xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : ทำเนียบขาวผวา อัยการพิเศษ “มุลเลอร์” เร่งขยายสอบสวนเรื่องรัสเซียอย่างเงียบๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>โรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่คุมการสืบสวนสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ (ภาพจากแฟ้มถ่ายวันที่ 21 มิถุนายน 2017) ทั้งนี้แม้เขาทำงานไปเงียบๆ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็กำลังสร้างความหวั่นผวาให้ทำเนียบขาว </i>
ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา โรเบิร์ต มุลเลอร์ ผู้เฒ่าสูงโย่งวัย 72 ปีซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม หรือก็คือเป็นอัยการสอบสวนอิสระ ทำหน้าที่คุมการสืบสวนสอบสวนกรณีอื้อฉาวเรื่องรัสเซีย ได้ใช้อาคารสำนักงานรัฐบาลที่ไม่มีอะไรสะดุดตาหลังหนึ่งในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงวอชิงตัน และอยู่ห่างจากทำเนียบขาวเพียงแค่ 8 ช่วงตึก เป็นที่ทำงานของเขาไปอย่างเงียบๆ

แต่ถึงแม้ไม่ได้พูดแถลงอะไรเลยสักคำ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอและพนักงานอัยการที่ขึ้นชื่อเรื่องความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังผู้นี้ก็ยังสร้างความหวั่นผวาอย่างลึกซึ้งให้แก่พวกที่ครอบครองทำเนียบขาวอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยความไม่แน่ใจว่าการสืบสวนของเขากำลังจะนำไปสู่อะไร

มุลเลอร์ได้สร้างทีมงานสืบสวนสอบสวนที่แข็งแกร่งมุ่งมั่นจำนวนสิบกว่าคนขึ้นมา หนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกล่อมพยานให้ยอมให้การเล่นงานเจ้าพ่อมาเฟีย, คนหนึ่งเป็นผู้ชำนาญพิเศษเรื่องการฟอกเงินซึ่งเคยไล่ล่าอภิมหาเศรษฐีจอมโกง, และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ว่าคดีที่มีประสบการณ์มากที่สุดในศาลสูงสุด

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทีมงานของมุลเลอร์กำลังสอบปากคำพยานและรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อวินิจฉัยว่า พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทีมหาเสียงของทรัมป์, เหล่าสมาชิกในครอบครัวของเขา และเป็นไปได้ว่ากระทั่งตัวประธานาธิบดีทรัมป์เอง มีความเกี่ยวข้องพัวพันด้วยหรือไม่กับการที่รัสเซียแอบแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (ภาพถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม) </i>
ตัวทรัมป์เองนั้น หลังจากทำเมินเฉยไม่แยแสกับการสืบสวนเรื่องนี้มาเป็นเดือนๆ โดยบอกว่าเป็น “เรื่องน่าหัวเราะเยาะ” และ “ข่าวปลอม” แต่แล้วในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาก็กลับเผยให้เห็นความวิตกกังวล โดบกำลังฟาดหัวฟาดหางใส่กระทรวงยุติธรรม ไล่ตั้งแต่ เจฟฟ์ เชสชั่นส์ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เขาเป็นผู้คัดเลือกมากับมือ ลงมาจนถึงระดับรองๆ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนของมุลเลอร์คราวนี้

เขาพุ่งเป้าหมายอย่างเจาะจงไปที่ตัวมุลเลอร์ โดยแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาตั้งใจที่จะพยายามลิดรอนอำนาจและดิสเครดิตบุรุษผู้ซึ่งอาจทำให้วาระการเป็นประธานาธิบดีของเขาต้องตกต่ำล้มเหลว –และกระทั่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงขั้นถอดเขาออกจากตำแหน่งในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์โอดครวญว่าเพียงวันเดียวหลังจากเขาสัมภาษณ์มุลเลอร์ ระหว่างกระบวนการหาผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอคนใหม่แทน เจมส์ โคมีย์ ผู้ถูกเขาปลดออก มุลเลอร์ก็กลับได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้ทำงานสืบสวนสอบสวนกรณีอื้อฉาวเรื่องรัสเซีย

