจรจานี้ มุ่งหมายที่จะใช้ผลักดันความคืบหน้าของการปฏิบัติตามเอกสารที่เรียกว่า ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the conduct of Parties in the South China Sea - DoC) ซึ่งตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2002 ทว่าส่วนใหญ่แล้วถูกละเลยเพิกเฉยจากพวกรัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งได้ถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นอย่างน้อย 7 แห่งแล้วในบริเวณน่านน้ำที่ยังพิพาทช่วงชิงกับผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ โดยที่ในจำนวนนี้ 3 แห่ง แดนมังกรยังได้ก่อสร้างทางขึ้นลงของเครื่องบิน, ติดตั้งจรวดชนิดยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ และระบบเรดาร์
เหล่าชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนและจีนแถลงว่า กรอบโครงดังกล่าวนี้เป็นเพียงเค้าโครงของแนวปฏิบัติที่จะได้หารือจัดทำกันขึ้นมาต่อไป ทว่าพวกนักวิจารณ์มองว่าการที่มิได้กำหนดวางเค้าโครงกันตั้งแต่ต้นว่าแนวปฏิบัตินี้จำเป็นที่จะต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายอีกทั้งสามารถนำมาบังคับใช้ได้ รวมทั้งจะต้องมีกลไกสำหรับแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท ด้วย ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่าสิ่งที่จะเจรจาตกลงกันต่อไปนั้น จะมีประสิทธิภาพใช้งานได้จริงหรือไม่
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนแถลงภายหลังการหารือกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนที่กรุงมะนิลาในวันอาทิตย์ (6) ว่า การเห็นพ้องรับรองกรอบโครงนี้ เป็นการสร้างพื้นฐานอันหนักแน่นมั่นคงสำหรับการเจรจากันต่อไปซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ หาก “สถานการณ์ในทะเลจีนใต้โดยทั่วไปมีเสถียรภาพ และบนสมมุติฐานที่ว่าไม่มีการแทรกแซงอย่างสำคัญใดๆ จากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ภายนอก”
มีนักวิพากษ์วิจารณ์และนักการทูตบางรายเชื่อว่า การที่จู่ๆ จีนเกิดให้ความสนใจเรื่องแนวปฏิบัติขึ้นมาอีกหลังจากปล่อยให้ล่าช้าล่วงเลยมาถึง 15 ปีแล้วเช่นนี้ แท้ที่จริงเป็นลูกไม้ในการดึงลากให้กระบวนการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับเรื่องนี้ยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการซื้อเวลาให้ตนเองดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ของตนจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์
พวกที่ต่อต้านคัดค้านหลายรายกล่าวด้วยว่า จีนหันมาผลักดันเรื่องนี้ในจังหวะเวลาที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยแสดงตนเป็นกันชนที่สำคัญยิ่งเสมอมาในการคัดค้านท่าทียืนกรานแข็งกร้าวของจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ เวลานี้กลับกำลังหันเหไปสนใจประเด็นปัญหาอื่นๆ และไม่ได้มีความกระจ่างชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคงของตนในเอเชีย ด้วยเหตุนี้จึงกำลังทำให้ฐานะการต่อรองของอาเซียนอ่อนแอลง