เอเจนซีส์ – ทีมคลังสมองอเมริกาอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียมระบุจีนติดตั้งอาวุธเพิ่มบนเกาะเทียมทั้ง 7 แห่งในทะเลจีนใต้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไปคือการเปิดใช้สนามบินบนเกาะเทียมเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่กระทรวงกลาโหมแดนมังกรย้ำคำเดิมว่า กิจกรรมบนเกาะเทียมทั้งหมดมีจุดประสงค์ด้านพลเรือนเป็นหลัก ส่วนการดำเนินการทางทหารก็ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมาย
เอเชีย มาริไทม์ ทรานสปาเรนซี อินิชิเอทีฟ (AMTI) จากเซ็นเตอร์ ฟอร์ สเตรทเตอจิก แอนด์ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันพุธ (14) ว่า ได้ติดตามการก่อสร้างโครงสร้างรูปหกเหลี่ยมบนแนวปะการังเฟียรีครอสส์, มิสชีฟ และซูบีในหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้นับจากเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม
AMTI เสริมว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายในเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนโครงสร้างเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการติดตั้งปืนต่อต้านอากาศยานและระบบป้องกันระยะประชิด (CIWS) เพื่อต่อต้านการโจมตีจากขีปนาวุธ ซึ่งขณะนี้ จีนได้ติดตั้งระบบเหล่านี้บนเกาะเทียมทั้ง 7 เกาะแล้ว
AMTI สำทับว่า ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า จีนจริงจังกับการปกป้องเกาะเทียมในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินทางการทหารในทะเลจีนใต้ และระบบเหล่านี้ยังถือเป็นปราการด่านสุดท้ายในการรับมือขีปนาวุธของอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ที่มุ่งโจมตีฐานทัพอากาศบนเกาะเทียมเหล่านั้นที่คาดว่า จะเริ่มปฏิบัติการเร็วๆ นี้
เกร็ก โพลลิ่ง ผู้อำนวยการ AMTI เผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ AMTI มั่นใจว่า โครงสร้างที่เฝ้าจับตามาหลายเดือนบนเกาะเทียมของจีนเป็นระบบต่อต้านอากาศยานและ CIWS ขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จีนยืนยันว่า มีไว้เพื่อป้องกันดินแดนเท่านั้น แต่ด้วยขนาดแล้ว ปักกิ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งในอนาคต
รายงานยังระบุว่า การติดตั้งเหล่านี้มีแนวโน้มเพื่อใช้สนับสนุนระบบต่อต้านรวมที่จะมีการติดตั้งฐานยิงจรวดจากพื้นผิวสู่อากาศ (SAM) เคลื่อนที่ เช่น ระบบ HQ-9 ที่ติดตั้งบนเกาะวูดี้ในหมู่เกาะพาราเซลแล้วในอนาคต
สอดคล้องกับรายงานข่าวจากฟ็อกซ์ นิวส์เมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า มีการตรวจพบชิ้นส่วนระบบ SAM ที่ท่าเรือเจียหยางทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีปลายทางที่ทะเลจีนใต้
เอียน สตอรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้จากสถาบันไอซีส์ ยูซอฟ อิสฮัคในสิงคโปร์ เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนตามรายงานของ AMTI มีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับขั้นตอนที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนนี้ในการนำเครื่องบินรบและเครื่องบินขนส่งทางทหารลงจอดบนสนามบินบนเกาะเทียม เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า เกาะเทียมเหล่านั้นออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้เป็นด่านหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้
ชาร์ลส์ โฆเซ โฆษกกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์เผยว่า มะนิลากำลังตรวจสอบรายงานดังกล่าว ซึ่งหากเป็นจริงจะถือว่า น่ากังวลอย่างยิ่งเนื่องจากมีแนวโน้มทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นอีก และบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
.
.
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมจีนออกแถลงการณ์ย้ำว่า การพัฒนาต่างๆ บนเกาะเทียมมีจุดประสงค์ด้านพลเรือนเป็นหลัก แต่สำทับว่า มาตรการทางการทหารที่ดำเนินการเหมาะสมและถูกกฎหมาย
อเมริกานั้นวิจารณ์การประจำการณ์ทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้มาโดยตลอด และย้ำความจำเป็นของเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน ด้วยการลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลใกล้เกาะเทียมของจีนเป็นระยะ สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อปักกิ่ง
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังวิจารณ์พฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ และส่งสัญญาณว่า อาจใช้แนวทางแข็งกร้าวกับปักกิ่งมากกว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่กำลังจะลาตำแหน่งปลายเดือนหน้า
ด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อรายงานของ AMTI กระนั้น จอห์น เคอร์บี้ โฆษกของกระทรวงฯ เรียกร้องให้จีนและทุกประเทศที่อ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ แก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ยับยั้งการสร้างเกาะเทียมและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งการประจำการณ์ทางทหารเพิ่มเติม
วันเดียวกันนั้น พลเรือเอกแฮร์รี่ แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองกำลังแปซิฟิกของอเมริกา กล่าวระหว่างปราศรัยที่ซิดนีย์ว่า วอชิงตันจะไม่ยอมให้มีการยึดดินแดนที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะเข้าไปสร้างฐานที่มั่นหรือเกาะเทียมมากมายแค่ไหนก็ตาม และว่า อเมริกาพร้อมร่วมมือเมื่อทำได้ แต่ก็พร้อมเผชิญหน้าถ้าจำเป็น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เกง ฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ปัจจุบันมีเสถียรภาพอย่างมากจากการดำเนินการของจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และจีนหวังว่า อเมริกาจะรักษาสัญญาในการไม่เลือกข้างในข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รวมทั้งเคารพความพยายามของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ.
.
.