xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: มรสุมการเมืองฉุดเรตติ้ง “ทรัมป์” ดิ่งเหว 6 เดือนแรกไร้ผลงานเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
ความล้มเหลวในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปสาธารณสุขฉบับใหม่เพื่อมาแทนที่ “โอบามาแคร์” ในสัปดาห์นี้นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สอดรับกับบรรยากาศอึมครึมตลอดช่วง 6 เดือนแรกของรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งมีแต่ข่าวอื้อฉาวให้ตามแก้กันไม่หยุดหย่อน อีกทั้งนโยบายที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคำชมเชยยังส่งผลให้ ทรัมป์ กลายเป็นผู้นำที่คนอเมริกัน “ยี้” มากที่สุด เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 9 คนที่ผ่านมา

แม้จะขยันโพสต์ทวิตเตอร์โอ้อวดการทำงานและจิกกัดฝ่ายตรงข้ามไม่เว้นแต่ละวัน แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลทรัมป์กลับยังไม่มีความสำเร็จใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นแผนล้มโอบามาแคร์, การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกเพื่อสกัดผู้อพยพผิดกฎหมาย, คำสั่งแบนมุสลิม, แผนปฏิรูปภาษี, งานปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เก่าแก่ทรุดโทรม, ยุทธศาสตร์เพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล ฯลฯ

แต่ปัญหาที่ทำให้ ทรัมป์ ตกที่นั่งลำบากมากที่สุดในขณะนี้เห็นจะไม่พ้นข้อครหาสมคบ “รัสเซีย”

โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ ถูกแต่งตั้งเป็นที่อัยการพิเศษคุมสอบกรณีรัสเซียถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 รวมถึงเรื่องที่บุคคลใกล้ชิด ทรัมป์ อาจสมคบคิดกับมอสโกเพื่อบั่นทอนคะแนนนิยมของ ฮิลลารี คลินตัน ทำให้สมาชิกในครอบครัวทรัมป์ รวมถึงผู้ช่วยคนสนิทอีกหลายคนที่ถูกพาดพิง ต้องวิ่งวุ่นหาทนายมาต่อสู้คดี

ทั้งคะแนนนิยม ผลงาน และปัญหารัสเซีย ล้วนแต่เป็นวิกฤตหนักที่อาจส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลได้ทั้งสิ้น และเมื่อมาเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วง 6 เดือนแรกก็ยิ่งสะท้อนความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองที่ไม่เพียงบั่นทอน ทรัมป์ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพรรครีพับลิกันที่เขาเข้ามาเป็นผู้กุมบังเหียนด้วย

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า แต่ ทรัมป์ ยังคงเป็น ทรัมป์ คนเดิม เขายังเป็นชายวัย 71 ปีที่ประสบความสำเร็จมาทั้งชีวิต และเชื่อว่าชัยชนะที่ได้รับในศึกเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วเป็นข้อพิสูจน์ว่าเขานั้น “ฉลาด” กว่าพวกนักการเมืองอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย

แต่น่าเสียดายที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่เชื่อ และไม่พอใจในสิ่งที่พวกเขาได้รับจาก ทรัมป์ ในช่วง 6 เดือนแรก

ผลสำรวจล่าสุดของวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วพบว่า มีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 36 ที่พึงพอใจผลงานของทรัมป์ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบ 70 ปี ขณะที่ร้อยละ 58 ตอบว่าไม่พอใจ และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ร้อยละ 48 บอกว่า “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” กับบทบาททรัมป์ในทำเนียบขาว สวนทางกับกลุ่ม “พอใจอย่างยิ่ง” ซึ่งมีอยู่แค่ร้อยละ 25

ทรัมป์ ไม่เข้าใจหรือไม่แคร์ตัวเลขเหล่านี้ก็สุดที่จะเดา แต่เขาได้ทวีตข้อความเมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.ค.) ว่า “แม้ตัวเลขเกือบ 40% จะถือว่าไม่แย่เท่าไหร่ แต่โพลเอบีซี/วอชิงตันโพสต์ก็เคยเป็นโพลที่แม่นยำน้อยที่สุดในช่วงเลือกตั้ง!”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำสหรัฐฯ รายนี้พูดเยอะพอๆ กับลงมือทำ ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐบาล แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่จดจำสิ่งที่พูดหรือทำลงไปในช่วงไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนก่อนได้ ทรัมป์ กลับแสดงท่าทีไม่อินังขังขอบ และพร้อมจะออกมาพูดหรือทวีตข้อความที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเพิ่งจะนำเสนอออกไปได้อย่างหน้าตาเฉย

แม้จะมีวิกฤตให้ใจหายใจคว่ำอยู่เนืองๆ แต่คนในพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ก็ยังสมัครใจที่จะล่มหัวจมท้ายกับ ทรัมป์ ต่อไป เพราะเชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ รายนี้สามารถให้ในสิ่งที่พรรคต้องการได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การเสนอชื่อและแต่งตั้ง นีล กอร์ซัช (Neil Gorsuch) เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งอาจจะนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของ ทรัมป์ ที่จะส่งผลยั่งยืนต่อไปอีกหลายสิบปี และปฏิเสธไม่ได้ว่าหาก ฮิลลารี คลินตัน ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ ในวันนี้ เธอคงจะเลือกแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมน้อยกว่า กอร์ซัช หรืออดีตผู้พิพากษา แอนโทนิน สกาเลีย ที่เพิ่งเสียชีวิตไป
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ร่วมหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระหว่างการประชุมซัมมิตผู้นำ G20 ที่เยอรมนี
ขณะที่ ทรัมป์ พยายามล็อบบี้คนในพรรครีพับลิกันจนสามารถดันร่างกฎหมายล้มโอบามาแคร์ผ่านด่านสภาผู้แทนราษฎรมาได้แล้วในเดือน พ.ค. แต่ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้ก็มาถูกคว่ำโดยสภาสูง เมื่อ ส.ว.รีพับลิกันอย่างน้อย 4 คนประกาศคัดค้าน ทำให้เสียงสนับสนุนฝ่าย ทรัมป์ เหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งสภา

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสายกลางที่ยังกังวลว่า การยกเลิกโอบามาแคร์จะกระทบต่อโครงการประกันสุขภาพเมดิเคด (Medicaid) ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อคนยากจนและผู้พิการหลายล้านคนในในสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับต้องการให้รัฐตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทิ้ง และรื้อกรอบของโอบามาแคร์ลงเกือบทั้งหมด

นโยบายสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกที่ ทรัมป์ ให้สัญญาไว้ตอนหาเสียงก็ยังเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ และคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวสภาคองเกรสให้ยอมอนุมัติงบสนับสนุนโครงการซึ่งมีคนอเมริกันให้ความเห็นชอบแค่ 1 ใน 3

การนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนที่นานาชาติร่วมลงนามที่กรุงปารีสเมื่อ 2 ปีก่อนยังส่งผลให้ ทรัมป์ ถูกหมางเมินจากพันธมิตรหลายประเทศ เห็นได้ชัดจากการประชุมผู้นำ G20 ที่เยอรมนี ซึ่งนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ออกมาให้สัมภาษณ์หลังปิดการประชุมว่า รัฐสมาชิกทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของสหรัฐฯ เรื่องปัญหาสภาพอากาศ รวมถึงนโยบาย “อเมริกาเฟิสต์” ที่ทำให้การเจรจาการค้ามีปัญหาอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม วิกฤตใหญ่ที่สุดที่ ทรัมป์ จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ก็คือเรื่องรัสเซีย ซึ่งล่าสุดได้ลามไปถึงตัวบุตรชายคนโตอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์” ซึ่งถูกแฉว่าเคยไปพบกับทนายหญิงจากแดนหมีขาวเพื่อขอข้อมูลมาทำลายชื่อเสียง ฮิลลารี คลินตัน

แม้ระยะเวลาการทำงานของอัยการพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ จะยังไม่กำหนดแน่นอน แต่การที่ มุลเลอร์ แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มอีกหลายคนก็บ่งบอกว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ ขณะที่สภาคองเกรสก็ได้เรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนต่างหากด้วย

บทสรุปของเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับ ทรัมป์ และคนในพรรครีพับลิกันว่าจะจัดการวิกฤตช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าได้อย่างไร และ ทรัมป์ จะสามารถทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของเขากลับมาเป็นที่ยอมรับ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจได้หรือไม่
ผู้ประท้วงชาวอเมริกันถือป้ายเรียกร้องให้ถอดถอน ทรัมป์ จากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น