xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” เชิญ “ทรัมป์” เยือนทำเนียบขาววันนี้ หวังส่งมอบอำนาจราบรื่น หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ “ช็อกโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ส่งเทียบเชิญมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 เข้าพบปะหารือที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาววันนี้ (10 พ.ย.) โดยหวังให้การส่งมอบอำนาจราบรื่น และลดแรงกระเพื่อมจากผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งโลก

เพียง 48 ชั่วโมงหลังได้รับชัยชนะทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ ทรัมป์ วัย 70 ปี จะมีโอกาสได้ลองสัมผัสบรรยากาศในทำเนียบขาว ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.ปีหน้า

การพบกันครั้งนี้น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากโอบามา และ ทรัมป์ เคยพูดสาดโคลนใส่กันไว้มากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา



มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้เคยออกมาตั้งคำถามว่า โอบามาเกิดในสหรัฐฯ จริงหรือไม่ โดยใช้ถ้อยคำที่สะท้อนถึงการเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่ประธานาธิบดีสายเดโมแครตก็เย้ยหยันนักธุรกิจคนดังว่า “ช่างไม่มีคุณสมบัติของการเป็นประธานาธิบดี” เอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามสร้างสามัคคีในชาติเริ่มเกิดขึ้นในวันสุดท้าย หลังจากที่ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ได้ต่อสู้กันมานานถึง 2 ปีเพื่อชิงบัลลังก์ทำเนียบขาว ซึ่งบางครั้งภาพที่ออกมาก็ดูดิบเถื่อนคล้าย “สงครามชนเผ่า” มากกว่าพรรคการเมือง

คลินตัน พยายามซ่อนความผิดหวังและเจ็บปวดที่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกาอย่างที่ฝัน และออกมาเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทุกคนให้โอกาสแก่ ทรัมป์

“เราควรเปิดใจและให้โอกาสเขาในการเป็นผู้นำ” คลินตัน กล่าวระหว่างแถลงยอมรับความพ่ายแพ้


โอบามา ได้เปิดแถลงข่าวที่สวนกุหลาบ (Rose Garden) ในทำเนียบขาว ท่ามกลางบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งยังอยู่ในอาการเศร้าเสียดาย โดยระบุว่าระบอบประชาธิปไตยก็เป็นเช่นนี้

“บางครั้งเราก็เถียงไม่ชนะ” โอบามากล่าว พร้อมเสริมว่า เวลานี้ชาวอเมริกันทุกคนคงจะคาดหวังให้ ทรัมป์ ประสบความสำเร็จในหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“เราเห็นชาวอเมริกันมาก่อน เราเห็นเพื่อนร่วมชาติมาก่อน เราทุกคนล้วนแต่หวังสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ” โอบามา กล่าว ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนปาดน้ำตา และครุ่นคิดว่าผลงานที่รัฐบาลเดโมแครตสร้างไว้ด้วยความยากลำบากตลอด 8 ปีอาจต้อง “สูญเปล่า”

โอบามา ยังขอให้ประธานาธิบดีคนใหม่ยึดมั่นในระบบการบริหารประเทศของสหรัฐฯ ที่มีอายุยาวนานถึง 240 ปี ตลอดจนสถาบันต่างๆ ของชาติ

“ประเทศต้องการความเป็นเอกภาพ การหลอมรวม การเคารพในสถาบันต่างๆ วิถีชีวิตของเรา หลักนิติธรรม และการเคารพซึ่งกันและกัน”

จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว มีสีหน้าเคร่งขรึมเมื่อถูกว่า ทรัมป์ จะยอมเคารพหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยเขาได้ตอบเลี่ยงๆ ว่า จากท่าทีของ ทรัมป์ “คิดว่าหลักการพื้นฐานบางอย่างของระบอบประชาธิปไตยน่าจะยังคงอยู่”

“ความน่าจะเป็น” ได้กลายเป็น “ความไม่น่าจะเป็น” ไปเสียแล้วสำหรับประเทศหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งพากันหวั่นวิตกว่า หลังจากนี้ระเบียบการเมืองโลกซึ่งผูกติดกับความเป็นผู้นำในเชิงคุณธรรมและการทหารของสหรัฐฯ อาจตกอยู่ในความเสี่ยง


นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีได้ออกมากล่าวย้ำเรื่อง “ความเป็นผู้นำโลกเสรี” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกสงวนไว้เพื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้น

แมร์เคิลเตือนว่า “ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด” ระหว่างวอชิงตันและเบอร์ลินตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตย และว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อทั่วโลกซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของเขาต่อไป

“บนพื้นฐานของค่านิยมเหล่านี้ ดิฉันขอมอบความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อประธานาธิบดีในอนาคตของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์” แมร์เคิลกล่าว

ยุโรปซึ่งเผชิญทั้งวิกฤตทางการเงินและสังคม ตลอดจนความแตกแยกภายใน เริ่มที่จะเกิดความกังวลในประเด็นความมั่นคงขึ้นมา เนื่องจากทรัมป์เคยแสดงท่าทีกังขาต่อภารกิจของนาโตซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำมาโดยตลอด

รัฐบาลแคนาดาและเม็กซิโกซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ต่างออกมายืนยันถึงความพร้อมที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนญา เนียโต แห่งเม็กซิโก ได้หยิบยื่นไมตรีให้แก่ ทรัมป์ โดยตกลงที่จะพบปะกันในเร็วๆ นี้

ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากกลุ่มการเมืองขวาจัดในยุโรป เช่น มารีน เลอแปน ผู้นำพรรคเนชันแนลฟรอนท์ในฝรั่งเศส, มัตเตโอ ซัลวินี จากพรรคนอร์เทิร์นลีกในอิตาลี และ ไนเจล ฟาราจ ผู้นำพรรค UKIP ในอังกฤษซึ่งมีจุดยืนลังเลสงสัยในความเป็นสหภาพยุโรป (eurosceptic)

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ประกาศทันทีว่าต้องการ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ” กับสหรัฐฯ และขอแสดงความยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ด้วย


“โอบามา-คลินตัน” ประกาศพร้อมร่วมมือ ขณะกระแสประท้วง “ทรัมป์” ลามทั่วสหรัฐฯ
“โอบามา-คลินตัน” ประกาศพร้อมร่วมมือ ขณะกระแสประท้วง “ทรัมป์” ลามทั่วสหรัฐฯ
เกิดการชุมนุมเดินขบวนตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ในวันพุธ (9 พ.ย.) เพื่อประท้วง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันที่สร้างเซอร์ไพรส์สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป เนื่องจากคนอเมริกันจำนวนมากพากันช็อกและโกรธขึ้ง จึงประกาศสโลแกนว่า เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีแต่สร้างความแตกแยกผู้นี้ “ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา” ขณะเดียวกัน “บารัค โอบามา” นัดหมายต้อนรับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (10) เพื่อหารือดำเนินการถ่ายโอนอำนาจให้ราบรื่น ด้าน “ฮิลลารี คลินตัน” ให้คำมั่นฝังความเป็นปรปักษ์ระหว่างการหาเสียง และร่วมงานกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อผสานรอยร้าวของอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น