xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : 1 ปีรัฐบาล “ดูเตอร์เต” กับ “สงครามยาเสพติด” ที่ยังไม่ถึงฝั่งฝัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์
สงครามกวาดล้างยาเสพติดที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เดินหน้าผลักดันมาตลอด 1 ปี ทำให้มีผู้คนถูกสังหารไปแล้วหลายพันศพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังรู้สึกหวาดกลัวกับปัญหาอาชญากรรมไม่น้อยลงกว่าแต่ก่อน และยาเสพติดในกรุงมะนิลา ก็หาซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงชัยชนะที่ยังห่างไกลสำหรับผู้นำที่ชื่อ “โรดริโก ดูเตอร์เต”

ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะยุติปัญหายาเสพติดและความไร้ขื่อแปที่เป็นเสมือน “โรคระบาด” กัดกร่อนสังคมแดนตากาล็อกมานาน

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอ้างว่า นโยบายที่เด็ดขาดของ ดูเตอร์เต ช่วยให้สถิติอาชญากรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ค้ายาเสพติดหลายพันคนถูกส่งเข้าเรือนจำ คนติดยานับล้านได้รับการบำบัดฟื้นฟู และลูกหลานชาวฟิลิปปินส์ก็ได้รับการปกป้องให้พ้นจากภัยมืดของยาเสพติด

“มีคนถูกฆ่าไปหลายพันคนก็จริง แต่อีกหลายล้านคนที่ได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยล่ะ คุณไม่เห็นหรือ” ออสการ์ อัลบายัลเด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมะนิลา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็น “ชัยชนะ” กลับถูกตั้งคำถามโดยนักสิทธิมนุษยชน ทนาย รวมไปถึงคริสตจักรทาทอลิกซึ่งไม่เห็นด้วยที่ตำรวจใช้วิธีล่าสังหารผู้ต้องสงสัยแบบเหมารวม ข่มขู่คนยากจน และทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นดินแดนที่ “ไร้ขื่อแป” ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก

ยอดผู้เสียชีวิตที่แน่นอนจากสงครามยาเสพติดยังคงเป็นที่ถกเถียง โดยฝ่ายที่วิจารณ์รัฐบาลอ้างว่าจำนวนผู้ถูกฆ่านั้นสูงกว่าตัวเลข 5,000 คน ที่ตำรวจเปิดเผยอย่างแน่นอน และส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อย ในขณะที่พวกราชายาเสพติดตัวจริงยังคงลอยนวลอยู่ได้

หากยุทธศาสตร์ของ ดูเตอร์เต ได้ผลจริง ราคาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน หรือ “ยาไอซ์” หรือ “ชาบู” ในท้องตลาดควรจะขยับสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าหายากขึ้น ทว่า จากข้อมูลของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดฟิลิปปินส์กลับพบว่า “ชาบู” ที่ขายกันในกรุงมะนิลามีราคาถูกลงกว่าเดิม

จากสถิติเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว “ชาบู” 1 กรัมในฟิลิปปินส์มีราคาขายตั้งแต่ 1,200 - 11,000 เปโซ ทว่าข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. ราคาอยู่ที่ระหว่าง 1,000 - 15,000 เปโซ ช่วงราคาที่ต่างกันมากนี้สะท้อนระดับความยากง่ายในการหาสินค้าซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค และราคาตามท้องถนนในกรุงมะนิลานั้นจัดว่าถูกที่สุด

“ถ้าราคาถูกลง นั่นหมายความว่าการปราบปรามไม่ได้ผลจริง” กลอเรีย ไล จาก International Drug Policy Consortium ซึ่งเป็นเครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำงานต่อต้านยาเสพติด ระบุ

เดอร์ริค แคร์เรียน โฆษกสำนักงานปราบปรามยาเสพติดฟิลิปปินส์ ยอมรับว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่การลักลอบขน “ชาบู” จากต่างประเทศเข้ามาสนองความต้องการของตลาด เนื่องจากยาเสพติดในประเทศเริ่มหาได้ยาก และแม้ยาเสพติดนำเข้าจะส่งผลให้ราคาขายในกรุงมะนิลาถูกลง ทว่าในเขตชนบทห่างไกลราคาก็เริ่มแพง เช่นที่เกาะมินดาเนา

ผลสำรวจโดย โซเชียล เวเธอร์ สเตชันส์ (SWS) โพลชั้นนำของมะนิลา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนสงครามยาเสพติดของ ดูเตอร์เต แม้จะรู้สึกกังขากับวิธีการ และไม่มั่นใจในผลลัพธ์ก็ตาม

