xs
xsm
sm
md
lg

ฉก.มทบ.44 ตรวจสอบรีสอร์ต บังกะโล กว่า 100 แห่งบนเกาะพยาม พบผิดหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชุมพร - ชุดเฉพาะกิจ มทบ.44 ตรวจสอบรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศกว่า 100 แห่ง บนเกาะพยาม “มัลดีฟส์เมืองไทย” พบผิดกฎหมายทั้งหมด สร้างอยู่บนที่ดิน ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติ

วันนี้ (14 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง ได้มอบหมายให้ชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ นำโดย พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว นายทหารยุทธโยธา บก.ควบคุม มทบ.44 จ.ส.อ.กิตติ มณฒิราช รองหัวหน้าชุด จ.ส.อ.ปรีชา สุขสกุล เจ้าหน้าที่สอบสวนและรับข้อมูล จ.ส.อ.สุชาติ มากประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่สืบสวน จ.ส.อ.อมร ชัยขรรค์ เจ้าหน้าที่พิสูจน์พิกัดดาวเทียม จ.ส.ต.อนุศิษฐ์ ม่วงคำ เจ้าหน้าที่ภาพถ่ายทางอากาศและระวางพิกัดแผนที่ดาวเทียม ร่วมกับ นายสมหวัง จันทร์ฉาย หน.สายตรวจสาย 4 ระนอง นายณัฐพล อ๋องสุวรรณ หน.หน่วยระนอง 8 (บ่อน้ำร้อน) เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.และเจ้าหน้าที่ป่าชายเลน นำกำลังรวมกว่า 20 นาย ลงพื้นที่เกาะพยาม ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง เพื่อตรวจสอบกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนายทุนบุกรุกสร้างบังกะโล รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศริมทะเล ในเขตที่ดิน ส.ป.ก. และป่าสงวนแห่งชาติ

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ตำบลเกาะพยาม อยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตำบลปากน้ำระนอง 33 กม. มีพื้นที่ทั้งหมด 34.7 ตร.กม. จำนวน 21,683.17 ไร่ แยกเป็น หมู่ที่ 1 บ้านเกาะพยาม 10,371.981 ไร่ และหมู่ที่ 2 บ้านเกาะช้าง 11,311.190 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 1 เกาะพยามนั้น ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ มีคนไทย และชาวต่างชาติมาเที่ยวพักผ่อนจำนวนมากถือเป็น 1 ใน 5 แห่ง ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “มัลดีฟส์เมืองไทย”

โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเก็บข้อมูลรายชื่อสถานประกอบการ และเจ้าของบังกะโล รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศทั้งหมดที่อยู่ริมทะเลรอบๆ เกาะ จำนวน 61 แห่ง พบว่า ทั้งหมดสร้างอยู่ในพื้นที่เขต ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากต่างถิ่น ชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย อดีตนักการเมือง และอดีตข้าราชการระดับสูง เงินลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านขึ้นไป นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานว่ามีการซื้อขายสิทธิการครอบครองที่ดินกันหลายทอดจนเกิดปัญหาข้อพิพาทจำนวนมาก และยังพบว่า มีอดีตผู้นำท้องถิ่นได้ออกโฉนดชุมชนหลอกขายให้แก่นักลงทุนชาวไทย และต่างประเทศรวมพื้นที่หลายร้อยไร่

พ.ท.ดุสิต กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ทราบเพื่อเก็บรวมรวมข้อมูลหลักฐานในพื้นที่ พบว่า บนเกาะพยาม มีที่ดินอยู่ 3 ประเภท คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2516 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติปี พ.ศ.2507 ที่ดินป่าชายเลนโดยสภาพที่มีน้ำทะเลท่วมถึง และที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 4 พ.ค.36

ดังนั้น การสร้างบังกะโล รีสอร์ต ที่พักที่อยู่ริมทะเลและบนเกาะรวมกว่า 100 แห่ง ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะสร้างอยู่ในที่ดินดังกล่าว จากการตรวจสอบ 90% เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่และขนาดกลางจากนอกพื้นที่ มีคนไทย และชาวต่างชาติเข้ามาซื้อสิทธิการครอบครองในที่ดินสร้างรีสอร์ต บ้านพัก บังกะโล เป็นอาคารขนาดใหญ่มั่งคงถาวร ส่วนอีก 10% เป็นกลุ่มทุนขนาดเล็กของชาวบ้านในท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานมีอดีตผู้นำท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลบางคนได้จัดสรรที่ดินออกเป็นโฉนดชุมชนขายให้แก่กลุ่มนายทุนทั้งคนไทย และต่างชาติอีกนับร้อยไร่ มูลค่าหลัก 100 ล้านบาท โดยโฉนดชุมชนดังกล่าวทำกันเอง ไม่มีอยู่ในสารบบที่ดินของทางราชการแต่อย่างใด

พ.ท.ดุสิต กล่าวต่อว่า หลังจากรวมรวบหลักฐานข้อมูลแล้วในวันที่ 17 พ.ย.59 นี้ จะได้นำปัญหาทั้งหมดบนเกาะพยาม ที่ถูกปิดบังมานานให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะเพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใน จ.ระนอง โดยมี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44/ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 และนายจตุพจน์ ปิยัมปุตะระ ผวจ.ระนอง ร่วมเป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้น






 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น