“วันรุ่งขึ้น เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายพิเศษ ผมบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้มันหมายความว่าอะไร? การพูดในสองวันนั้นมันไม่ขัดแย้งกันหรือ?” ทรัมป์บอกและยืนยันว่า “ผมไม่ได้ทำอะไรผิด จึงไม่ควรที่จะมีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายพิเศษขึ้นมาดูแลคดีนี้เลย”

แรงกดดันทางการเมือง

อัยการมือกฎหมายคนไหนก็ตามที่กำลังทำงานท้าทายทีมงานของประธานาธิบดี ย่อมจะต้องแบกรับแรงกดดันทางการเมืองอย่างมากมายมหาศาลแน่นอน นี่เป็นข้อคิดเห็นเตือนใจของแรนดัลล์ แซมบอร์น อัยการที่มีส่วนในการสืบสวนซึ่งพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองระดับเฮฟวี่เวตอย่างรองประธานาธิบดีดิค เชนีย์ เมื่อช่วงทศวรรษ 2000 แต่ถ้าจะมีใครสักคนที่ควรสามารถรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้แล้ว คนคนนั้นก็ต้องเป็น มุลเลอร์ แซมบอร์นกล่าวต่อ

มุลเลอร์ อดีตทหารนาวิกโยธินที่ได้รับบาดเจ็บในการสู้รบในเวียดนาม ยังเป็นมือเก่ามีประสบการณ์มากมายในการฟ้องร้องว่าคดีที่โหดๆ ยากๆ เป็นต้นว่า การฟ้องร้องอดีตประธานาธิบดีมานูเอล นอริเอกา ของปานามา และเจ้าพ่อมาเฟีย จอห์น กอตตี

เขาเข้ากุมบังเหียนเอฟบีไอ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ในระยะหลายๆ ปีหลังจากนั้น เขาก็เปลี่ยนสำนักงานแห่งนี้ให้กลายเป็นหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายที่ทรงอำนาจและมีคุณภาพสูง

เหตุการณ์ที่เขากับโคมีย์ซึ่งเวลานั้นเป็นรองผู้อำนวยการเอฟบีไอ ออกมาปกป้องหลักนิติธรรมนั้น เวลานี้ได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว โดยที่เล่าขานกันว่าทั้งคู่ได้ไปพูดจาเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2004 เพื่อคัดค้านโปรแกรมสอดแนมภายในประเทศที่กระทำกันอย่างลับๆ และผิดกฎหมาย

การกระทำของพวกเขาเสี่ยงต่อการถูกไล่ออก แต่ก็สามารถบีบบังคับให้บุชต้องปรับเปลี่ยนแผน ความกล้าหาญเช่นนี้เองที่ทำให้มุลเลอร์ได้รับการยกย่องสรรเสริญทั้งจากพวกเดโมแครตและพวกรีพับลิกันเป็นเวลาแรมปี

“ผมไม่คิดว่ามีอะไรน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับ บ็อบ มุลเลอร์ ในเรื่องความถูกต้องชอบธรรมหรอก” เป็นความเห็นของ เคน สตาร์ อัยการพิเศษผู้ทำหน้าที่สอบสวนบิลล์ คลินตัน ในยุคทศวรรษ 1990 ซึ่งเฉียดใกล้เหลือเกินที่จะบีบบังคับให้ประธานาธิบดีผู้นั้นต้องกระเด็นออกไปจากทำเนียบขาว

ขณะที่ อดีตพนักงานอัยการ แอนดริว แม็กคาร์ธี เขียนลงใน “เนชันแนล รีวิว” นิตยสารแนวอนุรักษนิยมว่า “มุลเลอร์เป็นเสาหลักเสาหนึ่งของทั้งประชาคมทางกฎหมายและประชาคมทางการเมืองแห่งวอชิงตัน โดยที่สองประชาคมนี้มีการเหลื่อมซ้อนทับกันเป็นอย่างมาก”

