(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Drone piracy in the South China Sea!
By Peter Lee
18/12/2016
กองทัพเรือสหรัฐฯส่งโดรนใต้น้ำ “สโลคุม ไกลเดอร์” ออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความตระหนักในเรื่องนี้ ดังนั้นการที่กองทัพเรือจีนกระทำการโจรกรรมยานเช่นนี้ลำหนึ่งแบบตัดหน้าเรืออเมริกันซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการกู้โดรนลำนั้นขึ้นมา จึงดูจะไม่ใช่เป็นการมุ่ง “ลองของ” โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกำลังจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ทว่าเนื่องมาจากความต้องการที่จะได้ “สโลคุม ไกลเดอร์” ของกองทัพเรืออเมริกันในทะเลจีนใต้สักลำหนึ่งไปศึกษามากกว่า
กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้กระทำการโจรกรรมทรัพย์สินของกองทัพเรือสหรัฐฯอย่างค่อนข้างอุกอาจทีเดียว ในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรือยูเอสเอ็นเอส บาวดิตช์ (USNS Bowditch) กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะกู้เอาโดรนใต้น้ำลำหนึ่งขึ้นมาอยู่แล้ว ปรากฏว่าได้มีเรือของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนลำหนึ่ง ชื่อ หนานจิ่ว 510 (Nanjiu 510) จัดแจงปล่อยเรือเล็กลำหนึ่งลงน้ำแล้วตัดหน้าคว้าเอายานดังกล่าวไป โดยที่มีรายงานว่า เป็นยาน “สโลคัม ไกลเดอร์” (Slocum Glider)
สื่อมวลชนสหรัฐฯกระโจนพรวดไปสู่บทสรุปที่ว่า นี่คือ “การลองของ” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดหมายกันอยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องมีออกมาเพื่อต้อนรับและเพื่อพิสูจน์ทดสอบความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้กำลังจะเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ ทั้งนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องชมชอบทดสอบว่าอเมริกามีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นในการผลักดันเอาคืนมากน้อยแค่ไหน เมื่อใดก็ตามที่มีประธานาธิบดีหน้าใหม่ก้าวขึ้นรับหน้าที่
อันที่จริงเมื่อปี 2001 ได้มีเหตุการณ์ที่ก็เกี่ยวข้องกับ “บาวดิตช์” ซึ่งเป็นเรือสำรวจสมุทรศาสตร์ที่คอยกระตุ้นโทสะของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่เสมอ ด้วยการแล่นเข้าไปภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone หรือ EEZ) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการติดตามความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำแดนมังกร ทั้งนี้ปรากฏว่าในคราวนั้น เรือลำนี้ที่กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจสำรวจทางสมุทรศาสตร์ ได้ถูกเรือฟริเกตของกองทัพเรือจีนลำหนึ่งเข้ามาก่อกวนระรานที่บริเวณนอกเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เมื่อเดือนมีนาคม 2001 หรือเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.usnwc.edu/getattachment/d11a2362-fa30-4742-8ec4-c8bed2025114/Close-Encounters-at-Sea--The-USN)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ทันขึ้นเป็นประธานาธิบดี นี่จึงทำให้กลายเป็นว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่กำลังอยู่ในสภาพเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย” รวมทั้งศัตรูตลอดกาลของกองทัพเรือจีนอย่างกองทัพเรือสหรัฐฯ ต้องถูกถือเป็นเป้าซึ่งถูกกำลังสบประมาทจากฝ่ายจีน อันที่จริงแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนดูเหมือนไม่มีความสนใจที่จะลบข้อความเขียนบรรยายที่โพสต์กันบนสื่อสังคม “เว่ยโป๋” (Weibo) ของแดนมังกร ซึ่งระบุว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน “กำลังลักเอาทารกน้อยของอเมริกาไป”
กระนั้น เรื่องมันดูน่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่า นั่นคือสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแต่ต้องการโดรนใต้น้ำเหล่านี้มาสักลำหนึ่ง และตอนนี้แหละคือจังหวะเวลาที่พวกเขาสบโอกาสเข้าไปฉกเอามาได้
“โดรน” ยานหุ่นยนต์ที่ไม่มีคนบังคับควบคุมอยู่ข้างใน เป็นสิ่งซึ่งทุกๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่า มันกำลังกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญมากสำหรับการทำสงคราม และกองทัพเรือสหรัฐฯก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้วที่จะต้องเสาะแสวงหา “ยานอัตโนมัติไร้คนบังคับควบคุม” (unmanned autonomous vehicle หรือ UAV) เข้ามาไว้ใช้งานด้วยเช่นกัน โดยเหตุนี้ นอกเหนือจากแผนการริเริ่มอื่นๆ อีกมากมายแล้ว กองทัพเรือสหรัฐฯยังได้ซื้อ สโลคุม ไกลเดอร์ (ซึ่งเป็น “ยานดำน้ำไร้คนบังคับควบคุม unmanned underwater vehicle หรือ UUV -ผู้แปล) มาหลายสิบลำ ยานรุ่นนี้ผลิตโดย เว็บบ์ ดีไซน์ (Webb Design) ที่เป็นกิจการแผนกหนึ่งของ เทเลไดน์ (Teledyne) กลุ่มบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมสัญชาติสหรัฐฯ
ยานสโลคุม ไกลเดอร์ เป็นยานที่มีแพลตฟอร์มส่งสัญญาณตรวจจับลักษณะทางสมุทรศาสตร์ที่ค่อนข้างเจ๋งมาก และใช้ “เครื่องยนต์ buoyancy engine” เป็นตัวให้พลัง คำศัพท์ทางเทคนิคนี้หมายความว่า ก) มันลอยน้ำได้ และ ข) มันเป็นยานที่ร่อนได้ นั่นคือด้วยความช่วยเหลือของการดันไปข้างหน้านิดเดียว มันก็จะสามารถที่จะเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวแนวดิ่งให้กลายเป็นการเคลื่อนไหวแนวราบ คุณสมบัติเช่นนี้เปิดทางให้มันสามารถเคลื่อนที่ไปในแนวราบโดยสิ้นเปลืองพลังงานน้อยมากๆ ถึงแม้จะเป็นการเคลื่อนไปได้อย่างช้ามากๆ ก็ตามที ปกติแล้วยานแบบนี้จะถูกปล่อยให้ลงน้ำกันคราวละเป็นเดือนๆ และจากการเที่ยวท่องไปเรื่อยๆ ในมหาสมุทรก็ทำให้มันสามารถตรวจจับวัดสภาพวัดคุณสมบัติของท้องน้ำได้หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า ความเค็มและอุณหภูมิ รวมทั้งอะไรอย่างอื่นๆ อีก ซึ่งแพกเกจชุดตัวรับสัญญาณของมันถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่วัด บ่อยครั้งทีเดียวมันจะลอยตัวโดยอาศัยลูกบอลลูนซึ่งอยู่ข้างในยาน ทำให้มันโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำ และอัปลิงก์กับระบบดาวเทียม “อีริเดียม” (Iridium satellite system) เพื่อส่งข้อมูลที่มันเก็บมาได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคอยดูแลแบตเตอรีของมัน ตลอดจนแก๊สสำหรับให้มันลอยตัวกันอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเองเรืออย่าง เบาวิตช์ จึงต้องคอยแล่นตามประกบอยู่เป็นระยะๆ เพื่อดูแลเรื่องพวกนี้
กองทัพเรือสหรัฐฯชื่นชอบยานสโคคุม ไกลเดอร์นี้มาก เนื่องจากข้อมูลที่พวกมันเก็บมาได้ สามารถใช้ในการปรับปรุงความถูกต้องแม่นยำของเครื่องโซนาร์ที่ใช้ในการติดตามบรรดาเรือดำน้ำ (ของจีน) ขณะที่มันมีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างเงียบมากๆ จนกระทั่งมีสมมุติฐานกันว่ามันยากที่จะถูกติดตามตรวจสอบและยากที่จะถูกทำลาย นอกจากนั้น กองทัพเรือสหรัฐฯสามารถที่จะปล่อยยานแบบนี้ลงน้ำกันคราวละเป็นจำนวนมากๆ (พวกมันแต่ละลำมีราคาอยู่ในราว 150,000 ดอลลาร์) แทนที่จะต้องถูกจำกัดการค้นหาข้อมูลของตนเอาไว้ เพียงเฉพาะพื้นที่หรือกรอบเวลาเท่าที่ บาวดิตช์ ตลอดจนเรือในรุ่นเดียวกัน สามารถแล่นไปถึงพร้อมกับส่งสัญญาณคลื่นโซนาร์ออกมาเท่านั้น
พวกนักวิจัยของจีนมีความสนใจอย่างแรงกล้าทั้งในยาน UUV ใช้เครื่องยนต์ buoyancy engine ทั่วๆ ไป และทั้งในยาน สโลคุม ไกลเดอร์ เป็นการเฉพาะเจาะจง แน่นอนทีเดียว ในเรื่องการพึ่งพาตนเองนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความถนัดจัดเจนในเรื่องอย่างนี้อยู่ พวกเขาสามารถสร้างยานเวอร์ชั่นของพวกเขาเอง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า “ซี วิง” (Sea Wing) ณ สถาบันเครื่องกลอัตโนมัติเสิ่นหยาง (Shenyang Automation Institute) และได้ประกาศผลการทดสอบที่ออกมาดีๆ อยู่หลายครั้ง
