xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ทำให้นโยบาย‘ปักหมุดที่เอเชีย’ของสหรัฐฯ ‘ตาย’แน่ๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The US pivot to Asia: Death by Trump
By Peter Lee
13/11/2016

โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนไม่ได้เตรียมตัวอะไรสำหรับการทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยิ่งนโยบายเกี่ยวกับเอเชียแล้ว เขาคงปล่อยให้พวกนักล็อบบี้ที่เชียร์นโยบายปักหมุดซึ่งมีอิทธิพลสูงมาก เป็นผู้ดำเนินนโยบายด้านนี้ไป อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ข้อเท็จจริงที่ว่าทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็เพียงพอที่จะส่งผลทำให้นโยบายปักหมุดต้องตายแน่นอนแล้ว

โดนัลด์ ทรัมป์ บางทีอาจจะไม่ได้มีความพยายามตั้งใจที่จะฆ่ายุทธศาสตร์ “ปักหมุด” (the pivot) อะไรหรอก แต่เขาก็กำลังฆ่ามันให้ด่าวดิ้นล้มตายไปอยู่ดี ดังนั้นทำไมจึงไม่เร่งกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้นและควบคุมกระบวนการนี้ให้ดำเนินไปด้วยดีเสียเลยล่ะ?

ในข้อเขียนชิ้นก่อนของผมที่ใช้ชื่อว่า “Hillary is Gone; Will the Pivot Live On?” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.atimes.com/hillary-gone-will-pivot-live/) [1] ผมเสนอเอาไว้ว่า ทรัมป์สามารถที่จะถอนสหรัฐฯให้หลุดออกมาจากปัญหาในเอเชียที่กลายเป็นทางตันหาทางออกไม่เจอ ซึ่งเจ้าพวกแนวความคิดปักหมุดเป็นผู้สร้างขึ้นมา 2 ปัญหาด้วยกัน ได้แก่ แผนการร้ายอันแสนตะกุกตะกักในทะเลจีนใต้ที่มุ่งอาศัยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) เป็นเครื่องมือ และความอับจนในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

แต่ผมนะไม่ได้เล็งการณ์ในแง่สดใสเลิศเลอหรอก ทรัมป์ดูเหมือนกับไม่ได้เตรียมตัวอะไรเอาเลยสำหรับการเข้าแบกรับความรับผิดชอบอันมีอยู่มากมายมหาศาลในการบริหารปกครองสหรัฐอเมริกา โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงการดำเนินกิจการของโลก และผมคาดหมายว่าสำหรับนโยบายต่อเอเชียแล้ว เขาจะทำแบบที่คนในวงการธุรกิจรถบรรทุกชอบพูดกันว่า “let ‘er drift” (ปล่อยให้รถดริฟต์ไปเอง) แล้วก็ปล่อยให้พวกนักล็อบบี้ที่เชียร์นโยบายปักหมุด ซึ่งมีการจัดองค์กรกันอย่างเป็นระบบระเบียบและแอบฝังตัวอยู่อย่างลึกแน่น เป็นผู้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับจีนในช่วงแห่งการบริหารปกครองประเทศของเขา

พวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดเหล่านี้ (pivoteers) กำลังเที่ยวระดมพลกันแล้ว ถึงแม้มันอาจจะค่อนข้างสายไปหน่อยและอยู่ในอาการกระวนกระวายว้าวุ่นก็ตามที

ราล์ฟ คอสซา (Ralph Cossa) แห่ง แปซิฟิกฟอรั่ม (Pacific Forum) เริ่มต้นข้อเขียนของเขาซึ่งเร่งเขียนขึ้นมาอย่างด่วนจี๋ในตอนที่ทราบผลการเลือกตั้ง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://us8.campaign-archive2.com/?u=fdfd9b07c6818bebcd9951d95&id=0e5bc3daff&e=3fac37b83a) ด้วยการตั้งข้อสังเกตที่ดูไม่ได้แสดงอารมณ์ขุ่นเคืองอะไร ว่า “เหมือนกับชาวอเมริกันนักเฝ้าจับตามองเอเชียส่วนใหญ่ ผมไม่มีข้อมูลข่าวสารใดๆ เลยหลักการความเชื่อพื้นฐานในด้านนโยบายเอเชียของคณะบริหารทรัมป์ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งนั้น จะเป็นอย่างไรกันแน่”