จากการสำรวจความคิดเห็น 3 ครั้งในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ ดูเตอร์เต เข้าบริหารประเทศ พบว่า ชาวฟิลิปปินส์รู้สึก “พึงพอใจอย่างยิ่ง” กับการทำสงครามกวาดล้างยาเสพติด ขณะที่โพลล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. พบว่า ประชาชนร้อยละ 92 อยากให้ตำรวจใช้วิธี “จับเป็น” มากกว่าการวิสามัญฆาตกรรม

ผู้ตอบแบบสอบถามยังรู้สึกว่า การฉกชิงวิ่งราวหรือบุกปล้นทรัพย์สินตามบ้านเรือนเกิดบ่อยขึ้น 6.3% และกว่าครึ่งหนึ่งยอมรับว่า “กลัวที่จะต้องออกนอกบ้านเวลากลางคืน” ซึ่งแทบไม่ต่างจากช่วงก่อนที่จะมีสงครามยาเสพติด
กลุ่มพลเมืองฟิลิปปินส์ชูป้ายสนับสนุนสงครามยาเสพติด
สถิติการก่ออาชญากรรมในฟิลิปปินส์ลดลงถึง 30% ในช่วง 9 เดือนแรกของรัฐบาลดูเตอร์เต ตามข้อมูลของตำรวจซึ่งถูกทีมสื่อสารของประธานาธิบดีนำไปอ้างอิง ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจมะนิลายืนยันว่า เมืองหลวงของประเทศมีความ “ปลอดภัย” มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผู้ใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นต้นตอของอาชญากรรมส่วนใหญ่ถูกกวาดล้าง

ในช่วง 11 เดือนแรกของรัฐบาลดูเตอร์เต ตำรวจฟิลิปปินส์อ้างว่ามีผู้ต้องสงสัยถูกวิสามัญฯ ในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดรวมทั้งสิ้น 3,155 ราย และได้ทำการสอบสวนเหตุฆาตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดไปแล้วราว 2,000 กรณี แต่ยังเหลืออีกอย่างน้อย 7,000 กรณีที่เป็นการสังหารโดยไม่ทราบแรงจูงใจ

ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชน เชื่อว่า เหยื่อจำนวนมากถูกสังหารโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือไม่ก็มือปืนที่ได้รับการว่าจ้างมาอีกที ซึ่งทางตำรวจยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

ปีที่แล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ระบุว่าอาจจะเข้ามาตรวจสอบสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ว่าเข้าข่ายเป็น “การโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างเป็นระบบและกว้างขวาง” หรือไม่

ดูเตอร์เต ได้มีคำสั่งให้ตำรวจทุกหน่วยเลิกยุ่งเกี่ยวกับงานปราบปรามยาเสพติดชั่วคราวในเดือน ก.พ. หลังเกิดกรณีที่นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ถูกตำรวจปราบปรามยาเสพติดลักพาตัวไปขู่กรรโชกทรัพย์และสังหารทิ้ง ทว่ากระแสร้องเรียนเรื่องจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่ได้ช่วยให้การล่าสังหารลดลง หรือนำไปสู่การเอาผิดกับเจ้าหน้าที่

อัลบายัลเด ผู้บัญชาตำรวจมะนิลา ยืนยันว่า กองบริการกิจการภายใน (Internal Affairs Services - IAS) กำลังตรวจสอบทุกๆ กรณีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดประชาชน “เราจะไม่อดทนกับการฆ่าอย่างไร้สติ... ไม่ใช่ว่าเป็นตำรวจแล้วนึกจะฆ่าใครก็ฆ่าได้”

ไอเอเอสให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า ทางหน่วยงานกำลังสอบสวนคดียาเสพติด 1,912 คดี และได้เสนอให้ไล่ตำรวจออกจากราชการแล้วทั้งสิ้น 159 นาย เนื่องจากกระทำผิดวินัยระหว่างปฏิบัติภารกิจปราบปรามยาเสพติด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีตำรวจที่ถูกไล่ออกจริงๆ บ้างหรือไม่

นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า การที่ ดูเตอร์เต ออกมาประกาศปกป้องตำรวจ และเรียกร้องซ้ำๆ ให้วิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องลังเล คือตัวแปรอันตรายที่ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามยาเสพติด ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังขาว่าจะจบลงด้วย “ชัยชนะ” จริงหรือไม่
หนึ่งในเหยื่อที่ถูกสังหารโดยปราศจากการไต่สวนในสงครามยาเสพติดของ ดูเตอร์เต

กำลังโหลดความคิดเห็น