การสอบสวนขยายใหญ่บานปลาย

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทีมงานของมุลเลอร์ซึ่งมีทั้งอัยการรัฐบาลกลางผู้ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และอุดมด้วยประสบการณ์, เจ้าหน้าที่สอบสวนของเอฟบีไอ, นักล่าสปายสายลับ และนักแกะรอยเส้นทางการเงิน ได้พูดจาสอบปากคำพวกพยานและเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ โดยที่เครื่องบ่งชี้เพียงประการเดียวเกี่ยวกับงานของพวกเขากำลังมุ่งไปทางไหน ก็คือจากคำถามต่างๆ ที่พวกเขาตั้งเอากับผู้ที่เป็นเป้าหมายของพวกเขา

การสืบสวนดูเหมือนได้ขยายบานปลายออกไปจากประเด็นเรื่องการสมคบคิดกับรัสเซียเท่านั้นแล้ว

ตามรายงานข่าวต่างๆ ที่ปรากฏออกมา มุลเลอร์กำลังตรวจตราดูทั้งเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอดีตของทรัมป์และการเสียภาษีเงินได้ตลอดจนการขอคืนภาษีของเขา, ความเป็นไปได้ที่พวกผู้ช่วยในทีมหาเสียงจะมีพฤติการณ์ฟอกเงิน, การเบิกความเท็จและการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และอาชญากรรมอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้

การสืบสวนของทีมงานมุลเลอร์ ซึ่งกระทำคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการข่าวกรองทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา ได้ขยายเกินเลยจากพฤติกรรมของพวกผู้ช่วยในทีมงานหาเสียง ไปสู่บุคคลระดับวงในของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงบุตรชายคนโตของเขา --โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ และบุตรเขยของเขา --จาเรด คุชเนอร์

ในสภาพที่เห็นชัดว่าสับสนไม่แน่ใจ ทำเนียบขาวได้ตอบโต้ด้วยการว่าจ้างสร้างทีมทนายความของตัวเองขึ้นมา โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ, ทนายตัวเก่งในการว่าความแก้ต่างให้จำเลยคดีอาญา, และนักวางแผนประชาสัมพันธ์ผู้ชำนาญในการโจมตีตอบโต้สื่อด้วยความเลือดเย็น

พวกเขาเหล่านี้ออกมากล่าวหาทีมงานของมุลเลอร์ว่ากำลังมีอคติเข้าข้างปรปักษ์ในการเลือกตั้งของทรัมป์อย่าง ฮิลลารี คลินตัน และพยายามขยายขอบเขตของการสอบสวนอย่างเลยเถิด

รายงานหลายกระแสของสื่อระบุว่า ทีมกฎหมายของทรัมป์ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะใช้อำนาจให้อภัยโทษเพื่อเป็นการคุ้มครองรักษาพวกที่ตกเป็นเป้าหมายสังหารของมุลเลอร์ แถมเมื่อตอนเช้าวันเสาร์ (22 ก.ค.) ทรัมป์ยังทวิตข้อความคุยโวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ที่จะให้อภัยโทษ”

พวกนักวิเคราะห์บอกกันด้วยว่า ทีมงานของทรัมป์กำลังวางแผนการเพื่อปลดมุลเลอร์

บ็อบ บาวเออร์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายประจำทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา เขียนไว้ในเว็บไซต์ “ลอว์แฟร์” ว่า สิ่งที่ทรัมป์พูดในการให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์ “คือหนึ่งในการขยายบานหน้าต่าง เพื่อให้เป็นที่ทราบกันเกี่ยวกับการถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นในทำเนียบขาว ในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะปลดโรเบิร์ต มุลเลอร์”

(เก็บความเรียบเรียงจากเรื่อง White House on edge as Mueller quietly pursues Russia probe ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น