เอเอฟพี - คณะผู้เลือกตั้งสหรัฐฯ (Electoral College) โหวตรับรอง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ท่ามกลางความผิดหวังของฝ่ายต่อต้านที่พยายามเตะสกัดจนวินาทีสุดท้ายไม่ให้ ทรัมป์ ได้ครองบัลลังก์ทำเนียบขาว
สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า คณะผู้เลือกตั้งโหวตรับรอง ทรัมป์ เกินกว่า 270 เสียง ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้มหาเศรษฐีปากเปราะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อย่างสง่างามในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า แม้ว่าจะมีคณะผู้เลือกตั้ง 7 คนที่แหวกธรรมเนียมไม่โหวตเลือกผู้สมัครของพรรคตนเอง ซึ่งถือเป็นการก่อ “กบฏ” ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี
“เราทำได้แล้ว!” ทรัมป์ วัย 70 ปี ทวีตข้อความทันทีที่ทราบผล
“ขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนผม เราเพิ่งจะชนะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ (แม้พวกสื่อจะพยายามบิดเบือนสารพัดก็ตาม)”
คำแถลงจากทีมงานของ ทรัมป์ ระบุว่า ว่าที่ประธานาธิบดีรู้สึกปลาบปลื้มกับคะแนนโหวตที่เทให้เขา “อย่างท่วมท้น” และได้หยิบยื่นไมตรีแก่พรรคเดโมแครตที่พยายามขัดขวางการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของเขาทุกวิถีทาง
“ขั้นตอนประวัติศาสตร์นี้ทำให้เราสามารถมองไปยังอนาคตที่สดใสเบื้องหน้า... ผมจะทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชาติ และจะเป็นประธานาธิบดีของชาวอเมริกันทุกคน”
ในสถานการณ์ปกติ การโหวตของคณะผู้เลือกตั้งไม่เป็นที่จับตามองมากนัก เพราะไม่ต่างจากการแสตมป์ตรายางรับรองผลการเลือกตั้งในแต่รัฐเท่านั้น ทว่าความขัดแย้งอย่างหนักในสังคมอันเกิดจากบุคลิกที่ก้าวร้าวของ ทรัมป์ และความเป็นจริงที่ว่า ฮิลลารี คลินตัน ได้คะแนน “ป๊อปปูลาร์โหวต” มากกว่าเกือบ 3 ล้านเสียง ทำให้หลายฝ่ายคาดเดาว่าอาจจะมีการก่อกบฏที่ทำให้เกมพลิกในนาทีสุดท้าย
ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้นมีอยู่ว่า เมื่อชาวอเมริกันออกไปลงคะแนนในวันที่ 8 พ.ย. พวกเขาไม่ได้เลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตรง แต่เลือกคณะผู้เลือกตั้งจากแต่ละรัฐ รวมทั้งหมด 538 คน ที่จะเข้าไปตัดสินว่าตัวแทนพรรคใดจะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่
ผลเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ทำให้ ทรัมป์ ได้คณะผู้เลือกตั้งมาทั้งหมด 306 คน
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวจากพรรคเดโมแครตพยายามโน้มน้าวให้คณะผู้เลือกตั้งปฏิเสธการโหวตให้มหาเศรษฐีปากเปราะ พร้อมเตือนว่าการได้ประธานาธิบดีอย่าง ทรัมป์ จะเป็นภัยแก่ชาติ
อย่างไรก็ตาม การปิดเส้นทางสู่ทำเนียบขาวของ ทรัมป์ จะต้องมีคณะผู้เลือกตั้งของรีพับลิกันยอมก่อกบฏอย่างน้อย 37 คน ซึ่งเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า มีคณะผู้เลือกตั้ง 7 คนที่ “ตระบัดสัตย์” ไปเลือกผู้สมัครของพรรคตรงข้าม ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์
คริสโตเฟอร์ ซูพรุน ผู้เลือกตั้งสายรีพับลิกันจากรัฐเทกซัส เคยประกาศว่าจะไม่โหวตให้ ทรัมป์ เพราะเห็นว่ามหาเศรษฐีผู้นี้ไร้คุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำอเมริกา อีกทั้งเครือข่ายธุรกิจในต่างแดนของ ทรัมป์ ยังอาจทำให้เกิดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนตามมา
ซูพรุน ยอมรับว่า การแสดงจุดยืนเช่นนี้ทำให้ตนได้รับคำขู่เอาชีวิต
การล่ารายชื่อออนไลน์เพื่อกดดันให้คณะผู้เลือกตั้งละทิ้ง ทรัมป์ มีผู้เข้าชื่อสนับสนุนมากถึง 5 ล้านคน รวมถึงนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง มาร์ติน ชีน ซึ่งเคยอัดคลิปวีดีโอเรียกร้องให้คณะผู้เลือกตั้งคว่ำบาตร ทรัมป์
คณะกรรมการพรรครีพับลิกันแห่งชาติ (RNC) ออกมาแสดงความยินดีต่อผลโหวตของคณะผู้เลือกตั้ง และเรียกร้องให้พรรคเดโมแครตยอมรับในชัยชนะของ ทรัมป์ ด้วย
“การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ” ชารอน เดย์ ประธานร่วมอาร์เอ็นซี ระบุในถ้อยแถลง
“เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ขอให้พรรคเดโมแครตจงยุติความพยายามบั่นทอนความชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้”
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทรัมป์ คึกคักเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่วันมานี้ หลังประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ออกมาสรุปตรงกันว่า รัสเซียส่งแฮกเกอร์เข้ามาเจาะบัญชีอีเมลของเจ้าหน้าที่พรรคเดโมแครต และเปิดโปงข้อมูลทำลายชื่อเสียงของ คลินตัน เพื่อโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเปลี่ยนใจไปเลือก ทรัมป์
ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะประกาศผลโหวตของคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ม.ค. ก่อนที่ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีประมาณ 2 สัปดาห์