xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : โอบามา-อาเบะเยือน “เพิร์ลฮาร์เบอร์” วอนทั่วโลกยึดพลังปรองดอง-เลิกก่อสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น กล่าวคำแถลงร่วมบริเวณท่าเรือคิโล ฐานทัพร่วมอ่าวเพิร์ล-ฮิกแคม เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.
เอเอฟพี - ผู้นำของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งเป็นอริในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางไปเยือนอ่าวเพิร์ลในรัฐฮาวายเมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) และได้มีถ้อยแถลงร่วมเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับพลังของการปรองดอง และเตือนให้ทั่วโลกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

ผ่านมาแล้ว 75 ปีจากวันที่ฝูงเครื่องบินขับไล่ “คะมิกะเซะ” ของญี่ปุ่นได้นำไฟสงครามข้ามมหาสมุทรมาถึงหมู่เกาะฮาวาย และดึงสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นได้กล่าวแสดงความ “เสียใจอย่างจริงใจและไม่รู้จบสิ้น” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และผู้นำญี่ปุ่นยังนำพวงหรีดไปวางที่อนุสรณ์สถานเรือยูเอสเอส แอริโซนา และยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงชาวอเมริกัน 2,400 คนที่เสียชีวิตจากการโจมตีแบบสายฟ้าแลบของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ปี 1941

การเยือนอ่าวเพิร์ลของอาเบะครั้งนี้ถือเป็นการแสดงความสำนึกผิดจากผู้นำสูงสุดของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งยังถือว่าประวัติศาสตร์ยุคสงครามเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“เราต้องไม่ปล่อยให้ความโหดร้ายป่าเถื่อนของสงครามเกิดขึ้นซ้ำอีก... สิ่งที่ผูกพันเราไว้ด้วยกันในวันนี้ก็คือพลังแห่งการปรองดอง ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยความอดทนอดกลั้น” อาเบะกล่าว

ประธานาธิบดีโอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ในตำแหน่งคนแรกที่ไปเยือนเมืองฮิโรชิมาเมื่อเดือน พ.ค. ก็ได้เอ่ยถึงประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

“ผมขอต้อนรับท่านด้วยไมตรีจิต... และหวังว่าเราทั้งสองจะสามารถส่งสาส์นไปยังทั่วโลกว่า ในสันติภาพนั้นมีชัยชนะมากกว่าสงคราม การปรองดองย่อมมีรางวัลมากกว่าการแก้แค้น แม้ในเวลาที่เราเคียดแค้นชิงชังที่สุด แม้ในเวลาที่ลัทธิป่าเถื่อนกำลังมีอิทธิพลที่สุด แต่เราก็ต้องหักห้ามใจตนเอง... ต้องหลีกเลี่ยงการตราหน้าผู้ที่คิดต่างจากเราว่าเป็นฝ่ายชั่วร้าย”

การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองมีขึ้นในขณะที่ โอบามา จะอำลาทำเนียบขาวในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วน อาเบะ เองก็ต้องเตรียมตัวเผชิญกับอนาคตที่คลุมเครือ หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า
ทรัมป์ เคยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นหันมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อรับมือภัยคุกคามในภูมิภาค แทนที่จะหวังพึ่งการคุ้มกันจากสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว

ทรัมป์ ยังประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสหรัฐฯ ควรเพิ่มแสนยานุภาพนิวเคลียร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียก็ได้สั่งให้กระทรวงกลาโหมหมีขาวกระทำอย่างเดียวกัน

ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าจะไม่สานต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่ทั้ง โอบามา และ อาเบะ ถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

อาเบะ ไม่ใช่ผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางมาเยือนอ่าวเพิร์ล

อดีตนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ แห่งญี่ปุ่นได้แวะเยือนฮาวายเมื่อปี 1951 และเดินทางไปที่สุสานแห่งชาติแปซิฟิก (National Memorial Cemetery of Pacific) ด้วย ทว่าไม่มีบันทึกยืนยันว่าเขาได้ไปคารวะเหยื่อสงครามที่อ่าวเพิร์ลหรือไม่

ต่อมาในปี 1956 อดีตนายกรัฐมนตรี อิจิโร ฮาโตยามะ ก็ได้เดินทางมาที่กองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่โฮโนลูลู ซึ่งอยู่ติดกับอ่าวเพิร์ล

อดีตนายกรัฐมนตรี โนบุสุเกะ คิชิ ซึ่งเป็นคุณตาแท้ๆ ของ อาเบะ ก็เคยมาเยือนที่นี่ในปี 1957

อย่างไรก็ตาม อาเบะ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในตำแหน่งคนแรกที่ไปคารวะอนุสรณ์สถานเรือ ยูเอสเอส แอริโซนา ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 1960 จึงอาจนับได้ว่าเป็นการเยือนที่มีความหมายมากที่สุด

ในปี 1941 พล.ร.อ.อิโซโรกุ ยามาโมโตะ ได้นำกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น 6 ลำแล่นห่างจากชายฝั่งเกาะโออาฮูประมาณ 385 กิโลเมตร และส่งฝูงบินรบฆ่าตัวตายเข้าไปโจมตีกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ถึง 2 ระลอก จนเป็นเหตุให้สหรัฐฯ สูญเสียเรือรบไป 21 ลำ และเครื่องบินอีก 328 ลำ

ทหารเรืออเมริกันหลายร้อยคนจมน้ำเสียชีวิต เมื่อเรือยูเอสเอส โอกลาโฮมา ถูกยิงถล่มด้วยตอร์ปิโดของญี่ปุ่นจนเรือพลิกคว่ำ

อาเบะยอมรับว่าเขาเคยจินตนาการถึงเสียงของเหยื่อชาวอเมริกันที่พูดคุยกันเรื่องอนาคตและความฝัน สวดภาวนาให้แก่ลูกน้อยที่ยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก ก่อนที่สงครามจะคร่าชีวิตพวกเขา

“ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพลันจบสิ้นลง... เมื่อผมพิจารณาถึงความจริงข้อนี้ก็พูดอะไรไม่ออก”





กำลังโหลดความคิดเห็น