เอพี/รอยเตอร์MGR ออนไลน์ - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ออกมติลงโทษคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ ลงโทษเปียงยางทดลองมิสไซล์ ล่าสุด ยูเอ็นสั่งแบนเปียงยาง ห้ามส่งออกถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว แร่ทรัพยากรธรรมชาติ และอาหารทะเล รายได้หลักส่งเข้าป้อนประเทศ รวมไปถึงห้ามชาติสมาชิกยูเอ็นเพิ่มจำนวนแรงงานเกาหลีเหนือ และความร่วมมือการลงทุน ด้านที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนแถลงยืนยัน ทางตันปัญหาเกาหลีเหนือถือเป็นภัยความมั่นคงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงระดับโลก
เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ว่า คณะมนตรีความมั่นคงองค์การสหประชาชาติอนุมัติมติคว่ำบาตรรอบใหม่เกาหลีเหนือในวันเสาร์ (5) ซึ่งพบว่ามติล่าสุดประเทศที่ให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือเช่น รัสเซีย และจีน ยอมออกเสียงเห็นด้วยกับสหรัฐฯ
รอยเตอร์ชี้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความยินดีต่อการอนุมัติคว่ำบาตรครั้งนิ้ผ่านทวิตเตอร์ในช่วงค่ำวั่นเสาร์ (5 ส.ค.) โดยกล่าวว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติเพิ่งออกเสียงด้วยมติ 15 ต่อ 0 คว่ำบาตรเกาหลีเหนือ จีนและรัสเซียอยู่ข้างเรา ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ (เกาหลีเหนือ) ครั้งใหญ่แน่นอน!” รายงานจากแถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐฯ
เอพีชี้ว่า การคว่ำบาตรรอบใหม่นั้นรวมไปถึงคำสั่งห้ามสินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีเหนือซึ่งทำเงินมูลค่ากว่า 1 พันล้าน จากรายได้ยอดรวมของเกาหลีเหนือในปีที่ผ่านมากว่า 3 พันล้านดอลลาร์
รอยเตอร์รายงานว่า สินค้าส่งออกที่ถูกแบนประกอบไปด้วย ถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว แร่ทรัพยากรธรรมชาติเหล็ก และตะกั่ว และอาหารทะเล โดยเอพีอ้างจากแหล่งข่าวนักการทูตคณะมนตรีความมั่นคงองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้ระบุว่า ถ่านหินถือเป็นหัวใจของสินค้าส่งออกของเกาหลีเหนือ ทำเงินสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา แต่ทว่าถูกองค์การสหประชาชาติสั่งจำกัดจำนวนในพฤศจิกายนปีที่แล้ว ให้ได้สูงสุดแค่ 400 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ในปีนี้ทางเปียงยางคาดว่าจะสามารถมีรายได้จากการส่งออกเหล็ก และแร่เหล็ก 251 ล้านดอลลาร์ และอีก 113 ดอลลาร์จากตะกั่ว และแร่ตะกั่ว ส่วนในอุตสาหกรรมผิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเล เกาหลีเหนือคาดจะสามารถทำเงิน 295 ล้านดอลลาร์
เอพีรายงานต่อว่า ในมติที่ออกมาวันเสาร์ (5 ส.ค.) ยังห้ามไปถึงไม่ให้ประเทศสมาชิกใดๆออกใบอนุญาตให้แรงงานเกาหลีเหนือเข้ามาทำงานในประเทศเหล่านั้นเพิ่ม ซึ่งทางเอพีชี้ว่า รายได้จากแรงงานเกาหลีเหนือในต่างแดน ถือเป็นแหล่งเงินหลักของรัฐบาลประธานาธิบดีคิม จองอึน
ในมติยังประกาศห้าม “การลงทุนร่วม” หรือที่เรียกว่า “joint venture” ที่จะเกิดขึ้นใหม่กับบริษัทเกาหลีเหนือ และยังครอบคลุมไปถึง การลงทุนจากต่างแดนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เอพีชี้ว่า ในมติในรอบนี้ยังรวมไปถึงการ คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ 9 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธนาคารหรือบริษัท โดยในคำสั่งแบนของมตินั้นให้ ประกาศห้ามการเดินทางคนเหล่านั้น รวมไปถึงคำสั่งการยึดทรัพย์ และยังประกาศยึดทรัพย์ธนาคาร 2 แห่ง และบริษัทอีก 2 แห่ง
