รอยเตอร์/เอเอฟพี - รัฐบาลสหราชอาณาจักร รีบออกโรงในวันอังคาร (22 พ.ย.) บอกปัดการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยชนิดที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน ว่า อยากจะให้ ไนเจล ฟาราจ หัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการรณรงค์เรียกร้อง “เบร็กซิต” จนประสบความสำเร็จ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงวอชิงตัน โดยแถลงว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งว่าง
การตัดสินใจว่าใครคือผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร ในกรุงวอชิงตัน คือ กิจการของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของคณบริหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า นี่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งว่าที่ผู้นำชาติทรงอำนาจที่สุดในโลกซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นชั้นมาจากเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ผู้ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งอยู่เรื่อยผู้นี้ ไม่ให้ก้าวเข้าสอดแทรกเรื่องนี้
“คนจำนวนมากปรารถนาที่จะเห็น @Nigel_Farage เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร ในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นในสหรัฐฯ” ทรัมป์ ระบุเช่นนี้ในบัญชีทวิตเตอร์ของเขา “เขาจะทำงานได้อย่างยิ่งใหญ่!”
ฟาราจ ผู้นำชั่วคราวของพรรคแนวทางชาตินิยม ยูเค อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี (UKIP) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เดินทางมาเข้าพบหารือกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ ในนครนิวยอร์ก
หลังทราบข้อความที่ทรัมป์ทวีต อดีตเทรดเดอร์โลหะซึ่งกลายมาเป็นนักการเมือง และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการรณรงค์ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” จนประสบความสำเร็จผู้นี้ บอกว่า “ผมรู้สึกว่าตนเองถูกเยินยอมากเลยจากความเห็นนี้” ฟาราจ บอกกับสำนักข่าวพีเอของสหราชอาณาจักร “ผมพูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนผมได้เข้าพบท่านว่าที่ประธานาธิบดี ว่า ผมปรารถนาที่จะทำอะไรที่ผมสามารถทำได้ในหนทางบวก เพื่อช่วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกเราทั้งสอง”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักร ของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ รีบออกมาบอกปัดการเสนอกับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติแบบนักการทูตเอาเสียเลยเช่นนี้
“ตำแหน่งนี้ไม่ได้ว่าง” โฆษกของทำเนียบนายกรัฐมนตรี เมย์ กล่าวในวันอังคาร (22) เมื่อถูกถามถึงความเห็นของทรัมป์ “เรามีเอกอัครราชทูตชั้นเยี่ยมประจำอยู่ที่สหรัฐฯแล้ว”
ทั้งนี้ คิม ดาร์โรช อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน เมื่อเดือนมกราคมปีนี้
ระหว่างการรณรงค์หาเสียง ซึ่งสร้างความแตกแยกขึ้นมามากมายของเขา ทรัมป์ กล่าวเปรียบเทียบครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการเสนอตัวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯของเขา กับการลงประชามติ “เบร็กซิต” ซึ่งผู้ออกเสียงส่วนข้างมากชาวสหราชอาณาจักร โหวตให้ถอนตัวจากอียู
ฟาราจเองก็ได้รับเชิญให้ขึ้นพูดในการหาเสียงครั้งหนึ่งของทรัมป์ และหลังจากที่เขาเข้าพบว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์แล้ว เขากล่าวว่า “สหราชอาณาจักร หลังเบร็กซิต หมายถึงโอกาสในระดับโลกอันใหญ่โตมหึมา หนึ่งในสถานที่แรกๆ ซึ่งสหราชอาณาจักรควรเริ่มต้น ก็คือ ที่สหรัฐฯ เริ่มต้นกับ โดนัลด์ ทรัมป์”
ภาพของทรัมป์ที่กำลังยืนต้อนรับนักวิพากษ์วิจารณ์อียูอย่างหนักหนาสาหัสที่สุดผู้หนึ่ง ตรงหน้าลิฟต์เคลือบสีทอง ก่อให้เกิดความตะลึงหวั่นไหวตามเมืองหลวงต่างๆ ของชาติอียู โดยที่ผู้นำของชาติเหล่านี้จำนวนมากมองทรัมป์ด้วยความรู้สึกหวั่นกลัวระคนสับสนมึนงง
อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดเจนว่า สหราชอาณาจักรปรารถนาที่จะต่อสายสร้างสะพานเชื่อมโยงกับทรัมป์ขึ้นมา หลังจากที่มีบุคคลชั้นนำในคณะรัฐบาลจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ในระหว่างที่เขารณรงค์หาเสียง
ลอนดอนยังมีความสนใจยิ่งที่จะทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ขณะตนเองเตรียมตัวที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรป
โฆษกของนายกรัฐมนตรี เมย์ แถลงในวันจันทร์ (21) ว่า กำลังพิจารณาที่จะเชื้อเชิญทรัมป์ให้เดินทางมาเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นรัฐพิธีในปีหน้า โดยเป็นพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
ระหว่างที่ทรัมป์สนทนาทางโทรศัพท์กับเมย์ภายหลังเขาชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์บอกนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ว่า เขาเป็น “แฟนผู้ชื่นชมควีนอย่างมาก” นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ทรัมป์ยังได้บอกกับฟาราจ ว่า แมรี คุณแม่ผู้ล่วงลับของเขาจะต้อง “โคตรดีใจเลยเมื่อผมได้เข้าเฝ้าฯควีน”