รอยเตอร์ - จีน และเวียดนามจะจัดการและควบคุมข้อพิพาทขัดแย้งทางทะเลระหว่างกันอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงที่จะกระทำการที่ส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน หรือขยายกว้างมากขึ้น เพื่อรักษาความสงบสุข และสันติภาพในทะเลจีนใต้ คำแถลงร่วมที่เผยแพร่ในวันนี้ (15) ระบุ
เวียดนามเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงท่าทีชัดเจนมากที่สุดว่ามีความขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับน่านน้ำดังกล่าว นับตั้งแต่ฟิลิปปินส์ก้าวถอยจากการเผชิญหน้าภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต
หลังจากสิ่งที่จีนระบุว่า เป็นการหารือที่ “สร้างสรรค์” เกี่ยวกับทะเลจีนใต้เมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างการพบหารือของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ของเวียดนาม คำแถลงร่วมยังย้ำถึงความจำเป็นในการควบคุมความต่าง
ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะจัดการ และควบคุมข้อขัดแย้งทางทะเลอย่างเหมาะสม ไม่กระทำการใดๆ ที่จะสร้างความซับซ้อนให้แก่สถานการณ์ หรือขยายข้อพิพาทให้มากขึ้น และคงไว้ซึ่งสันติภาพ และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ คำแถลงระบุ
เอกสารที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองอย่างตรงไปตรงมา และลึกซึ้ง เกี่ยวกับปัญหาทางทะเล และตกลงที่จะใช้กลไกการเจรจาพรมแดนที่มีอยู่ในการหาทางแก้ไขที่ยั่งยืน
จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรมากถึง 90% ขณะที่เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนในน่านน้ำแห่งนี้เช่นกัน
เมื่อปีก่อน ความตึงเครียดระหว่างปักกิ่ง และฮานอยพุ่งขึ้น หลังไต้หวัน และสหรัฐฯ ระบุว่า จีนได้ติดตั้งจรวดยิงจากพื้นสู่อากาศบนเกาะวู้ดดี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพาราเซลที่จีนควบคุมอยู่ ซึ่งเวียดนามเรียกการกระทำของจีนว่า เป็นการละเมิดสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือหมู่เกาะพาราเซล
และในปี 2557 ความตึงเครียดระหว่างสองชาติคอมมิวนิสต์พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด เมื่อจีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในน่านน้ำพิพาท ที่ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านจีนขึ้นทั่วเวียดนาม
ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง แม้การเสริมแสนยานุภาพทางทหารในภูมิภาคยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ที่รวมทั้งการสร้างทางวิ่งเครื่องบินบนเกาะเทียมของจีน.