ทำไมจีนจึงเกิดต้องการที่จะโจรกรรมยานสโลคุม ไกลเดอร์ สักลำหนึ่งขึ้นมาในเวลานี้ เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาซึ่งหาคำตอบไม่ได้ กองทัพเรือสหรัฐฯนั้นประกาศว่าโดรนแบบนี้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์ และจริงๆ แล้วก็มีการขายสโลคุม ไกลเดอร์ เพื่อใช้ในการวิจัยทางสมุทรศาสตร์และการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในตลอดทั่วโลก เว็บบ์ ดีไซน์ มีสำนักงานขายทั้งในรัสเซียและไต้หวัน ทว่าไม่มีการระบุว่ามีตั้งอยู่ในจีน ไม่มีรายงานใดๆ ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ซื้อหาโดรนแบบนี้มาไว้ใช้งานแล้ว และบางทีเทเลไดน์อาจจะได้รับข้อความระบุว่า การขายของเล่นแสนชื่นชอบของกองทัพเรือสหรัฐฯนี้ ไปให้แก่จีน น่าจะไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก
ไม่ว่าสภาพแท้จริงจะเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นจากบันทึกเหตุการณ์และสภาวการณ์ต่างๆ แล้ว บ่งชี้ให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไรนักหนาเลย เกี่ยวกับความต้องการของตนที่จะไล่ล่ายานสโลคุม ไกลเดอร์ ซึ่งกำลังออกปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร ยานสโลคุม ไกลเดอร์ หลายลำได้เคยสูญหายไป (และไปติดอวนของชาวประมง) โดยกรณีเช่นนี้กรณีหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในทะเลจีนใต้ ดังรายงานจากฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.philstar.com/headlines/2016/11/14/1643637/oceanographic-instrument-found-near-panatag) ที่บอกเอาไว้อย่างนี้:
ชาวประมง 3 คน … พบอุปกรณ์ที่มีสีเหลืองสดชิ้นนี้ขณะกำลังหาปลาอยู่ในทะเลเปิด และลากมันกลับมายังหมู่บ้านชายฝั่งที่ชื่อ บารันกาย อินโฮบอล (Barangay Inhobol) ซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของพวกเขา
เครื่องมือทางสมุทรศาสตร์ชิ้นนี้ซึ่งเวลานี้อยู่ในความดูแลของตำรวจภูธรจังหวัดในค่ายคอนราโด ยัป (Conrado Yap) เมืองอิบา (Iba) จังหวัดซัมบาเลส (Zambales) นับเป็นอุปกรณ์แบบนี้ชิ้นที่ 2 แล้วซึ่งพบอยู่ใกล้ๆ แนวปะการังสโคโบโร โชล (Scarborough Shoal) ที่เกิดการพิพาทช่วงชิงกันอยู่ (ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน) ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (West Philippine Sea ชื่อเรียกขานของทางการฟิลิปปินส์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้ชื่อ “ทะเลจีนใต้” -ผู้แปล)
...
อุปกรณ์ทางทะเลนี้ได้ถูกส่งมอบให้แก่ตำรวจท้องถิ่น และในที่สุดแล้วสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯได้อ้างว่าเป็นเจ้าของและรับคืนไป
สำหรับโดรนลำแรกที่ถูกพบในลักษณะเช่นนี้นั้น รายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้อ้างอิงกล่าวถึงเอาไว้ดังนี้:
พวกชาวประมงจากเมืองซูบิก (Subic town) ก็ได้พบสิ่งที่ถูกระบุในเบื้องต้นว่าเป็นโดรนของสหรัฐฯลำหนึ่ง ที่บริเวณใกล้ๆ สคาร์โบโร เช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ … อุปกรณ์ทางทะเลนี้มีน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม และประทับตัวหนังสือว่า “สำนักงานสมุทรศาสตร์กองทัพเรือ, ยูเอสเอ” (Naval Oceanographic Office USA.)
ในรายงานข่าวนี้ระบุว่า เครื่องมือเหล่านี้คือ ยานสโลคุม ไกลเดอร์ ของเทเลไดน์-เว็บบ์
จากการที่รายงานข่าวเมื่อเดือนกันยายนของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ดูรายละเอียดข่าวซึ่งเป็นภาษาจีนได้ที่ http://military.people.com.cn/BIG5/n1/2016/0902/c1011-28685967.html) ได้กล่าวพาดพิงถึงเรื่องชาวประมงในทะเลจีนใต้พบโดรนใต้น้ำเช่นนี้เอาไว้ น่าที่จะส่อแสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับยานสโลคุม ไกลเดอร์ อยู่แล้ว ทั้งนี้รายงานข่าวชิ้นนี้เขียนเอาไว้ดังนี้:
ชาวประมงในทะเลจีนใต้เคยลากอวนติดยานไกลเดอร์ใต้น้ำลำหนึ่งขึ้นมา โดยยานดังกล่าวดูเหมือนเป็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นที่น่าสงสัยว่าไกลเดอร์ลำนี้กำลังถูกใช้สอดแนมบริเวณพื้นที่ฐานเรือดำน้ำของจีน ก่อนหน้านี้กองทัพเรือสหรัฐฯได้เคยออกประกาศ “กำลังค้นหาวัตถุที่สูญหาย” ฉบับหนึ่ง โดยระบุว่า ยานไกลเดอร์ใต้น้ำลำหนึ่งของตนได้สูญหายไปบริเวณใกล้เคียงทะเลจีนใต้ ... เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้มีพลังงานหรือมีพลังงานที่จำกัดมาก ดังนั้นพวกมันจึงไม่สามารถติดตามเรือดำน้ำหรือเรือผิวน้ำได้ ทว่าพวกมันสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในพื้นที่ฐานทัพท่าเรือแห่งสำคัญของข้าศึก และกระทำการสอดแนมได้
จากสิ่งที่กล่าวมานี้ เราจึงสามารถอนุมานได้อย่างมั่นใจว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ก) ตระหนักเป็นอย่างดีว่ากองทัพเรือสหรัฐฯกำลังส่งยานสโลคุมออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ ข) มีความสนใจถึงความเป็นไปได้ที่ยานเหล่านี้ นอกเหนือจากกำลังปฏิบัติงานตรวจวัดทางสมุทรศาสตร์อย่างธรรมดาๆ แล้ว ยังจะพยายามนำเอายาน UUV มาเรียงรายกันสร้างเป็นแนวรอบๆ ฐานเรือดำน้ำของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนบนเกาะไหหลำหรือเปล่า หรือไม่เช่นนั้นก็อาจช่วยเหลือการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเรือจีนทั้งหลายตรงบริเวณแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ค) ทราบแล้วว่าอุปกรณ์เหล่านี้อาจหลบลี้หนีหายจากการควบคุมของกองทัพเรือสหรัฐฯอยู่เป็นระยะๆ และ ง) คิดว่าอาจจะมีโอกาสที่จะเข้าไปกู้ยานแบบนี้มาสักลำหนึ่ง
เพิ่มเติมไปด้วยอีกข้อหนึ่งว่า จ) ฟิลิปปินส์ภายใต้การบริหารปกครองของ (ประธานาธิบดีโรดริโก ) ดูเตอร์เต ดูยังคงไม่พร้อมที่จะส่งยานสโลคุม ไกลเดอร์ ซึ่งกู้ขึ้นมาได้ให้แก่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงจะต้องทำงานสกปรกเช่นนี้ด้วยตนเอง
แนวความคิดที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีต้องการอย่างจริงจัง ในการเอามือของพวกเขาเข้าไปสัมผัสแตะต้องยานสโลคุม ไกลเลอร์ ซึ่งกองทัพเรืออเมริกันปล่อยออกมาปฏิบัติการในเขตทะเลจีนใต้นี้สักลำหนึ่ง ได้รับรับความสนับสนุนอย่างหนักแน่นมากขึ้นอีก จากเรือที่ใช้เพื่อกระทำการที่ต้องเรียกว่าเป็นการฉกชิงโดรนสหรัฐฯคราวนี้ เรือดังกล่าวคือ หนานจิ่ว 510 เรือลำนี้ถูกระบุว่าเป็นเรือกู้ภัยชั้น “ต้าหลาง 2” (Dalang II) มันเป็นเรืออาวุโสซึ่งตอนแรกเลยออกแบบมาเพื่อการกู้ภัย/ช่วยชีวิตเรือดำน้ำ และเวลานี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทัพเรือทะเลจีนใต้ (South China Sea fleet) ของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน บนเรือมีทั้งระฆังดำน้ำ (diving bell), เครนยก, เครื่องกว้าน, และชั้นวาง ดังนั้นถ้าหากน่านน้ำของฟิลิปปินส์ไม่ได้เกลื่อนกลาดไปด้วยเรือดำน้ำจีนที่จมลงใต้ทะเลแล้ว ก็เป็นเรื่องดีงามที่ หนานจิ่ว 510 ได้อยู่ในน่านน้ำเดียวกันกับ เบาดิตช์ เนื่องจากมันมีอุปกรณ์ที่สามารถเอาเรือเล็กลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว, จัดแจงคว้าโดรนที่ลอยน้ำขึ้นมาและฉวยยึดเอาไว้, จากนั้นเผ่นพรวดอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการเลือกเอาจังหวะเวลาตอนนี้สำหรับการปฏิบัติการที่จะต้องสร้างความเดือดดาลคราวนี้ จึงไม่ได้เนื่องมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำแถลงเกี่ยวกับไต้หวัน หรือการที่ พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส (Admiral Harry Harris ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ -ผู้แปล) ออกไปทัวร์ออสเตรเลียและยังคงพยายามป่าวร้องว่า “ยุทธศาสตร์การปัดหมุดยังไม่ตายยยย” ภาพสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนทราบดีว่าเรือ เบาดิตช์ อยู่ระหว่างการปฏิบัติการนำเอาพวกยาน สโลคุม ไกลเดอร์ ขึ้นจากน้ำเพื่อให้บริการต่างๆ หรือไม่ก็นำมาซ่อมแซม จึงมอบหมายหน้าที่ให้ หนานจิ่ว 510 คอยสะกดรอยตามไป และเนื่องจาก หนานจิ่ว 510 มีขนาดใหญ่กว่าอีกทั้งแล่นเร็วกว่า เบาดิตช์ จึงสามารถฉวยคว้าโอกาสอันหาได้ยากจากการโผล่ขึ้นเหนือน้ำของยานสโลคุมลำหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการเข้าจู่โจมอย่างรวดเร็วแล้วแล่นหนีไปพร้อมด้วยโดรนดำน้ำซึ่งฉกมาจากใต้จมูกของเรือเบาดิตช์
