xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : เส้นทาง “เบร็กซิต” เริ่มปั่นป่วน หลังพรรค รบ.อังกฤษสูญเสียเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักร
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยืนยันจะเริ่มเจรจานำอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” ตามกำหนดเดิมในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ ทว่าชาวเมืองผู้ดีส่วนใหญ่ยังอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ผลการเลือกตั้งรัฐสภาที่ทำให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟของเธอสูญเสียเสียงข้างมากไปอย่างพลิกความคาดหมาย น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ เมย์ เลือกฉุดรั้งอังกฤษไว้ในอียูต่อไปมากกว่าหรือไม่

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากอียู รัฐสมาชิกอีก 27 ประเทศก็หันมาแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อลอนดอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นทำให้การถอนตัวออกจากตลาดเดียวยุโรปอย่างเด็ดขาด หรือ “ฮาร์ด เบร็กซิต” กลายเป็นเรื่องยากจะหลีกเลี่ยง

ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมืองครั้งใหญ่ในอังกฤษ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์รูปแบบต่างๆ ของ “เบร็กซิต” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้

- เบร็กซิตที่เด็ดขาดและราบรื่น

รัฐบาลอังกฤษยื่นจดหมายแสดงความจำนงขอเริ่มกระบวนการเบร็กซิตไปเมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งเท่ากับว่าอังกฤษได้ตัดสินใจแล้วที่จะทิ้งระบบตลาดเดียว สิทธิ์ในการยกเว้นภาษีศุลกากร การอยู่ภายใต้อำนาจศาลอียู การจ่ายงบประมาณสนับสนุนอียู และข้อตกลงเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

ภายใต้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน สมาชิกภาพของอังกฤษในอียูจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มี.ค.ปี 2019 ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงหลีกเลี่ยงความยุ่งเหยิงทางกฎหมายได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม

สิ่งที่อียูให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ การจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับตลาดร่วมยุโรป และป้องกันการเลียนแบบของรัฐสมาชิกอื่นๆ ด้วยการแสดงให้เห็นว่า การอยู่นอกร่มธงอียูไม่ได้ทำให้อังกฤษเจริญรุ่งเรืองขึ้นสักกี่มากน้อย

มิเชล บาร์นิเยร์ ผู้แทนเจรจาของอียู ได้รับคำสั่งให้เจรจาข้อตกลงที่จะปกป้องสิทธิของพลเมืองอียูราว 3 ล้านคนในอังกฤษ บีบให้ลอนดอนจ่ายคืนหนี้ราวๆ 65,000 ล้านดอลลาร์ และป้องกันมิให้การปิดพรมแดนระหว่างอังกฤษและอียูในอนาคตส่งผลกระทบต่อสันติภาพในไอร์แลนด์

บรัสเซลส์คาดหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุกรอบของเบร็กซิตภายในสิ้นปีนี้ จัดทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2018 และมีการให้สัตยาบันภายในเดือน มี.ค.ปี 2019

ชัยชนะในศึกเลือกตั้งจะช่วยขยายอาณัติแห่งอำนาจแก่ เมย์ ออกไปจนถึงปี 2022 ซึ่งนานเพียงพอสำหรับครอบคลุมกระบวนการเบร็กซิต และอาจรวมถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความตกลงทางการค้าใหม่กับอียูด้วย ทว่าเมื่อพรรครัฐบาลอังกฤษสูญเสียเสียงข้างมาก เจ้าหน้าที่อียูจึงเริ่มหวั่นใจว่า เมย์ จะยังรั้งเก้าอี้อยู่ได้หรือไม่หากเธอยอมรับข้อเรียกร้องของอียูมากเกินไป

- เบร็กซิตที่เด็ดขาด แต่ไร้ข้อตกลง

นายกฯ หญิงอังกฤษเคยประกาศกร้าวว่า “ได้ข้อตกลงแย่ๆ ก็ไม่มีเลยเสียดีกว่า” แต่ผู้นำอียูส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเธอพูดไปเช่นนั้นเอง เพราะนั่นย่อมหมายถึงผลกระทบที่รุนแรงทั้งในทางเศรษฐกิจและกฎหมาย

เมย์ และบรรดารัฐมนตรีอังกฤษยืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่ยอมจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์เป็นค่าแยกตัวจากอียู และต้องการเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ในทันที ทว่า บาร์นิเยร์ ในฐานะผู้แทนอียูก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการเจรจากับอังกฤษได้ หากไม่มีมติเอกฉันท์จาก 27 ประเทศ

แม้ทั้งสองฝ่ายจะต้องการหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย แต่โอกาสที่จะตกลงกันไม่ได้และต้องมาหาวิธีแก้ปัญหาในนาทีสุดท้ายก็มีความเป็นไปได้สูง