แหล่งข่าวคนเดิมยืนยันว่า การประกาศคว่ำบาตร ธนาคารการค้าระหว่างประเทศ (Foreign Trade Bank) เกิดขึ้น เป็นเพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินแห่งนี้ช่วยเกาหลีเหนือในด้านธุรกรรมการเงินแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างประเทศ
กลุ่มบริษัท เดอะแมนซูเอด โอเวอร์ซีส์ โปรเจกต์ กรุ๊ป (The Mansudae Overseas Project Group of Companies)เป็น 1 ใน 2 ของบริษัทที่โดนคณะมนตรียูเอ็นขึ้นแบล็กลิสต์ครั้งนี้เช่นกัน โดยเอพีกล่าวว่า บริษัทแห่งนี้ช่วยเปียงยางส่งคนงานเกาหลีเหนือไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึง การสร้างสิ่งปลูกสร้างในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอพีชี้ว่า มติใหม่ยังคงยืนกรานมติก่อนหน้า โดยให้ยังคงเฝ้าจับตาการลงโทษคว่ำบาตรแบนการส่งออกวัตถุที่สามารถถูกใช้ได้ทั้งในภาคทหารและพลเรือนสำหรับเกาหลีเหนือ
โดยในรายงานจากมติการคว่ำบาตรวันเสาร์ (5 ส.ค.) ยังรวมไปถึงการให้อำนาจแก่ทางคณะมนตรีความมั่นคงที่จะกำหนดให้ให้เรือเป้าหมาย สั่งเป็นความผิดจากการเข้าไปยังท่าเรือใดๆ ทั่วโลก และให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นร่วมมือกับสำนักงานตำรวจสากลอินเตอร์โพลทำการบังคับห้ามการเดินทางของกลุ่มบุคคลเกาหลีเหนือทั้ง 9
อย่างไรก็ตาม ในมติคว่ำบาตร เอพีชี้ว่า ไม่รวมไปถึงการคว่ำบาตรทางน้ำมันและข้อจำกัดทางอากาศตามที่ทางวอชิงตันต้องการ
ด้านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ นิกกี เฮลลี ออกมาชื่นชมความสำเร็จของมติ โดยชี้ว่า “ถือเป็นแพกเกจการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาต่อเกาหลีเหนือ และถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศใดๆ ในโลกนี้ในยุคนี้”
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (5 ส.ค.) ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนออกมาแสดงความเห็นถึง ความตรึงเคียดที่เพิ่มมากขึ้นต่อปัญหาเกาหลีเหนือ โดยรอยเตอร์ชี้ว่า เป็นแถลงการณ์ที่มีท่าทีแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจากที่ประชุม โดยชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลของเปียงยาง ซึ่งเป็น “ภัยคุกคามอย่างร้ายแรง” ต่อเถียรภาพและความมั่นคงโลกในเวลานี้
โดยในที่ประชุมอาเซีย ได้มีการเรียกร้องให้ทางเกาหลีเหนือยอมทำตามมติที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติในข้อกำหนดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดความสงบต่อภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ชี้ว่าแถลงการณ์ประณามเกาหลีเหนือไม่ได้รวมอยู่ในแถลงการณ์ใหญ่อย่างเป็นทางการของการประชุม แต่เป็นแถลงการณ์ที่แยกออกมาต่างหาก
รอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมาทางสหรัฐฯพยายามกดดันให้ชาติสมาชิกอาเซียนลดบทบาทความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ แต่ทว่าทางอาเซียนใช้ข้ออ้างโต้ว่า ประเทศสมาชิกนั้นไม่มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับเปียงยาง ดังนั้นจึงเป็นการยากในการทำตามข้อเรียกร้อง
ขณะที่ฟิลิปปินส์ที่นั่งเป็นประธานในวันศุกร์ (4 ส.ค.) ได้ออกมาชี้ว่า อาเซียนจะไม่พิจารณาให้ไล่ “เกาหลีเหนือออกจาก ARF เด็ดขาด” ทั้งนี้ ARF คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก