xs
xsm
sm
md
lg

ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษด้วยการ “ตัดศีรษะ” ครบ 100 รายในปีนี้ ทุบสถิติ 87 รายเมื่อปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการซาอุดีอาระเบียทำการประหารชีวิตด้วยวิธีการ “ตัดศีรษะ” นักค้ายาเสพติดเพศชายซึ่งถือสัญชาติซีเรียรายหนึ่งไปเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.) ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่มีการประหารชีวิตพลเมืองซาอุดีอาระเบียรายหนึ่งด้วยวิธีการเดียวกันจากความผิดฐานฆาตกรรม ส่งผลให้ยอดรวมของ “นักโทษที่ถูกประหาร” ในราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้ เฉพาะในปี 2015 นี้ ได้เพิ่มจำนวนเป็น 100 รายแล้ว

รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงริยาดห์ยืนยันว่า จำนวนของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบียเฉพาะในปี 2015 นี้ นับถึงวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เพิ่มเป็น 100 รายแล้ว ถือเป็นสถิติที่สูงกว่ายอดการประหารชีวิตนักโทษในปี 2014 ทั้งปีที่มีทั้งสิ้น 87 ราย

อย่างไรก็ดี จำนวนของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบียที่พุ่งแตะ 100 รายไปแล้วในปีนี้ ยังถือว่าต่ำกว่าสถิติการประหารชีวิตสูงสุดที่ “192 ราย” ของทางการริยาดห์ ที่มีการบันทึกเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1995 โดยองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International : AI)

ด้านรายงานที่อ้างคำแถลงของกระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบียซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาโดยสำนักข่าวซาอุดีเพรส (เอสพีเอ) ของทางการริยาดห์ระบุว่า นักค้ายาเสพติดเพศชายสัญชาติซีเรียที่ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการตัดศีรษะล่าสุดนั้นมีชื่อว่า อิสมาเอล อัล-ตาว์ม ซึ่งถูกตัดสินความผิดหลังถูกจับได้ว่าลักลอบขนยาเสพติดประเภทแอมเฟตามีนปริมาณมากเข้ามาในซาอุดีอาระเบีย

โดยรายงานข่าวระบุว่า การประหารชีวิตนักโทษชาวซีเรียรายนี้เกิดขึ้นที่เขตจังหวัด “อัล-ยาว์ฟ” ทางภาคเหนือของประเทศ ที่เป็นเขตติดต่อกับชาติเพื่อนบ้านอย่างจอร์แดน

ส่วนในกรณีของพลเมืองซาอุดีอาระเบียอีกรายหนึ่งที่ถูกประหารชีวิตไปเมื่อวันจันทร์ (15 ) จากความผิดฐานฆาตกรรมนั้น รายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าเกิดขึ้นในเขตจังหวัดตอเยฟทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยนักโทษที่ถูกประหารชีวิตรายนี้มีชื่อว่า รามี อัล-คาลดี ซึ่งใช้มีดแทงพลเมืองซาอุฯ อีกรายหนึ่งจนถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษด้วยวิธีการประหารชีวิตกว่าร้อยละ 90 ในซาอุดีอาระเบียนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตลอดจนผู้กระทำความผิดฐานฆาตกรรม

อย่างไรก็ดี องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า การบังคับใช้โทษประหารชีวิตถือเป็น “การก่ออาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด” อีกทั้งยังขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และว่ากระบวนการยุติธรรมของซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันนี้ยังถือว่าอยู่ห่างไกลจากมาตรฐานด้านความยุติธรรมสากล

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบียระบุว่า ตามหลักกฎหมายอิสลามอันเข้มงวดที่มีการบังคับใช้อยู่ในประเทศของตนนั้น ผู้ที่กระทำความผิดฐานข่มขืน ฆาตกรรม การปล้นโดยใช้อาวุธ การค้ายาเสพติด และการเอาใจออกห่างจากศาสนาอิสลามจะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ผู้กระทำความผิดเหล่านี้จะต้องถูกตัดสินโทษด้วยการประหารชีวิตเพียงสถานเดียว





กำลังโหลดความคิดเห็น