รอยเตอร์ - กระทรวงกลาโหมของจีนระบุในวันนี้ (20) จีนคืนโดรนใต้น้ำของสหรัฐฯที่ถูกเรือรบจีนยึดในทะเลจีนใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการเจรจา "อย่างเป็นมิตร" ระหว่างสองประเทศ
การยึดยานพาหนะไต้น้ำไร้คนขับ (ยูวีวี) ของจีนจุดชนวนการประท้วงทางการทูตและการคาดการณ์กันว่ามันจะยิ่งเปิดช่องให้กับว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์หรือไม่ ในขณะที่เขาพยายามแสดงบทบาทที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับปักกิ่ง
เรือของกองทัพเรือจีนยึดโดรนลำดังกล่าวซึ่งเพนตากอนระบุว่าใช้เทคโนโลยีที่หาซื้อได้ทั่วไปเพื่อรวบรวมข้อมูลทางสมุทรศาสตร์เมื่อวันพฤหัสบดี (15) ห่างจากอ่าวซูบิกในฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 50 ไมล์ทะเล
ในถ้อยแถลงสั้นๆ กระทรวงกลาโหมของจีนระบุว่า โดรนลำดังกล่าวถูกส่งกลับไปยังสหรัฐฯแล้ว
"หลังจากการปรึกษาหารืออย่างเป็นมิตรระหว่างฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ งานส่งมองโดรนใต้น้ำขิงสหรัฐฯได้สำเร็จลุล่วงอย่างราบรื่นในน่านน้ำเกี่ยวพันในทะเลจีนใต้เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 20 ธันวาคม" กระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลง
กระทรวงกลาโหมไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งมอบดังกล่าว
การยึดโดรนในครั้งนี้ทวีความกังวลของสหรัฐฯเกี่ยวกับการแสดงตนทางทหารและท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้รวมถึงการแสดงแสนยานุภาพบริเวณด่านหน้าทางทะเล
กองทัพเรือสหรัฐฯมีโดรนใต้น้ำราว 130 ลำที่ผลิตโดยบริษัท Teledyne Webb แต่ละลำหนัก 60 กิโลกรัมและสามารถอยู่ใต้น้ำนานสุดถึง 6 เดือน พวกมันถูกใช้เพื่อรวมรวมข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับมหาสมุทรรวมถึงอุณหภูมิและความลึก โดรนเหล่านี้ถูกใช้ทั่วโลกแต่ไม่แน่ชัดว่าถูกใช้ในทะเลจีนใต้จำนวนเท่าใด
จีนระแวดระแวดระวังกิจกรรมทางทหารใดๆ ก็ตามของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้อันอุดมด้วยทรัพยากร สื่อทางการและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การใช้โดรนนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสอดแนมของสหรัฐฯในน่านน้ำพาทแห่งนี้