ความพยายามคราวนี้ตลอดจนความเอะอะโวยวายทางการทูตที่เกิดตามมา ทั้งหมดเหล่านี้ส่อแสดงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเชื่อว่ายานสโลคุม ไกลเดอร์ ในทะเลจีนใต้เหล่านี้ ต้องมีอะไรมากเกินกว่าแพกเกจตรวจวัดอุณหภูมิ/เก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ในทางสมุทรศาสตร์ธรรมดาๆ เท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้วกองทัพเรือสหรัฐฯก็กำลังเติมเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ เสริมเข้าไปในยานสโลคุม เป็นต้นว่าอุปกรณ์วัดตะกอนใต้ทะเลจากบริษัทซีควอยเอีย (Sequoia) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.sequoiasci.com/distributor-newsletters/august-2016-distributor-newsletter/) โดยมีการสันนิษฐานกันว่าเพื่อใช้รับมือกับการที่เรือดำน้ำจีนอาจพยายามแอบหลบหลีกการติดตามและออกไปจากทะเลจีนใต้ในช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่น นอกจากนั้นกองทัพเรือสหรัฐฯยังซื้อยานสโลคุมรุ่น “ชายฝั่ง” นั่นคือเหมาะแก่การปฏิบัติงานในน่านน้ำตื้นใกล้ฝั่งด้วย เป็นการเพิ่มเติมจากยานรุ่นที่ใช้ในเขตทะเลเปิดธรรมดาๆ ด้วยเหตุนี้จึงย่อมไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรซ์อะไรเลย ถ้าฝ่ายจีนเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า มันจะต้องมีกลอุบายใหม่ๆ บางอย่างซุกซ่อนอยู่ในถุง สโลคุม/ทะเลจีนใต้ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และต้องการตรวจดูให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน
ในฐานะที่เป็นเรือบริการลำหนึ่ง หนานจิ่ว 510 จึงไม่ได้ติดอาวุธหนักอะไร เรียกได้ว่าไม่ค่อยจะเป็นภัยคุกคามใหญ่โต แถมยังสามารถเปรียบเทียบเข้าคู่ในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่กับเรือ เบาดิตช์ ซึ่งก็จัดเป็นเรือในฝ่ายบริการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า กองบัญชาการขนส่งทางทะเล (Marine Sealift) ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องการช่วยเหลือกู้ภัยด้วย เรือเบาดิตช์ปฏิบัติการในลักษณะทำสัญญาให้ผู้รับเหมาพลเรือนเข้ามารับผิดชอบ จึงทำให้งานสอดรู้สอดเห็นของมันดูน่ารังเกียจลดน้อยลง และผมเชื่อว่า มีการจำกัดให้มันประกอบอาวุธเพียงแค่อาวุธประจำกายสำหรับการป้องกันตัว, ปืนเล็กยาว, และอะไรทำนองนี้ บางทีสาธารณรัฐประชาชนจีนคงจะให้ความใส่ใจอยู่เหมือนกันในการคัดเลือกเรือสำหรับใช้ดำเนินภารกิจปล้นชิงแบบโจรสลัดของตนคราวนี้ และคาดคำนวณไว้แล้วว่าการมีเรือช่วยรบติดอาวุธเบา 2 ลำเข้าไปแย่งชิงโดรนลำหนึ่ง คงจะไม่ถึงกับเป็นจุดชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา
ทว่านี่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับชาวอเมริกันที่เป็นพวกส่งเสียงเชียร์นโยบายปักหมุดสู่เอเชีย และพวกนายทหารพระธรรมนูญผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือสหรัฐฯ พวกเขาเหล่านี้เร่งรีบขมีขมันตีความลักษณะของยานสโลคัมไกลเดอร์ และจริงๆ แล้วก็ถึงขั้นครอบคลุมหมายรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ลอยน้ำได้ซึ่งโยนออกมาจากดาดฟ้าของเรือสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯลำใดลำหนึ่ง ว่าเท่ากับ “เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯที่พึงได้รับความคุ้มครองตามหลักความคุ้มกันของอธิปไตย” (US Navy vessel enjoying sovereign immunity) การตีความแบบเกินเลยไปไกลเอามากๆ ประเภทนี้ ผมอยากจะชี้ว่า ไม่จำเป็นจะต้องทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลายเป็นฝ่ายผิดขึ้นมาหรอก กฎหมายทะเลตามประเพณีนั้นมีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องว่าด้วยการสงวนรักษากรรมสิทธิ์แห่งข้าวของที่ตกอยู่ในน้ำ แม้กระทั่งข้าวของซึ่งมาจากเรือที่จมลงไปแล้ว “คนที่พบสามารถเก็บขึ้นมาได้ เพียงแต่อย่าตัดทำลายมันเท่านั้น” (“Finders keepers” just doesn’t cut it ดูรายละเอียดได้ที่ http://arstechnica.com/tech-policy/2016/03/2-men-take-us-govt-ocean-science-buoy-now-want-to-sell-it-back-for-13000/)
ฝ่ายจีนตระหนักเป็นอันดีในเรื่องนี้ และอย่างน้อยก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้ผมเลย จากการที่พวกเขาตกลงที่จะส่งโดรนใต้น้ำลำนี้คืน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.cnn.com/2016/12/17/politics/china-drone-donald-trump/) ถึงแม้ไม่ได้มีการระบุวันเวลาที่แน่นนอนชัดเจน และอาจจะคืนในสภาพที่ถูกแยกออกเป็นล้านๆ ชิ้น โดยสันนิษฐานได้ว่าพวกเขาจะต้องผ่าดูข้างในอย่างละเอียดถี่ถ้วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อโดรนกำลังแพร่กระจายออกไปในทะเลจีนใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็กำลังหาทางกำจัดพวกมันทิ้งไปเสมือนกับว่าเป็นแมลงสาบใต้น้ำ ดังนั้นแดนมังกรจึงไม่น่าที่จะยึดถืออย่างจริงจังอะไรต่อข้อร้องเรียนของกองทัพเรือสหรัฐฯเกี่ยวกับความคุ้มกันทางอธิปไตยของพวกเขา ผมสงสัยด้วยว่ายังจะมีชาติอื่นๆ นอกเหนือจากพวกซึ่งตกเป็นข้าช่วงใช้ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าร่วมในการตีความยึดถือว่าความรุนแรงที่กระทำต่อโดรนเช่นนี้เป็นเหตุแห่งสงคราม (casus belli) ตรงกันข้ามพวกเขาอาจจะเข้าร่วมการเรียกร้องให้สร้างข้อตกลงความเข้าใจระดับนานาชาติเกี่ยวกับการใช้และการปฏิบัติต่อเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมา
แน่นอนทีเดียว ความเคลื่อนไหวอย่างหลังนี้กลับเป็นสิ่งซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯถือว่าน่ารังเกียจและสมควรแก่การประณาม ทั้งนี้กองทัพเรือสหรัฐฯคือหน่วยงานซึ่งมีความทะเยอทะยานอันไร้ขีดจำกัดและมีการเรียกร้องของบประมาณอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน สืบเนื่องจากความยึดถืออย่างอ้อมๆ ต่อแนวคิดที่ว่า ยิ่งลดข้อจำกัดในการปฏิบัติการของพวกเขาลงไปได้เท่าใด ก็จะยิ่งเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากความได้เปรียบทั้งในทางวัตถุ, เทคนิค, และที่ตั้ง ในอาณาบริเวณน่านน้ำทั้งหลาย
ทว่ามาถึงตอนนี้กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กลับกำลังประกาศแนวคิดที่ว่า ทะเลจีนใต้คือน่านน้ำสำหรับการแบ่งปันกัน –และก็สำหรับการโจรกรรมด้วย และกองทัพเรือสหรัฐฯก็อาจจะต้องคอยทำความคุ้นชินกับเรื่องอย่างนี้
(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์จะไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)
หมายเหตุผู้แปล
หลังจากที่เรือของนาวีจีนยึดโดรนใต้น้ำลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และเกิดปฏิกิริยาตลอดจนการประท้วงต่างๆ ดังที่ ปีเตอร์ ลี กล่าวและวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นข้างต้นนี้แล้ว ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม ทางการจีนแถลงว่าได้ส่งคืนโดรนลำดังกล่าวแล้ว และฝ่ายสหรัฐฯก็ได้แถลงยืนยัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังมีการเอ่ยคำพูดที่เชือดเฉือนกันอยู่ในทีตามเคย เพื่อให้การติดตามเรื่องนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงขอเก็บความนำเอารายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องการส่งมอบคืนโดรนนี้ของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของข่าวชิ้นนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-usa-china-drone-idUSKBN1490EG) มาเสนอในที่นี้:
จีนคืนโดรนใต้น้ำแล้ว สหรัฐฯประณามไม่เลิก ระบุยึดไปอย่าง ‘ผิดกฎหมาย’
โดย เบน บลังชาร์ด
China returns underwater drone, U.S. condemns "unlawful" seizure
By Ben Blanchard
ปักกิ่ง - ปักกิ่งแถลงในวันอังคาร (20 ธ.ค.) ว่า ได้ส่งคืนโดรนใต้น้ำของสหรัฐฯลำหนึ่ง ซึ่งเรือของกองทัพเรือแดนมังกรในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ได้เก็บกู้เอาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ทางการจีนระบุว่า การส่งมอบกระทำกัน “ภายหลังได้มีการปรึกษาหารือกันฉันมิตร” กับฝ่ายสหรัฐฯ ทางด้านวอชิงตันแถลงยืนยันเรื่องนี้แต่ก็ยังคงเน้นย้ำการวิพากษ์วิจารณ์ของตนที่ว่า การที่ปักกิ่งยึดยานของตนไปเช่นนี้เป็นการกระทำที่ "ผิดกฎหมาย"
จากการที่แดนมังกรยึดยานใต้น้ำที่ไร้คนบังคับควบคุมของอเมริกาลำนี้ ภายในเขตน่านน้ำระหว่างประเทศใกล้ๆ กับฟิลิปปินส์ ได้จุดชนวนให้วอชิงตันทำการประท้วงทางการทูต รวมทั้งก่อให้เกิดเสียงคาดเดากันว่ามันจะเป็นการเพิ่มความถูกต้องชอบธรรมมากขึ้นให้แก่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเปล่า ในเวลาที่เขากำลังหาทางใช้นโยบายที่ขึงขังหนักแน่นยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง
ทั้งนี้เรือของกองทัพเรือจีนลำหนึ่งได้เข้ายึดโดรนลำนี้ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15 ธ.ค.) ที่บริเวณห่างจากอ่าวซูบิกในฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 50 ไมล์ทะเล โดยที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) บอกว่าโดรนลำดังกล่าวใช้เทคโนโลยีที่ไม่ใช่ความลับและสามารถซื้อหาได้ในเชิงพาณิชย์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสมุทรศาสตร์
ในวันอังคาร (20 ธ.ค.) กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวในคำแถลงสั้นๆ ว่า ได้ส่งโดรนลำนี้คืนให้สหรัฐฯแล้วในวันเดียวกันนี้
“ภายหลังได้มีการปรึกษาหารือกันฉันมิตรระหว่างฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ งานส่งมอบโดรนใต้น้ำสหรัฐฯลำนี้ก็ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ราบรื่นในบริเวณน่านน้ำที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ เมื่อเวลาราวเที่ยงวัน” คำแถลงของกระทรวงกลาโหมจีนบอก
กระทรวงกลาโหมจีนไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการส่งมอบมากไปกว่านี้ เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์พยายามติดต่อสอบถามไป
สำหรับเพนตากอนนั้นแจ้งว่า ยานดังกล่าวได้ถูกมอบคืนให้แก่เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี “ยูเอสเอส มัสทิน” (USS Mustin) ของสหรัฐฯ ใกล้ๆ กับบริเวณซึ่งมัน “ถูกยึดไปอย่างผิดกฎหมาย” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังเรียกร้องให้จีนเคารพปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และงดเว้นจากการใช้ความพยายามอื่นๆ ต่อไปอีกเพื่อขัดขวางกิจกรรมต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย
“สหรัฐฯยังคงมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดยึดถือบรรดาหลักการและบรรทัดฐานต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเสรีภาพของการเดินเรือและการบิน โดยที่จะยังคงบิน, แล่นเรือ, และปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ในบริเวณใดก็ตามซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต” ปีเตอร์ คุก เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของเพนตากอนระบุในคำแถลง
ต่อมาในวันเดียวกัน ระหว่างการแถลงข่าวตามปกติ เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับการส่งมอบคืนโดรนให้ฝ่ายอเมริกัน ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ของกรณีนี้ หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบว่าต้องไปสอบถามกระทรวงกลาโหมจีน
อย่างไรก็ดี เธอชี้ว่า “จากการรับมือกับเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารของจีนและของสหรัฐฯมีช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารกันได้อย่างค่อนข้างราบรื่น เราคิดว่าช่องทางการสื่อสารนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการสื่อสารกันอย่างทันเวลา และสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการคาดคำนวณผิดหรือการเข้าใจผิด”
“สำหรับสิ่งที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแถลงออกมานั้น ดิฉันต้องนำไปขอคำยืนยันกับฝ่ายทหาร (จีน) ก่อน แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่พวกเขากล่าวมานั้นไร้เหตุผล เพราะอย่างที่เราได้พูดอยู่เสมอมาว่า กองทัพสหรัฐฯนั้นได้ส่งเรือและเครื่องบินเคลื่อนเข้ามาประชิดเพื่อการสอดแนมและการสำรวจต่างๆ ทางการทหารในน่านน้ำซึ่งอยู่ตรงหน้าจีนอยู่เป็นประจำโดยที่ได้กระทำเช่นนี้มานานแล้ว การกระทำเช่นนี้เป็นการคุกคามต่ออธิปไตยและความมั่นคงของจีน” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว
“จีนคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อเรื่องนี้ และเรียกร้องเสมอมาให้สหรัฐฯยุติกิจกรรมต่างๆ ประเภทนี้ ดิฉันคิดว่านี่ (การกระทำของสหรัฐฯ) คือสาเหตุของเรื่องนี้หรือเหตุการณ์อื่นๆ ทำนองเดียวกัน”
การที่จีนยึดโดรนใต้น้ำคราวนี้ ยิ่งทำให้สหรัฐฯเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนกำลังขยายการปรากฏตัวทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ และแสดงท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานยิ่งขึ้นทุกทีในกรณีพิพาทต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ รวมทั้งการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในที่มั่นทางทะเลแห่งต่างๆ ของตนในทะเลแห่งนี้
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งจีนก็แสดงความระแวงสงสัยอย่างล้ำลึกต่อกิจกรรมทางทหารใดๆ ก็ตามของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ซึ่งมั่งคั่งด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยที่สื่อของรัฐและผู้เชี่ยวชาญของจีนระบุว่าการใช้โดรนใต้น้ำเช่นนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯที่จะสอดแนมตรวจการณ์ในเขตน่านน้ำพิพาทนี้
กองทัพเรือสหรัฐฯนั้นมีโดรนใต้น้ำทำนองนี้ประมาณ 130 ลำ ยานเหล่านี้ผลิตโดยเทเลไดน์ เว็บบ์ แต่ละลำมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลเมตร และสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 5 เดือน ยานแบบนี้กำลังถูกใช้งานกันในทั่วโลก โดยทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมหาสมุทรที่ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นความลับ เป็นต้นว่าอุณหภูมิและระดับความลึก
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีโดรนใต้น้ำเช่นนี้ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนเท่าใดในทะเลจีนใต้
Drone piracy in the South China Sea!
By Peter Lee
18/12/2016
กองทัพเรือสหรัฐฯส่งโดรนใต้น้ำ “สโลคุม ไกลเดอร์” ออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความตระหนักในเรื่องนี้ ดังนั้นการที่กองทัพเรือจีนกระทำการโจรกรรมยานเช่นนี้ลำหนึ่งแบบตัดหน้าเรืออเมริกันซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการกู้โดรนลำนั้นขึ้นมา จึงดูจะไม่ใช่เป็นการมุ่ง “ลองของ” โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกำลังจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ทว่าเนื่องมาจากความต้องการที่จะได้ “สโลคุม ไกลเดอร์” ของกองทัพเรืออเมริกันในทะเลจีนใต้สักลำหนึ่งไปศึกษามากกว่า
กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้กระทำการโจรกรรมทรัพย์สินของกองทัพเรือสหรัฐฯอย่างค่อนข้างอุกอาจทีเดียว ในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรือยูเอสเอ็นเอส บาวดิตช์ (USNS Bowditch) กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะกู้เอาโดรนใต้น้ำลำหนึ่งขึ้นมาอยู่แล้ว ปรากฏว่าได้มีเรือของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนลำหนึ่ง ชื่อ หนานจิ่ว 510 (Nanjiu 510) จัดแจงปล่อยเรือเล็กลำหนึ่งลงน้ำแล้วตัดหน้าคว้าเอายานดังกล่าวไป โดยที่มีรายงานว่า เป็นยาน “สโลคัม ไกลเดอร์” (Slocum Glider)
สื่อมวลชนสหรัฐฯกระโจนพรวดไปสู่บทสรุปที่ว่า นี่คือ “การลองของ” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดหมายกันอยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องมีออกมาเพื่อต้อนรับและเพื่อพิสูจน์ทดสอบความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้กำลังจะเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ ทั้งนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องชมชอบทดสอบว่าอเมริกามีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นในการผลักดันเอาคืนมากน้อยแค่ไหน เมื่อใดก็ตามที่มีประธานาธิบดีหน้าใหม่ก้าวขึ้นรับหน้าที่
อันที่จริงเมื่อปี 2001 ได้มีเหตุการณ์ที่ก็เกี่ยวข้องกับ “บาวดิตช์” ซึ่งเป็นเรือสำรวจสมุทรศาสตร์ที่คอยกระตุ้นโทสะของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่เสมอ ด้วยการแล่นเข้าไปภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone หรือ EEZ) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการติดตามความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำแดนมังกร ทั้งนี้ปรากฏว่าในคราวนั้น เรือลำนี้ที่กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจสำรวจทางสมุทรศาสตร์ ได้ถูกเรือฟริเกตของกองทัพเรือจีนลำหนึ่งเข้ามาก่อกวนระรานที่บริเวณนอกเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เมื่อเดือนมีนาคม 2001 หรือเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.usnwc.edu/getattachment/d11a2362-fa30-4742-8ec4-c8bed2025114/Close-Encounters-at-Sea--The-USN)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ทันขึ้นเป็นประธานาธิบดี นี่จึงทำให้กลายเป็นว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่กำลังอยู่ในสภาพเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย” รวมทั้งศัตรูตลอดกาลของกองทัพเรือจีนอย่างกองทัพเรือสหรัฐฯ ต้องถูกถือเป็นเป้าซึ่งถูกกำลังสบประมาทจากฝ่ายจีน อันที่จริงแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนดูเหมือนไม่มีความสนใจที่จะลบข้อความเขียนบรรยายที่โพสต์กันบนสื่อสังคม “เว่ยโป๋” (Weibo) ของแดนมังกร ซึ่งระบุว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน “กำลังลักเอาทารกน้อยของอเมริกาไป”
กระนั้น เรื่องมันดูน่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่า นั่นคือสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแต่ต้องการโดรนใต้น้ำเหล่านี้มาสักลำหนึ่ง และตอนนี้แหละคือจังหวะเวลาที่พวกเขาสบโอกาสเข้าไปฉกเอามาได้
“โดรน” ยานหุ่นยนต์ที่ไม่มีคนบังคับควบคุมอยู่ข้างใน เป็นสิ่งซึ่งทุกๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่า มันกำลังกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญมากสำหรับการทำสงคราม และกองทัพเรือสหรัฐฯก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้วที่จะต้องเสาะแสวงหา “ยานอัตโนมัติไร้คนบังคับควบคุม” (unmanned autonomous vehicle หรือ UAV) เข้ามาไว้ใช้งานด้วยเช่นกัน โดยเหตุนี้ นอกเหนือจากแผนการริเริ่มอื่นๆ อีกมากมายแล้ว กองทัพเรือสหรัฐฯยังได้ซื้อ สโลคุม ไกลเดอร์ (ซึ่งเป็น “ยานดำน้ำไร้คนบังคับควบคุม unmanned underwater vehicle หรือ UUV -ผู้แปล) มาหลายสิบลำ ยานรุ่นนี้ผลิตโดย เว็บบ์ ดีไซน์ (Webb Design) ที่เป็นกิจการแผนกหนึ่งของ เทเลไดน์ (Teledyne) กลุ่มบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมสัญชาติสหรัฐฯ
ยานสโลคุม ไกลเดอร์ เป็นยานที่มีแพลตฟอร์มส่งสัญญาณตรวจจับลักษณะทางสมุทรศาสตร์ที่ค่อนข้างเจ๋งมาก และใช้ “เครื่องยนต์ buoyancy engine” เป็นตัวให้พลัง คำศัพท์ทางเทคนิคนี้หมายความว่า ก) มันลอยน้ำได้ และ ข) มันเป็นยานที่ร่อนได้ นั่นคือด้วยความช่วยเหลือของการดันไปข้างหน้านิดเดียว มันก็จะสามารถที่จะเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวแนวดิ่งให้กลายเป็นการเคลื่อนไหวแนวราบ คุณสมบัติเช่นนี้เปิดทางให้มันสามารถเคลื่อนที่ไปในแนวราบโดยสิ้นเปลืองพลังงานน้อยมากๆ ถึงแม้จะเป็นการเคลื่อนไปได้อย่างช้ามากๆ ก็ตามที ปกติแล้วยานแบบนี้จะถูกปล่อยให้ลงน้ำกันคราวละเป็นเดือนๆ และจากการเที่ยวท่องไปเรื่อยๆ ในมหาสมุทรก็ทำให้มันสามารถตรวจจับวัดสภาพวัดคุณสมบัติของท้องน้ำได้หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า ความเค็มและอุณหภูมิ รวมทั้งอะไรอย่างอื่นๆ อีก ซึ่งแพกเกจชุดตัวรับสัญญาณของมันถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่วัด บ่อยครั้งทีเดียวมันจะลอยตัวโดยอาศัยลูกบอลลูนซึ่งอยู่ข้างในยาน ทำให้มันโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำ และอัปลิงก์กับระบบดาวเทียม “อีริเดียม” (Iridium satellite system) เพื่อส่งข้อมูลที่มันเก็บมาได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคอยดูแลแบตเตอรีของมัน ตลอดจนแก๊สสำหรับให้มันลอยตัวกันอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเองเรืออย่าง เบาวิตช์ จึงต้องคอยแล่นตามประกบอยู่เป็นระยะๆ เพื่อดูแลเรื่องพวกนี้
กองทัพเรือสหรัฐฯชื่นชอบยานสโคคุม ไกลเดอร์นี้มาก เนื่องจากข้อมูลที่พวกมันเก็บมาได้ สามารถใช้ในการปรับปรุงความถูกต้องแม่นยำของเครื่องโซนาร์ที่ใช้ในการติดตามบรรดาเรือดำน้ำ (ของจีน) ขณะที่มันมีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างเงียบมากๆ จนกระทั่งมีสมมุติฐานกันว่ามันยากที่จะถูกติดตามตรวจสอบและยากที่จะถูกทำลาย นอกจากนั้น กองทัพเรือสหรัฐฯสามารถที่จะปล่อยยานแบบนี้ลงน้ำกันคราวละเป็นจำนวนมากๆ (พวกมันแต่ละลำมีราคาอยู่ในราว 150,000 ดอลลาร์) แทนที่จะต้องถูกจำกัดการค้นหาข้อมูลของตนเอาไว้ เพียงเฉพาะพื้นที่หรือกรอบเวลาเท่าที่ บาวดิตช์ ตลอดจนเรือในรุ่นเดียวกัน สามารถแล่นไปถึงพร้อมกับส่งสัญญาณคลื่นโซนาร์ออกมาเท่านั้น
พวกนักวิจัยของจีนมีความสนใจอย่างแรงกล้าทั้งในยาน UUV ใช้เครื่องยนต์ buoyancy engine ทั่วๆ ไป และทั้งในยาน สโลคุม ไกลเดอร์ เป็นการเฉพาะเจาะจง แน่นอนทีเดียว ในเรื่องการพึ่งพาตนเองนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความถนัดจัดเจนในเรื่องอย่างนี้อยู่ พวกเขาสามารถสร้างยานเวอร์ชั่นของพวกเขาเอง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า “ซี วิง” (Sea Wing) ณ สถาบันเครื่องกลอัตโนมัติเสิ่นหยาง (Shenyang Automation Institute) และได้ประกาศผลการทดสอบที่ออกมาดีๆ อยู่หลายครั้ง
ทำไมจีนจึงเกิดต้องการที่จะโจรกรรมยานสโลคุม ไกลเดอร์ สักลำหนึ่งขึ้นมาในเวลานี้ เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาซึ่งหาคำตอบไม่ได้ กองทัพเรือสหรัฐฯนั้นประกาศว่าโดรนแบบนี้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์ และจริงๆ แล้วก็มีการขายสโลคุม ไกลเดอร์ เพื่อใช้ในการวิจัยทางสมุทรศาสตร์และการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในตลอดทั่วโลก เว็บบ์ ดีไซน์ มีสำนักงานขายทั้งในรัสเซียและไต้หวัน ทว่าไม่มีการระบุว่ามีตั้งอยู่ในจีน ไม่มีรายงานใดๆ ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ซื้อหาโดรนแบบนี้มาไว้ใช้งานแล้ว และบางทีเทเลไดน์อาจจะได้รับข้อความระบุว่า การขายของเล่นแสนชื่นชอบของกองทัพเรือสหรัฐฯนี้ ไปให้แก่จีน น่าจะไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก
ไม่ว่าสภาพแท้จริงจะเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นจากบันทึกเหตุการณ์และสภาวการณ์ต่างๆ แล้ว บ่งชี้ให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไรนักหนาเลย เกี่ยวกับความต้องการของตนที่จะไล่ล่ายานสโลคุม ไกลเดอร์ ซึ่งกำลังออกปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร ยานสโลคุม ไกลเดอร์ หลายลำได้เคยสูญหายไป (และไปติดอวนของชาวประมง) โดยกรณีเช่นนี้กรณีหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในทะเลจีนใต้ ดังรายงานจากฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.philstar.com/headlines/2016/11/14/1643637/oceanographic-instrument-found-near-panatag) ที่บอกเอาไว้อย่างนี้:
ชาวประมง 3 คน … พบอุปกรณ์ที่มีสีเหลืองสดชิ้นนี้ขณะกำลังหาปลาอยู่ในทะเลเปิด และลากมันกลับมายังหมู่บ้านชายฝั่งที่ชื่อ บารันกาย อินโฮบอล (Barangay Inhobol) ซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของพวกเขา
เครื่องมือทางสมุทรศาสตร์ชิ้นนี้ซึ่งเวลานี้อยู่ในความดูแลของตำรวจภูธรจังหวัดในค่ายคอนราโด ยัป (Conrado Yap) เมืองอิบา (Iba) จังหวัดซัมบาเลส (Zambales) นับเป็นอุปกรณ์แบบนี้ชิ้นที่ 2 แล้วซึ่งพบอยู่ใกล้ๆ แนวปะการังสโคโบโร โชล (Scarborough Shoal) ที่เกิดการพิพาทช่วงชิงกันอยู่ (ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน) ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (West Philippine Sea ชื่อเรียกขานของทางการฟิลิปปินส์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้ชื่อ “ทะเลจีนใต้” -ผู้แปล)
...
อุปกรณ์ทางทะเลนี้ได้ถูกส่งมอบให้แก่ตำรวจท้องถิ่น และในที่สุดแล้วสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯได้อ้างว่าเป็นเจ้าของและรับคืนไป
สำหรับโดรนลำแรกที่ถูกพบในลักษณะเช่นนี้นั้น รายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้อ้างอิงกล่าวถึงเอาไว้ดังนี้:
พวกชาวประมงจากเมืองซูบิก (Subic town) ก็ได้พบสิ่งที่ถูกระบุในเบื้องต้นว่าเป็นโดรนของสหรัฐฯลำหนึ่ง ที่บริเวณใกล้ๆ สคาร์โบโร เช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ … อุปกรณ์ทางทะเลนี้มีน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม และประทับตัวหนังสือว่า “สำนักงานสมุทรศาสตร์กองทัพเรือ, ยูเอสเอ” (Naval Oceanographic Office USA.)
ในรายงานข่าวนี้ระบุว่า เครื่องมือเหล่านี้คือ ยานสโลคุม ไกลเดอร์ ของเทเลไดน์-เว็บบ์
จากการที่รายงานข่าวเมื่อเดือนกันยายนของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ดูรายละเอียดข่าวซึ่งเป็นภาษาจีนได้ที่ http://military.people.com.cn/BIG5/n1/2016/0902/c1011-28685967.html) ได้กล่าวพาดพิงถึงเรื่องชาวประมงในทะเลจีนใต้พบโดรนใต้น้ำเช่นนี้เอาไว้ น่าที่จะส่อแสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับยานสโลคุม ไกลเดอร์ อยู่แล้ว ทั้งนี้รายงานข่าวชิ้นนี้เขียนเอาไว้ดังนี้:
ชาวประมงในทะเลจีนใต้เคยลากอวนติดยานไกลเดอร์ใต้น้ำลำหนึ่งขึ้นมา โดยยานดังกล่าวดูเหมือนเป็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นที่น่าสงสัยว่าไกลเดอร์ลำนี้กำลังถูกใช้สอดแนมบริเวณพื้นที่ฐานเรือดำน้ำของจีน ก่อนหน้านี้กองทัพเรือสหรัฐฯได้เคยออกประกาศ “กำลังค้นหาวัตถุที่สูญหาย” ฉบับหนึ่ง โดยระบุว่า ยานไกลเดอร์ใต้น้ำลำหนึ่งของตนได้สูญหายไปบริเวณใกล้เคียงทะเลจีนใต้ ... เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้มีพลังงานหรือมีพลังงานที่จำกัดมาก ดังนั้นพวกมันจึงไม่สามารถติดตามเรือดำน้ำหรือเรือผิวน้ำได้ ทว่าพวกมันสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในพื้นที่ฐานทัพท่าเรือแห่งสำคัญของข้าศึก และกระทำการสอดแนมได้
จากสิ่งที่กล่าวมานี้ เราจึงสามารถอนุมานได้อย่างมั่นใจว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ก) ตระหนักเป็นอย่างดีว่ากองทัพเรือสหรัฐฯกำลังส่งยานสโลคุมออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ ข) มีความสนใจถึงความเป็นไปได้ที่ยานเหล่านี้ นอกเหนือจากกำลังปฏิบัติงานตรวจวัดทางสมุทรศาสตร์อย่างธรรมดาๆ แล้ว ยังจะพยายามนำเอายาน UUV มาเรียงรายกันสร้างเป็นแนวรอบๆ ฐานเรือดำน้ำของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนบนเกาะไหหลำหรือเปล่า หรือไม่เช่นนั้นก็อาจช่วยเหลือการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเรือจีนทั้งหลายตรงบริเวณแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ค) ทราบแล้วว่าอุปกรณ์เหล่านี้อาจหลบลี้หนีหายจากการควบคุมของกองทัพเรือสหรัฐฯอยู่เป็นระยะๆ และ ง) คิดว่าอาจจะมีโอกาสที่จะเข้าไปกู้ยานแบบนี้มาสักลำหนึ่ง
เพิ่มเติมไปด้วยอีกข้อหนึ่งว่า จ) ฟิลิปปินส์ภายใต้การบริหารปกครองของ (ประธานาธิบดีโรดริโก ) ดูเตอร์เต ดูยังคงไม่พร้อมที่จะส่งยานสโลคุม ไกลเดอร์ ซึ่งกู้ขึ้นมาได้ให้แก่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงจะต้องทำงานสกปรกเช่นนี้ด้วยตนเอง
แนวความคิดที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีต้องการอย่างจริงจัง ในการเอามือของพวกเขาเข้าไปสัมผัสแตะต้องยานสโลคุม ไกลเลอร์ ซึ่งกองทัพเรืออเมริกันปล่อยออกมาปฏิบัติการในเขตทะเลจีนใต้นี้สักลำหนึ่ง ได้รับรับความสนับสนุนอย่างหนักแน่นมากขึ้นอีก จากเรือที่ใช้เพื่อกระทำการที่ต้องเรียกว่าเป็นการฉกชิงโดรนสหรัฐฯคราวนี้ เรือดังกล่าวคือ หนานจิ่ว 510 เรือลำนี้ถูกระบุว่าเป็นเรือกู้ภัยชั้น “ต้าหลาง 2” (Dalang II) มันเป็นเรืออาวุโสซึ่งตอนแรกเลยออกแบบมาเพื่อการกู้ภัย/ช่วยชีวิตเรือดำน้ำ และเวลานี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทัพเรือทะเลจีนใต้ (South China Sea fleet) ของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน บนเรือมีทั้งระฆังดำน้ำ (diving bell), เครนยก, เครื่องกว้าน, และชั้นวาง ดังนั้นถ้าหากน่านน้ำของฟิลิปปินส์ไม่ได้เกลื่อนกลาดไปด้วยเรือดำน้ำจีนที่จมลงใต้ทะเลแล้ว ก็เป็นเรื่องดีงามที่ หนานจิ่ว 510 ได้อยู่ในน่านน้ำเดียวกันกับ เบาดิตช์ เนื่องจากมันมีอุปกรณ์ที่สามารถเอาเรือเล็กลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว, จัดแจงคว้าโดรนที่ลอยน้ำขึ้นมาและฉวยยึดเอาไว้, จากนั้นเผ่นพรวดอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการเลือกเอาจังหวะเวลาตอนนี้สำหรับการปฏิบัติการที่จะต้องสร้างความเดือดดาลคราวนี้ จึงไม่ได้เนื่องมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำแถลงเกี่ยวกับไต้หวัน หรือการที่ พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส (Admiral Harry Harris ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ -ผู้แปล) ออกไปทัวร์ออสเตรเลียและยังคงพยายามป่าวร้องว่า “ยุทธศาสตร์การปัดหมุดยังไม่ตายยยย” ภาพสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนทราบดีว่าเรือ เบาดิตช์ อยู่ระหว่างการปฏิบัติการนำเอาพวกยาน สโลคุม ไกลเดอร์ ขึ้นจากน้ำเพื่อให้บริการต่างๆ หรือไม่ก็นำมาซ่อมแซม จึงมอบหมายหน้าที่ให้ หนานจิ่ว 510 คอยสะกดรอยตามไป และเนื่องจาก หนานจิ่ว 510 มีขนาดใหญ่กว่าอีกทั้งแล่นเร็วกว่า เบาดิตช์ จึงสามารถฉวยคว้าโอกาสอันหาได้ยากจากการโผล่ขึ้นเหนือน้ำของยานสโลคุมลำหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการเข้าจู่โจมอย่างรวดเร็วแล้วแล่นหนีไปพร้อมด้วยโดรนดำน้ำซึ่งฉกมาจากใต้จมูกของเรือเบาดิตช์
ความพยายามคราวนี้ตลอดจนความเอะอะโวยวายทางการทูตที่เกิดตามมา ทั้งหมดเหล่านี้ส่อแสดงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเชื่อว่ายานสโลคุม ไกลเดอร์ ในทะเลจีนใต้เหล่านี้ ต้องมีอะไรมากเกินกว่าแพกเกจตรวจวัดอุณหภูมิ/เก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ในทางสมุทรศาสตร์ธรรมดาๆ เท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้วกองทัพเรือสหรัฐฯก็กำลังเติมเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ เสริมเข้าไปในยานสโลคุม เป็นต้นว่าอุปกรณ์วัดตะกอนใต้ทะเลจากบริษัทซีควอยเอีย (Sequoia) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.sequoiasci.com/distributor-newsletters/august-2016-distributor-newsletter/) โดยมีการสันนิษฐานกันว่าเพื่อใช้รับมือกับการที่เรือดำน้ำจีนอาจพยายามแอบหลบหลีกการติดตามและออกไปจากทะเลจีนใต้ในช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่น นอกจากนั้นกองทัพเรือสหรัฐฯยังซื้อยานสโลคุมรุ่น “ชายฝั่ง” นั่นคือเหมาะแก่การปฏิบัติงานในน่านน้ำตื้นใกล้ฝั่งด้วย เป็นการเพิ่มเติมจากยานรุ่นที่ใช้ในเขตทะเลเปิดธรรมดาๆ ด้วยเหตุนี้จึงย่อมไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรซ์อะไรเลย ถ้าฝ่ายจีนเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า มันจะต้องมีกลอุบายใหม่ๆ บางอย่างซุกซ่อนอยู่ในถุง สโลคุม/ทะเลจีนใต้ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และต้องการตรวจดูให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน
ในฐานะที่เป็นเรือบริการลำหนึ่ง หนานจิ่ว 510 จึงไม่ได้ติดอาวุธหนักอะไร เรียกได้ว่าไม่ค่อยจะเป็นภัยคุกคามใหญ่โต แถมยังสามารถเปรียบเทียบเข้าคู่ในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่กับเรือ เบาดิตช์ ซึ่งก็จัดเป็นเรือในฝ่ายบริการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า กองบัญชาการขนส่งทางทะเล (Marine Sealift) ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องการช่วยเหลือกู้ภัยด้วย เรือเบาดิตช์ปฏิบัติการในลักษณะทำสัญญาให้ผู้รับเหมาพลเรือนเข้ามารับผิดชอบ จึงทำให้งานสอดรู้สอดเห็นของมันดูน่ารังเกียจลดน้อยลง และผมเชื่อว่า มีการจำกัดให้มันประกอบอาวุธเพียงแค่อาวุธประจำกายสำหรับการป้องกันตัว, ปืนเล็กยาว, และอะไรทำนองนี้ บางทีสาธารณรัฐประชาชนจีนคงจะให้ความใส่ใจอยู่เหมือนกันในการคัดเลือกเรือสำหรับใช้ดำเนินภารกิจปล้นชิงแบบโจรสลัดของตนคราวนี้ และคาดคำนวณไว้แล้วว่าการมีเรือช่วยรบติดอาวุธเบา 2 ลำเข้าไปแย่งชิงโดรนลำหนึ่ง คงจะไม่ถึงกับเป็นจุดชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา
ทว่านี่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับชาวอเมริกันที่เป็นพวกส่งเสียงเชียร์นโยบายปักหมุดสู่เอเชีย และพวกนายทหารพระธรรมนูญผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือสหรัฐฯ พวกเขาเหล่านี้เร่งรีบขมีขมันตีความลักษณะของยานสโลคัมไกลเดอร์ และจริงๆ แล้วก็ถึงขั้นครอบคลุมหมายรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ลอยน้ำได้ซึ่งโยนออกมาจากดาดฟ้าของเรือสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯลำใดลำหนึ่ง ว่าเท่ากับ “เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯที่พึงได้รับความคุ้มครองตามหลักความคุ้มกันของอธิปไตย” (US Navy vessel enjoying sovereign immunity) การตีความแบบเกินเลยไปไกลเอามากๆ ประเภทนี้ ผมอยากจะชี้ว่า ไม่จำเป็นจะต้องทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลายเป็นฝ่ายผิดขึ้นมาหรอก กฎหมายทะเลตามประเพณีนั้นมีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องว่าด้วยการสงวนรักษากรรมสิทธิ์แห่งข้าวของที่ตกอยู่ในน้ำ แม้กระทั่งข้าวของซึ่งมาจากเรือที่จมลงไปแล้ว “คนที่พบสามารถเก็บขึ้นมาได้ เพียงแต่อย่าตัดทำลายมันเท่านั้น” (“Finders keepers” just doesn’t cut it ดูรายละเอียดได้ที่ http://arstechnica.com/tech-policy/2016/03/2-men-take-us-govt-ocean-science-buoy-now-want-to-sell-it-back-for-13000/)
ฝ่ายจีนตระหนักเป็นอันดีในเรื่องนี้ และอย่างน้อยก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้ผมเลย จากการที่พวกเขาตกลงที่จะส่งโดรนใต้น้ำลำนี้คืน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.cnn.com/2016/12/17/politics/china-drone-donald-trump/) ถึงแม้ไม่ได้มีการระบุวันเวลาที่แน่นนอนชัดเจน และอาจจะคืนในสภาพที่ถูกแยกออกเป็นล้านๆ ชิ้น โดยสันนิษฐานได้ว่าพวกเขาจะต้องผ่าดูข้างในอย่างละเอียดถี่ถ้วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อโดรนกำลังแพร่กระจายออกไปในทะเลจีนใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็กำลังหาทางกำจัดพวกมันทิ้งไปเสมือนกับว่าเป็นแมลงสาบใต้น้ำ ดังนั้นแดนมังกรจึงไม่น่าที่จะยึดถืออย่างจริงจังอะไรต่อข้อร้องเรียนของกองทัพเรือสหรัฐฯเกี่ยวกับความคุ้มกันทางอธิปไตยของพวกเขา ผมสงสัยด้วยว่ายังจะมีชาติอื่นๆ นอกเหนือจากพวกซึ่งตกเป็นข้าช่วงใช้ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าร่วมในการตีความยึดถือว่าความรุนแรงที่กระทำต่อโดรนเช่นนี้เป็นเหตุแห่งสงคราม (casus belli) ตรงกันข้ามพวกเขาอาจจะเข้าร่วมการเรียกร้องให้สร้างข้อตกลงความเข้าใจระดับนานาชาติเกี่ยวกับการใช้และการปฏิบัติต่อเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมา
แน่นอนทีเดียว ความเคลื่อนไหวอย่างหลังนี้กลับเป็นสิ่งซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯถือว่าน่ารังเกียจและสมควรแก่การประณาม ทั้งนี้กองทัพเรือสหรัฐฯคือหน่วยงานซึ่งมีความทะเยอทะยานอันไร้ขีดจำกัดและมีการเรียกร้องของบประมาณอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน สืบเนื่องจากความยึดถืออย่างอ้อมๆ ต่อแนวคิดที่ว่า ยิ่งลดข้อจำกัดในการปฏิบัติการของพวกเขาลงไปได้เท่าใด ก็จะยิ่งเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากความได้เปรียบทั้งในทางวัตถุ, เทคนิค, และที่ตั้ง ในอาณาบริเวณน่านน้ำทั้งหลาย
ทว่ามาถึงตอนนี้กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กลับกำลังประกาศแนวคิดที่ว่า ทะเลจีนใต้คือน่านน้ำสำหรับการแบ่งปันกัน –และก็สำหรับการโจรกรรมด้วย และกองทัพเรือสหรัฐฯก็อาจจะต้องคอยทำความคุ้นชินกับเรื่องอย่างนี้
(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์จะไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)
หมายเหตุผู้แปล
หลังจากที่เรือของนาวีจีนยึดโดรนใต้น้ำลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และเกิดปฏิกิริยาตลอดจนการประท้วงต่างๆ ดังที่ ปีเตอร์ ลี กล่าวและวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นข้างต้นนี้แล้ว ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม ทางการจีนแถลงว่าได้ส่งคืนโดรนลำดังกล่าวแล้ว และฝ่ายสหรัฐฯก็ได้แถลงยืนยัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังมีการเอ่ยคำพูดที่เชือดเฉือนกันอยู่ในทีตามเคย เพื่อให้การติดตามเรื่องนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงขอเก็บความนำเอารายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องการส่งมอบคืนโดรนนี้ของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของข่าวชิ้นนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-usa-china-drone-idUSKBN1490EG) มาเสนอในที่นี้:
จีนคืนโดรนใต้น้ำแล้ว สหรัฐฯประณามไม่เลิก ระบุยึดไปอย่าง ‘ผิดกฎหมาย’
โดย เบน บลังชาร์ด
China returns underwater drone, U.S. condemns "unlawful" seizure
By Ben Blanchard
ปักกิ่ง - ปักกิ่งแถลงในวันอังคาร (20 ธ.ค.) ว่า ได้ส่งคืนโดรนใต้น้ำของสหรัฐฯลำหนึ่ง ซึ่งเรือของกองทัพเรือแดนมังกรในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ได้เก็บกู้เอาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ทางการจีนระบุว่า การส่งมอบกระทำกัน “ภายหลังได้มีการปรึกษาหารือกันฉันมิตร” กับฝ่ายสหรัฐฯ ทางด้านวอชิงตันแถลงยืนยันเรื่องนี้แต่ก็ยังคงเน้นย้ำการวิพากษ์วิจารณ์ของตนที่ว่า การที่ปักกิ่งยึดยานของตนไปเช่นนี้เป็นการกระทำที่ "ผิดกฎหมาย"
จากการที่แดนมังกรยึดยานใต้น้ำที่ไร้คนบังคับควบคุมของอเมริกาลำนี้ ภายในเขตน่านน้ำระหว่างประเทศใกล้ๆ กับฟิลิปปินส์ ได้จุดชนวนให้วอชิงตันทำการประท้วงทางการทูต รวมทั้งก่อให้เกิดเสียงคาดเดากันว่ามันจะเป็นการเพิ่มความถูกต้องชอบธรรมมากขึ้นให้แก่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเปล่า ในเวลาที่เขากำลังหาทางใช้นโยบายที่ขึงขังหนักแน่นยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง
ทั้งนี้เรือของกองทัพเรือจีนลำหนึ่งได้เข้ายึดโดรนลำนี้ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15 ธ.ค.) ที่บริเวณห่างจากอ่าวซูบิกในฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 50 ไมล์ทะเล โดยที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) บอกว่าโดรนลำดังกล่าวใช้เทคโนโลยีที่ไม่ใช่ความลับและสามารถซื้อหาได้ในเชิงพาณิชย์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสมุทรศาสตร์
ในวันอังคาร (20 ธ.ค.) กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวในคำแถลงสั้นๆ ว่า ได้ส่งโดรนลำนี้คืนให้สหรัฐฯแล้วในวันเดียวกันนี้
“ภายหลังได้มีการปรึกษาหารือกันฉันมิตรระหว่างฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ งานส่งมอบโดรนใต้น้ำสหรัฐฯลำนี้ก็ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ราบรื่นในบริเวณน่านน้ำที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ เมื่อเวลาราวเที่ยงวัน” คำแถลงของกระทรวงกลาโหมจีนบอก
กระทรวงกลาโหมจีนไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการส่งมอบมากไปกว่านี้ เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์พยายามติดต่อสอบถามไป
สำหรับเพนตากอนนั้นแจ้งว่า ยานดังกล่าวได้ถูกมอบคืนให้แก่เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี “ยูเอสเอส มัสทิน” (USS Mustin) ของสหรัฐฯ ใกล้ๆ กับบริเวณซึ่งมัน “ถูกยึดไปอย่างผิดกฎหมาย” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังเรียกร้องให้จีนเคารพปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และงดเว้นจากการใช้ความพยายามอื่นๆ ต่อไปอีกเพื่อขัดขวางกิจกรรมต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย
“สหรัฐฯยังคงมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดยึดถือบรรดาหลักการและบรรทัดฐานต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเสรีภาพของการเดินเรือและการบิน โดยที่จะยังคงบิน, แล่นเรือ, และปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ในบริเวณใดก็ตามซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต” ปีเตอร์ คุก เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของเพนตากอนระบุในคำแถลง
ต่อมาในวันเดียวกัน ระหว่างการแถลงข่าวตามปกติ เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับการส่งมอบคืนโดรนให้ฝ่ายอเมริกัน ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ของกรณีนี้ หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบว่าต้องไปสอบถามกระทรวงกลาโหมจีน
อย่างไรก็ดี เธอชี้ว่า “จากการรับมือกับเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารของจีนและของสหรัฐฯมีช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารกันได้อย่างค่อนข้างราบรื่น เราคิดว่าช่องทางการสื่อสารนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการสื่อสารกันอย่างทันเวลา และสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการคาดคำนวณผิดหรือการเข้าใจผิด”
“สำหรับสิ่งที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแถลงออกมานั้น ดิฉันต้องนำไปขอคำยืนยันกับฝ่ายทหาร (จีน) ก่อน แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่พวกเขากล่าวมานั้นไร้เหตุผล เพราะอย่างที่เราได้พูดอยู่เสมอมาว่า กองทัพสหรัฐฯนั้นได้ส่งเรือและเครื่องบินเคลื่อนเข้ามาประชิดเพื่อการสอดแนมและการสำรวจต่างๆ ทางการทหารในน่านน้ำซึ่งอยู่ตรงหน้าจีนอยู่เป็นประจำโดยที่ได้กระทำเช่นนี้มานานแล้ว การกระทำเช่นนี้เป็นการคุกคามต่ออธิปไตยและความมั่นคงของจีน” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว
“จีนคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อเรื่องนี้ และเรียกร้องเสมอมาให้สหรัฐฯยุติกิจกรรมต่างๆ ประเภทนี้ ดิฉันคิดว่านี่ (การกระทำของสหรัฐฯ) คือสาเหตุของเรื่องนี้หรือเหตุการณ์อื่นๆ ทำนองเดียวกัน”
การที่จีนยึดโดรนใต้น้ำคราวนี้ ยิ่งทำให้สหรัฐฯเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนกำลังขยายการปรากฏตัวทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ และแสดงท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานยิ่งขึ้นทุกทีในกรณีพิพาทต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ รวมทั้งการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในที่มั่นทางทะเลแห่งต่างๆ ของตนในทะเลแห่งนี้
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งจีนก็แสดงความระแวงสงสัยอย่างล้ำลึกต่อกิจกรรมทางทหารใดๆ ก็ตามของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ซึ่งมั่งคั่งด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยที่สื่อของรัฐและผู้เชี่ยวชาญของจีนระบุว่าการใช้โดรนใต้น้ำเช่นนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯที่จะสอดแนมตรวจการณ์ในเขตน่านน้ำพิพาทนี้
กองทัพเรือสหรัฐฯนั้นมีโดรนใต้น้ำทำนองนี้ประมาณ 130 ลำ ยานเหล่านี้ผลิตโดยเทเลไดน์ เว็บบ์ แต่ละลำมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลเมตร และสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 5 เดือน ยานแบบนี้กำลังถูกใช้งานกันในทั่วโลก โดยทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมหาสมุทรที่ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นความลับ เป็นต้นว่าอุณหภูมิและระดับความลึก
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีโดรนใต้น้ำเช่นนี้ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนเท่าใดในทะเลจีนใต้