xs
xsm
sm
md
lg

ศาลซาอุฯ สั่งประหารผู้ต้องหา 15 คนฐานเป็น “สายลับ” ให้อิหร่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ศาลซาอุดีอาระเบียพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา 15 คนในความผิดฐานจารกรรมข้อมูลให้แก่รัฐบาลอิหร่าน เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.) ซึ่งอาจโหมกระพือความตึงเครียดในภูมิภาค และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเลวร้ายลงอีก

แหล่งข่าวใกล้ชิดกระบวนการสอบสวนบอกกับเอเอฟพีว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนเป็นพลเมืองซาอุฯ และส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์

รัฐบาลอิหร่านออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาจารกรรม พร้อมเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบีย “อย่ากล่าวหาอิหร่านลอยๆ เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง หรือเพิ่มความตึงเครียดให้แก่ภูมิภาค”

ศาลซาอุฯ ได้เริ่มไต่สวนคดีจารกรรมเมื่อเดือน ก.พ. หรือราวๆ 1 เดือนหลังจากที่ริยาดประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเตหะราน ด้วยเรื่องที่ผู้ประท้วงอิหร่านบุกเผาสถานทูตและสถานกงสุลซาอุฯ เพราะไม่พอใจคำสั่งประหารชีวิต ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ นักการศาสนาคนสำคัญที่ชีอะห์เคารพนับถือ

ผู้ต้องหาทั้ง 15 รายถูกตั้งข้อหาหนักที่สุด คือ เป็นกบฏต่อแผ่นดิน (high treason)

อัยการซาอุฯ ระบุว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้เปิดเผยความลับด้านกลาโหม พยายามก่อวินาศกรรม ว่าจ้างคนในกระทรวงต่างๆ เป็นสายให้พวกตน ส่งรหัสลับ และยังสนับสนุนให้มุสลิมชีอะห์ “ก่อจลาจล” ที่เขตกอตีฟ (Qatif) ทางตะวันออกของประเทศ

หนังสือพิมพ์อัลริยาด รายงานว่า นักโทษประหารทั้ง 15 รายอยู่ในกลุ่มผู้ต้องหา 32 คนที่ถูกดำเนินคดีฐานเป็นสายลับ โดยจำเลยบางคนถูกกล่าวหาว่าเคยเข้าพบ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านด้วย

แหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า จำเลยกลุ่มนี้ยังสามารถอุทธรณ์โทษประหารชีวิตได้

นอกจาก 15 คนนี้แล้ว ยังมีผู้ต้องหาคดีจารกรรม 2 รายที่ถูกยกฟ้อง หนึ่งในนั้นเป็นชาวต่างชาติ ส่วนที่เหลือได้รับโทษจำคุกระหว่าง 6 เดือนถึง 25 ปี

แหล่งข่าวเผยว่า ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดเป็นพลเมืองซาอุฯ ยกเว้นชาวอิหร่าน 1 คน และชาวอัฟกันอีก 1 คน

บาห์รัม กอเซมี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน แถลงว่า ริยาดไม่เคยแจ้งให้ทราบมาก่อนว่ามีพลเมืองอิหร่านตกเป็นผู้ต้องหาคดีจารกรรม

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) ได้ประณามคำตัดสินประหารชีวิตเมื่อวานนี้ (6) ว่าเป็นการ “ล้อเลียนความยุติธรรม และฝ่าฝืนหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

“การสั่งประหารชีวิตคน 15 คนด้วยการไต่สวนที่ไม่ได้มาตรฐาน ถือว่าหักหน้าความยุติธรรม” ซามาห์ ฮาดีด เจ้าหน้าที่จากเอไอ ระบุ

อดัม คูเกิล นักวิจัยด้านตะวันออกกลางของฮิวแมนไรต์วอตช์ บอกกับเอเอฟพีว่า การไต่สวนของซาอุฯ ผิดพลาดร้ายแรงมาตั้งแต่ต้น เพราะมีรายงานว่าจำเลยไม่ได้รับโอกาสให้หาทนายมาช่วยแก้ต่าง และยังถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมที่ฟังดูไร้เหตุผล เช่น “สนับสนุนการประท้วง”, “พยายามเผยแพร่ลัทธิชีอะห์” และ “ทำลายชื่อเสียงของราชอาณาจักรซาอุฯ” เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น