รอยเตอร์/เอเอฟพี - บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาคมอาเซียน ซึ่งหารือกันอยู่ที่กรุงมะนิลา ล้มเหลวยังไม่สามารถออกแถลงการณ์ตามธรรมเนียมปฏิบัติในตอนสิ้นสุดการประชุมของพวกเขาเมื่อวันเสาร์ (5 ส.ค.) โดยที่มีรายงานว่า เวียดนามเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกรายอื่นๆ แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งมากขึ้นในการคัดค้านการขยายตัวอย่างขนานใหญ่ของจีนในทะเลจีนใต้
ทะเลจีนใต้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความยุ่งยากเจ็บปวดให้แก่สมาคมอาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยที่ 10 ชาติสมาชิกมีความเห็นแตกต่างกันมากในเรื่องวิธีการที่จะใช้รับมือกับการที่จีนกำลังแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเร่งถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นหลายแห่งในน่านน้ำที่ยังเป็นกรณีพิพาทช่วงชิงอยู่กับชาติต่างๆ
โรเบสปิแอร์ โบลิวาร์ โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าภาพของการประชุมคราวนี้ ไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ที่เกิดการล่าช้ากันเช่นนี้ และกล่าวเพียงว่า คำแถลงฉบับนี้จะนำออกเผยแพร่ในตอนท้ายของรายการประชุมระดับภูมิภาคทั้งหลายที่มีกำหนดจัดต่อเนื่องกันไปในกรุงมะนิลาในอีกหลายๆ วันข้างหน้า
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมของ 10 ชาติ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันเสาร์ (5) แล้ว ยังจะติดตามมาด้วยการประชุมระหว่างอาเซียนกับพวกประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศ, การประชุมอาเซียนกับ 3 ชาติเอเชียตะวันออก, การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) เป็นต้น โดยที่รายการซึ่งได้รับความสนใจจากนานาชาติมากกว่าเพื่อน คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ)
“แถลงการณ์ร่วมจะออกมาพร้อมๆ กับคำแถลงของประธานฉบับอื่นๆ ทั้งหมด ในตอนสิ้นสุดการประชุมทุกๆ รายการแล้ว” เขากล่าว
พวกนักการทูตจาก 3 ชาติอาเซียน เปิดเผยว่า การล่าช้าคราวนี้เนื่องมาจากเวียดนาม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศอาเซียน ที่มีข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ทับซ้อนอยู่กับปักกิ่ง เรียกร้องต้องการให้เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการก่อสร้างเกาะเทียม และการเสริมสร้างแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้
ร่างของแถลงการณ์ที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำและผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้อ่านเมื่อวันพฤหัสบดี (3) นั้น มีเนื้อหาสาระที่อ่อนลงกว่าเวอร์ชั่นของแถลงการณ์ซึ่งออกมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีที่แล้ว รวมทั้งยังตัดทิ้งไม่มีการอ้างอิงถึง 2 เรื่อง ที่เวียดนามกำลังผลักดันเรียกร้องด้วย
จีนนั้นมีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งต่อการที่อาเซียนเอ่ยอ้างอิงถึงการขยายสมรรถนะทางการทหารของตนในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกัน ก็มีบางชาติสมาชิกอาเซียนมีความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลสะท้อนกลับติดตามมาจากการทำให้จีนหงุดหงิดขุ่นเคือง เมื่อคำนึงถึงอำนาจทางทหารและทางเศรษฐกิจของปักกิ่ง
ปัจจุบันจีนได้ถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นมาเหนือแนวปะการังต่างๆ ในทะเลจีนใต้อย่างน้อย 7 แห่ง โดยในจำนวนนี้มี 3 แห่ง ซึ่งแดนมังกรยังได้สร้างลานขึ้นลงของเครื่องบินความยาวหลายกิโลเมตร รวมทั้งติดตั้งเรดาร์, จรวดแบบยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ, ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เก็บเครื่องบินขับไล่ไอพ่น
“มีเพียงเวียดนามเท่านั้น ที่ยังคงยืนกราน บางทีเมื่อถึงพรุ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะสามารถเจรจาต่อรองจนตกลงกันได้หมดก็ได้” นักการทูตผู้หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการร่างแถลงการณ์ให้ความเห็นกับรอยเตอร์
ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เวียดนามยังต้องการให้อาเซียนยืนยันในแถลงการณ์ของตนว่า เอกสารแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) สำหรับประเทศต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาเซียนเจรจาจัดทำกับจีนนั้น จะต้องเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ถึงแม้ปักกิ่งแสดงท่าทีคัดค้านเรื่องนี้ก็ตามที
นอกจากเวียดนามแล้ว เอเอฟพีได้อ้างอิงร่างแถลงการณ์ที่ตนได้เห็นตลอดจนคำบอกเล่าของพวกนักการทูตที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาจัดทำแถลงการณ์ว่า ยังมีมาเลเซียอีกรายหนึ่ง ซึ่งก็ผลักดันให้แถลงการณ์ใช้ภาษาถ้อยคำที่เข้มข้นขึ้นในบางที่บางจุด เป็นต้นว่า ในเวลาซึ่งระบุถึง “ทรัพย์สินทางทหาร” ในทะเลจีนใต้
เห็นชอบกันได้ในเรื่องเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาติอาเซียนทั้งหลายสามารถเห็นพ้องต้องการในการประชุมเมื่อวันเสาร์ (5) ก็คือเรื่องที่ว่าความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีต้นตอจากการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือนั้น กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยของโลก
ในเนื้อหาคำแถลงร่วมว่าด้วยปัญหาเกาหลีของปีนี้ อาเซียนมีน้ำเสียงที่แข็งกร้าวขึ้นกว่าคำแถลงในฉบับก่อนๆ โดยเรียกร้องเกาหลีเหนือให้ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของโสมแดง และสร้างคุณูปการในทางบวกให้แก่สันติภาพในภูมิภาค
เป็นที่คาดหมายกันว่า การที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป จะกลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ครอบงำการประชุมเออาร์เอฟ ซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันจันทร์ (7) โดยที่เวทีประชุมนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศของ 27 ชาติเข้าร่วม ซึ่งก็รวมทั้งของสหรัฐฯ, จีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, ตลอดจนเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ
“เราเรียกร้อง (เกาหลีเหนือ) อย่างหนักแน่น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีประชุมเออาร์เอฟของอาเซียน ให้มีคุณูปการในทางบวกเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ของเออาร์เอฟในการธำรงรักษาเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ, เสถียรภาพ, มิตรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง อย่างยืนยาว กลายเป็นความจริงขึ้นมา” คำแถลงร่วมของอาเซียนระบุ
จุดยืนของอาเซียนนี้ ยังคงไปไม่ถึงแนวทางอันแข็งกร้าวยิ่งกว่านี้ ซึ่งสหรัฐฯพยายามรบเร้าผลักดัน ทั้งนี้ วอชิงตันต้องการให้อาเซียนลดระดับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเกาหลีเหนือเลยทีเดียว
ทว่า บางประเทศในเอเชีย รวมทั้งเกาหลีใต้ด้วย กำลังวาดหวังที่จะเปิดการหารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศ รี ยองโฮ ของเกาหลีเหนือ ซึ่งมาร่วมประชุมที่มะนิลาครั้งนี้ด้วย
“ถ้าหากมีโอกาส ดิฉันจะบอกกับเขาว่าเราจะต้องพูดจากัน และเกาหลีเหนือต้องเลิกการยั่วยุที่กระทำมาอย่างต่อเนื่อง” คัง คยุง-ฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่มะนิลาในวันเสาร์ (5)
ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น มีกำหนดในวันเสาร์ (5) เช่นกัน ที่จะออกเสียงในร่างมติ ซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ อันมีจุดมุ่งหมายเพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพื่อตัดลดรายรับจากการส่งออกของเกาหลีเหนือที่อยู่ในระดับปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ ลงไปให้ได้ราวหนึ่งในสาม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่โสมแดงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปถึง 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา