ระนอง - ประชุมจัดระเบียบเกาะพยาม “มัลดีฟส์เมืองไทย” ตามคำสั่ง คสช. ลงพื้นที่พิสูจน์สิทธิคัดแยกรีสอร์ตนับร้อยแห่งสร้างในเขต ส.ป.ก.ป่าสงวน เผยพบมีลงทุนนับร้อยล้านสร้างในป่าชายเลนเข้าข่ายเพิกถอน พร้อมป้องกันปัญหาเรียกคืนที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมที่นำไปให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้
จากกรณี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 รับผิดชอบพื้นที่ชุมพร-ระนอง สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ นำโดย พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม บก.ควบคุม มทบ.44 ลงพื้นที่เกาะพยาม หรือที่เรียกกันว่า “มัลดีฟส์เมืองไทย” พื้นที่หมู่ 1 ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ตรวจสอบผู้มีอิทธิพล กลุ่มนายทุนคนไทย และต่างชาติสร้างรีสอร์ต บังกะโล โดยไม่ขออนุญาตกว่า 100 แห่ง ในเขต ส.ป.ก. และป่าสงวน ผิดกฎหมาย ตามที่ทีมข่าวภูมิภาคนำเสนอต่อเนื่องนั้น
วันนี้ (14 ธ.ค.) นายถิน พิสูจน์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ระนอง ประธานคณะทำงานตรวจสอบจัดระเบียบเกาะพยาม ตามคำสั่ง พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 ในฐานะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประจำมณฑลทหารบก 44 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งแรก พร้อมด้วย พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม บก.ควบคุม มทบ.44 ร.ท.นิติธร จันทร์แก้ว หน.ชป.กกล.รส.ร 25 พัน 2 นายศุภชัย สุกใส ผอ.ส่วนป้องกันและปราบปรามป่าไม้ภาคใต้ นายลักษณ์ แก้วมณี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง นายจิรศักดิ์ จารุศักดาเดช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง นายณัฐพล อ๋องสุวรรณ หัวหน้าหน่วย รน.8 (บ่อน้ำร้อน) พ.ต.อ.เรืองเดช สุวรรณพิกุล ผกก.สภ.ปากน้ำระนอง นายสุมิตร คะแนน สถานีป่าชายเลนที่ 10 ระนอง และหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วม 30 คน ณ ห้องประชุมอำเภอเมืองระนอง
ประธานที่ประชุมได้สอบถามข้อมูลพื้นที่บนเกาะพยาม จากผู้เกี่ยวข้องในการร่วมกันพิจารณา พบว่า เกาะพยาม มีเนื้อทั้งหมด 10,371 ไร่ ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดบนเกาะพยาม เมื่อ พ.ศ.2516 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แยกเป็นป่าชายเลนกว่า 500 ไร่ และประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2536 จำนวนกว่า 5,381 ไร่ แต่ส่งมอบคืนให้กรมป่าไม้ตามข้อตกลง 466 ไร่ เหลือพื้นที่จริง 4,915 ไร่ เพื่อนำไปปฏิรูปให้แก่เกษตรกรทำกิน
ปัจจุบัน มีนายทุนไปสร้างรีสอร์ต บังกะโล ในเขตป่าสงวน จำนวน 29 ราย 36 แปลง ครอบครองถูกต้อง เพียง 9 แปลง อีก 27 แปลงผิดเงื่อนไข นอกจากนั้น ยังมีรีสอร์ต บังกะโลสร้างในเขต ส.ป.ก.ทั้งที่ยังไม่ได้อนุญาต และที่ออกหลักฐาน ส.ป.ก.4-01 อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้วอีกจำนวนมากซึ่งถือว่าผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ ส.ป.ก. รวมรีสอร์ตทั้งหมดบนเกาะที่ผิดกฎหมายเกือบร้อยแห่ง ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มทุนนอกพื้นที่ทั้งคนไทย และต่างชาติที่มาสร้างโดยซื้อขายสิทธิเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิม และไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
นอกจากนั้น ยังพบรีสอร์ตขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งลงทุนกว่าร้อยล้านบาท สร้างที่พักบังกะโลลักษณะคล้าย “เกาะมัลดีฟส์” ในต่างประเทศอยู่ในเขต ส.ป.ก. มีน้ำท่วมขังขึ้นลงตามธรรมชาติที่เป็นป่าชายเลนสมบูรณ์โดยสภาพซึ่งเข้าข่ายต้องเพิกถอนด้วย
ในที่ประชุมเห็นว่าปัญหาเกาะพยาม อยู่ในความสนใจของประชาชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องระดับชาติ พร้อมกำหนดแนวทางโดยให้คณะกรรมการลงพื้นที่สำรวจแยกแยะคัดกรองกรณีมีข้อพิพาทการซื้อขายสิทธิซ้ำซ้อน การเปลี่ยนมือผู้ถือครองสิทธิ การบุกรุกสร้างรีสอร์ตว่าอยู่ในรับผิดชอบของหน่วยงานใด ตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังการเข้าทำธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไข และใช้มาตรการทางกฎหมายตามหน้าที่รับผิดชอบ
ส่วนกรณีพื้นที่ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ให้คณะทำงานตรวจสอบทั้งหมดว่ามีพื้นที่ใดเป็นป่าชายเลนโดยสภาพป่าไม้สมบูรณ์ และป่าเสื่อมสภาพที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่ราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ทำกินได้ เพื่อเสนอให้ส่งมอบกลับคืนแก่กรมป่าไม้ และป่าชายเลนไปดูแลบำรุงรักษาต่อไป ส่วนวันลงพื้นที่ดำเนินการให้คณะกรรมการทุกหน่วยงานเตรียมแผนผังระวางจุดพิกัดที่ชัดเจนแล้วนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในปลายเดือนธันวาคนนี้ เพื่อกำหนดวันและระยะเวลาลงพื้นที่
นายถิน พิสูจน์ ผอ.ทสจ.ระนอง ประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า คณะทำงานทุกคนมีภารกิจในการทำความจริงให้ปรากฏตามคำสั่งของ พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 เพื่อจัดระเบียบเกาะพยาม ที่มีปัญหามานาน โดยเน้นการครอบครองสิทธิ์ของเจ้าของเดิมทั้งที่ ส.ป.ก. ป่าสงวน ซึ่งหากพบว่าไม่ได้ทำกินแล้ว และมีการซื้อขายสิทธิให้ผู้อื่นก็ถือว่าผิดเงื่อนไขทั้งเจ้าของเดิม และผู้ซื้อ ดังนั้น เมื่อได้ข้อสรุปจะได้นำปัญหาบนเกาะพยามทั้งหมดเสนอให้ส่วนกลางทั้งรัฐบาล และ คสช.พิจารณาดำเนินการต่อไป