ครั้นแล้วสิ่งที่เขาสาธยายตามมา ก็ดูจะกลับกลายเป็นประเด็นมาตรฐานของพวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดทั้งหลาย โดยร้องขอให้ทรัมป์ยังคงอยู่ในเส้นทางเดิม ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับทะเลจีนใต้, การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ, และ TPP (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก)

ทว่ากระทั่งถ้าหากทรัมป์ปล่อยให้พวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดเป็นผู้ดำเนินนโยบายในเอเชียจริงๆ ทรัมป์ก็น่าจะทำให้การปักหมุดต้องประสบเคราะห์ร้ายไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ด้วยการที่เขาได้รับการเลือกตั้ง และเขย่าให้ประดาหุ้นส่วนชาวเอเชียของเราตื่นขึ้นมารับรู้รับทราบถึงความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งติดมาพร้อมกับการลงนามในระบบความมั่นคงที่นำโดยสหรัฐฯทั้งหลาย ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรซ์อะไรหรอก มันก็คือเรื่องที่ว่าระบบความมั่นคงเหล่านี้จะไว้วางใจได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของคณะผู้นำสหรัฐฯซึ่งจะเป็นใครนั้น มันไม่มีความแน่นอนและคาดเดาลำบาก รวมทั้งต้องขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญต่อเอเชียของคณะผู้นำอเมริกัน ซึ่งมีการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ

องค์ประกอบที่น่าสนใจมากประการหนึ่ง และควรที่จะอยู่บนจอเรดาร์ของทุกๆ คนแล้ว ได้แก่ความเป็นไปได้ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะพัฒนาสมรรถนะทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียของพวกเขาเอง ทั้งเพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามต่างๆ ในภูมิภาค และเพื่อตอบสนองความรับรู้ความเข้าใจของพวกเขาเองที่ว่า เอเชียนั้นสามารถและสมควรที่จะเป็นเจ้านายแห่งชะตากรรมทางด้านความมั่นคงของตนเองได้แล้ว ภายในบริบทที่สหรัฐฯอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมลงไป และทัศนคติของคณะผู้นำสหรัฐฯก็ไร้ความแน่นอน/งี่เง่าไร้สมอง

คอสซาพูดพาดพิงเป็นนัยๆ ในเรื่องนี้ในข้อเขียนของเขาด้วย ดังนี้:

สมมุติฐานที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ สมมุติฐานที่ว่าคณะบริหารทรัมป์ไม่ได้พยายามยับยั้ง –บางทีกระทั่งส่งเสริมสนับสนุนด้วยซ้ำ— เหล่าชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีให้มีอาวุธนิวเคลียร์ นี่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเขาเชื่อจริงๆ ว่าโลกจะเป็นสถานที่ซึ่งปลอดภัยยิ่งขึ้น และผลประโยชน์ของสหรัฐฯก็จะได้รับการปกป้องรักษาอย่างดีที่สุด ด้วยการให้มีรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียเพิ่มมากขึ้นแล้ว เขาจำเป็นที่จะต้องออกมาพูดเช่นนั้นให้ชัดเจน ทว่าสิ่งที่เขาควรพูดจริงๆ ก็คือว่า อเมริกายังคงมีความมุ่งมั่นผูกพันกับเรื่องการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์อยู่อย่างแข็งขัน และร่มแห่งความมั่นคงของเรา-ทั้งทางด้านอาวุธนิวเคลียร์และทางด้านอาวุธตามแบบแผนธรรมดาที่ไม่ใช่นิวเคลียร์- ที่กางคุ้มภัยให้แก่เหล่าเพื่อนมิตรและพันธมิตรของเรานั้นยังคงมั่นคงหนักแน่น กองทหารสหรัฐฯนั้นไม่ได้เป็นกองกำลังอาวุธรับจ้างที่พรักพร้อมให้บริการสำหรับผู้ที่เสนอราคาสูงที่สุด กองทหารสหรัