รอยเตอร์ – สมาคมอุตสาหกรรมทรงอิทธิพลเยอรมนีออกโรงเตือนในวันพฤหัสบดี (27 ก.ค.) ว่ายุโรปต้องเตรียมพร้อมตอบโต้มาตรการใหม่ของอเมริกาในการแซงก์ชันรัสเซียอย่างสมน้ำสมเนื้อ เนื่องจากสุดท้ายแล้วบริษัทเมืองเบียร์หนีไม่พ้นหางเลขจากกฎหมายใหม่แดนอินทรีที่ดูเหมือนมีเป้าหมายแอบแฝงในการกระตุ้นการส่งออกพลังงานของตนเองไปยังยุโรป
หลังจากร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซีย, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ รวมทั้งจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการผ่อนปรนการแซงก์ชันส์เหล่านี้ ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในวันอังคาร (25) ต่อมาในวันพุธ (26) พวกผู้นำวุฒิสภาของสหรัฐฯทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต สามารถบรรลุข้อตกลงกันซึ่งเป็นการแผ้วถางทางให้สภาสูงผ่านร่างกฎหมายนี้โดยไม่มีการแก้ไข โดยอย่างเร็วที่สุดวุฒิสภาอาจสามารถลงคะแนนรับรองได้ภายในสัปดาห์นี้ และส่งต่อไปให้ทรัมป์ลงนามเพื่อประกาศใช้
เนื่องจากได้คะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากทั้งสองสภา จึงคาดหมายกันว่ากระทั่งทรัมป์ไม่ยอมลงนาม รัฐสภาก็จะยังสามารถยืนยันด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ซึ่งจะล้มล้างอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดีได้ ทั้งนี้แม้ว่าร่างกฎหมายนี้เพิ่มการลงโทษคว่ำบาตร 3 ประเทศ แต่เป้าหมายใหญ่ที่สุดก็คือรัสเซีย
พวก 28 ชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นแตกแยกกันมากในเรื่องการเพิ่มการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะเดียวกัน อียูก็กังวลว่าข้อจำกัดใหม่ของอเมริกาอาจขัดขวางพวกบริษัทยุโรปที่กำลังทำธุรกิจกับรัสเซียอยู่ รวมทั้งยังคุกคามเส้นทางลำเลียงขนส่งก๊าซจากรัสเซียสู่ชาติอียู
ในการแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันพฤหัสบดี (27) ไมเคิล ฮาร์มส์ ประธานคณะกรรมาธิการเยอรมนีว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับยุโรปตะวันออก กล่าวว่า การที่พวกบริษัทต่างๆในภาคพลังงานของยุโรปซึ่งมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในรัสเซีย อาจประสบความเสียหายเนื่องจากกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯฉบับนี้ ถือเป็นเหตุผลสมควรแล้วที่อียูจะต้องเตรียมมาตรการแซงก์ชันตอบโต้สหรัฐฯ
“มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำ ทว่าเราต้องรักษาทางเลือกนี้ให้เปิดกว้างเอาไว้” ฮาร์มส์กล่าว และบอกว่า การแซงก์ชันเพิ่มเติมของสหรัฐฯซึ่งมุ่งเล่นงานพวกโครงการสายท่อส่งก๊าซจากรัสเซียมายังอียูนั้น ดูจะจัดทำขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายให้สหรัฐฯสามารถส่งออกสินค้าพลังงานไปยังยุโรปได้มากขึ้น เป็นการสร้างงานในสหรัฐฯและเพิ่มความเข้มแข็งให้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
ขณะที่สหรัฐฯสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนลดการพึ่งพิงพารนำเข้าพลังงานลงและกระทั่งกลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิในเรื่องพลังงานไปแล้วนั้น พวกชาติยุโรปโดยเฉพาะทางยุโรปกลางยังคงต้องอาศัยการนำเข้าก๊าซรัสเซียผ่านโครงข่ายสายท่อส่งอันใหญ่โตกว้างขวาง
“การบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันชนิดที่กระทบกระเทือนฝ่ายที่สาม ซึ่งก็คือยุโรป โดยที่ในเวลาเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจอเมริกันตามคำขวัญที่ว่า 'ซื้อก๊าซอเมริกัน' นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นตะลึงจริงๆ” เคิร์ท บอค ซีอีโอของ บีเอสเอสเอฟ บริษัทเยอรมันยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์กล่าว ทั้งนี้บริษัทนี้เป็นแห่งหนึ่งที่เข้าไปลงทุนขุดเจาะก๊าซในรัสเซียด้วย
ก่อนหน้านี้อียูได้ประกาศมาตรการแซงก์ชันของตนเองต่อรัสเซียไปแล้ว สืบเนื่องจากบทบาทของมอสโกในวิกฤตยูเครน และเยอรมนีได้แสดงจุดยืนหนักแน่นเป็นพิเศษทีเดียวในการลงโทษรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม บริจิตต์ ซิปพริส รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ร้องโวยในวันพฤหัสบดี (27) ว่า อเมริกาได้ละทิ้งการใช้ “แนวทางร่วมกัน” กับยุโรปในการลงโทษรัสเซีย
ถึงแม้อียูใช้มาตรการแซงก์ชันรัสเซียรวมทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์มอสโกในเรื่องอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากยูเครนแล้ว แต่รัสเซียก็ยังคงเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่สำคัญยิ่งรายหนึ่งสำหรับเยอรมนี
ในวันพฤหัสบดี (27) คณะกรรมาธิการเยอรมนีว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยุโรปตะวันออก ได้ปรับการคาดการณ์อัตราเติบโตของยอดส่งออกเยอรมนีไปยังรัสเซียในปีนี้เป็น 20% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์อยู่ที่เพียง 10%