- ไม่มีเบร็กซิต

เมื่อ 1 ปีก่อน ชาวเมืองผู้ดีร้อยละ 48 โหวตให้อังกฤษอยู่ร่วมกับอียูต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีทั้ง ส.ส.จากพรรคการเมืองกระแสหลัก ชาวสกอตแลนด์ และชาวไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ยังมีความหวังอยู่ว่ากระบวนการเบร็กซิตอาจถูกยับยั้งไว้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่นั่นอาจจะเป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะเวลานี้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ของอังกฤษ หรือแม้กระทั่งบรัสเซลส์เอง ต่างก็ยอมรับว่าเบร็กซิตคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่

หากจะยับยั้งเบร็กซิต อังกฤษจะต้องมีรัฐบาลใหม่ที่ประสงค์จะทำเช่นนั้นเป็นอันดับแรก ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ ต่อให้คนในพรรคคอนเซอร์เวทีฟพร้อมใจกันต่อต้านเมย์ หรือพรรคเลเบอร์ชนะศึกเลือกตั้งครั้งถัดไปและจัดตั้งรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายสำเร็จก็ตาม

ประการที่สอง อังกฤษจะต้องแก้ไขกฎหมายที่กำหนดให้การขอใช้อำนาจตามมาตรา 50 เพื่อลาออกจากสหภาพยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ และประการสุดท้าย ลอนดอนจะต้องทำให้รัฐอียูอีก 27 ประเทศเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ และอาจจำเป็นต้องมีประชามติเบร็กซิตครั้งที่สอง

อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ มุมมองของผู้นำอียูหลายคนที่เชื่อว่า สหภาพยุโรปจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นหากปราศจากสมาชิกเจ้าปัญหาอย่างอังกฤษที่ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือ และขาดเสถียรภาพจนยากที่จะเชื่อถือได้

- เบร็กซิตที่ล่าช้าออกไป

ความวุ่นวายทางการเมืองในอังกฤษขณะนี้เริ่มทำให้มีเสียงเรียกร้องขอขยายเวลาต่อรองกับบรัสเซลส์ให้นานออกไปอีก รวมถึงปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่ เมย์ เคยเรียกร้องไว้ ซึ่งมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนก็เปิดทางให้ขยายเส้นตายออกไปได้อีก 2 ปี หากรัฐสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นเอกฉันท์

อย่างไรก็ตาม ผู้นำอียูคงจะไม่อยากสร้างประเด็นถกเถียงขึ้นในกลุ่ม และหวังให้อังกฤษถอนตัวออกไปก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือน พ.ค. ปี 2019

- เบร็กซิตสำหรับ “อังกฤษ” เท่านั้น

สกอตแลนด์ประกาศชัดเจนว่าต้องการ “ข้อตกลงพิเศษ” เพื่ออยู่ในกลุ่มตลาดเดียวต่อไป หรือไม่ก็แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้าไปในอียูอีกครั้ง ขณะที่ผู้แทนไอร์แลนด์ประจำอียูก็เสนอแนวคิดให้ไอร์แลนด์เหนืออยู่ในกลุ่มอียูต่อไป เช่นเดียวกับพรรคพันธมิตรของ เมย์ ในไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นกังวลเรื่องมาตรการปิดกั้นพรมแดนที่จะมีขึ้น หลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียู

อย่างไรก็ตาม อังกฤษและอียูต่างไม่มั่นใจว่าการทำข้อตกลงการค้าและแรงงานเป็นกรณีพิเศษสำหรับสกอตแลนด์จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสเปนซึ่งกำลังเผชิญกระแสเรียกร้องเอกราชในแคว้นกาตาลุนญาก็คงไม่สนับสนุนด้วย

นอกจากนี้ การที่พรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ (SNP) สูญเสียที่นั่งในสภาจากศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุดยิ่งทำให้โอกาสในการจัดทำประชามติเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษยากที่จะเกิดขึ้นได้อีกในเร็วๆ นี้

- เบร็กซิตแค่บางส่วน

ฝ่ายที่ต่อต้านเบร็กซิตมองว่า อย่างน้อยรัฐบาลอังกฤษควรจะทำข้อตกลงเข้าถึงตลาดอียู เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าและแรงงานเอาไว้ ซึ่งอียูก็ยังไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ แต่นั่นอาจหมายความว่าลอนดอนต้องยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวดไม่จากนอร์เวย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงตลาดอียูโดยแลกกับการจ่ายเงินอุดหนุน ยอมรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากอียู และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ศาลอียูกำหนด

เงื่อนไขเหล่านี้คงเป็นสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิตยากจะรับได้ ขณะที่ยุโรปก็เคยเตือนแล้วว่า อังกฤษไม่มีสิทธิ์ “เลือกเก็บเชอร์รี” เอาเฉพาะส่วนที่ตนเองชอบ ซึ่งอาจบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบบตลาดเดียว

กำลังโหลดความคิดเห็น