เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมลิทัวเนียจัดทำหนังสือคู่มือ 30,000 ฉบับ ที่จะสอนประชาชนว่าควรทำอย่างไรเมื่อประเทศตกอยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกรัสเซียรุกราน
คู่มือที่เป็นหนังสือปกอ่อนความหนา 75 หน้า จั่วหัวไว้ว่า “แนวทางการต่อต้าน” ถูกจัดทำออกมาในช่วงที่ความหวั่นเกรงต่อท่าทีก้าวร้าวของรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น เพราะการชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เคยหาเสียงไว้ว่าจะทบทวนจุดยืนของสหรัฐฯ เรื่องการปกป้องชาติสมาชิกนาโต้
คู่มือลักษณะแบบนี้ได้ถูกจัดทำขึ้น 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2014 ตอนทำครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นช่วงที่รัสเซียทำการผนวกไครเมียของยูเครนมาเป็นของตนเอง
ในฉบับที่จัดทำครั้งแรกซึ่งใช้ชื่อว่า “วิธีดำเนินการในสถานการณ์รุนแรงหรือกรณีเกิดสงคราม” มีการสอนเรื่องรูปแบบการขัดขืนของพลเรือนในกรณีที่ถูกยึดดินแดน โดยระบุถึงการสไตรค์ การปิดถนน การบิดเบือนข้อมูล รวมถึงทำการโจมตีด้านไซเบอร์
คู่มือฉบับนั้นบอกกับผู้อ่านว่า เสียงปืนที่ดังขึ้นข้างนอกนั้นยังไม่ใช่จุดจบของโลก และยังมีวิธีต่อต้านอื่นๆ
ในการจัดทำครั้งที่ 2 ซึ่งใช้ชื่อว่า “เตรียมพร้อมเพื่ออยู่รอดในสถานการณ์ฉุกเฉินและสงคราม : มีกำลังใจดีในยามคับขันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ” ได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาตีพิมพ์ใหม่และปรับปรุงเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2015 พร้อมกับมีรูปวาดครอบครัวแมวด้วย
สำหรับคู่มือฉบับล่าสุดนี้ซึ่งเป็นการจัดทำครั้งที่ 3 มีการชี้เป้าอย่างชัดเจนไปที่รัสเซีย หลังจากความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียหลายครั้งในแถบบอลติก นับตั้งแต่การชนะเลือกตั้งของทรัมป์ ซึ่งมีท่าทีญาติดีกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน
คู่มือฉบับล่าสุดนี้ ได้บอกสาธารณะชนถึงวิธีสังเกตุยุทโธปกรณ์ที่ทำในรัสเซีย อาทิ ปืน รถถัง กับระเบิด รวมถึงอาวุธอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ประชาชนคอยสอดแนมและรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้ที่น่าจะเป็นศัตรูของลิทัวเนีย ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย
นอกจากการตีพิมพ์ คู่มือทั้ง 3 ฉบับนั้นยังสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมลิทัวเนีย ซึ่งจัดทำโดยร่วมมือกับสหภาพพลปืนลิทัวเนีย (องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ) คู่มือเหล่านี้ได้ถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียน ห้องสมุด รวมถึงสถาบันสาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศ
โปวิลาส โปเดอสกี อาสาสมัครวัย 26 ปี ในกองทัพลิทัวเนีย ได้ยกย่องคู่มือฉบับล่าสุดนี้ เกี่ยวกับการแจ้งให้สาธารณะชนได้รู้ถึงวิธีการป้องกันตนเอง
“การฝึกฝนในกองทัพไม่เหมาะสำหรับทุกคน มันจึงดีมากที่ได้เห็นวิธีอื่นๆ ในการต่อต้านแบบไม่มีความรุนแรง มันดีมากที่ครอบคลุมถึงกลยุทธที่จะทำให้ผู้คนได้ร่วมมือกัน” เขากล่าว
เขายังบอกอีกว่า คู่มือเหล่านี้มีประโยชน์ในการบรรเทาความหวาดกลัวการถูกรุกราน สื่อมักจะนำเสนอข้อความที่เกี่ยวกับความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ดังนั้นการได้รู้วิธีรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงพอจะช่วยให้ผู้คนสงบใจลงได้บ้าง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียได้เคลื่อนย้ายระบบยิงขีปนาวุธ ซึ่งสามารถติดตั้งนิวเคลียร์ได้ ไปไว้ที่คาลินินกราด ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนลิทัวเนีย จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน รัสเซียก็ส่งขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง “บาสเตียน” ที่มีระยะทำการสูงถึง 280 ไมล์ ใช้โจมตีได้ทั้งเรือและเป้าหมายภาคพื้นดิน ไปไว้ที่คาลินินกราดอีก
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ทรัมป์แสดงความเห็นเกี่ยวกับนาโตและชนะการเลือกตั้ง ทำให้เพิ่มความหวั่นเกรงว่านาโต้อาจถูกคุกคาม
อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลลิทัวเนียดูจะยังไม่ให้ความสำคัญมากนักกับคู่มือเหล่านี้ พร้อมกับบอกประชาชนว่าอย่ากังวลมากนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ของลิทัวเนีย-สหรัฐฯ แม้ว่าทรัมป์จะดูเหมือนสนับสนุนปูติน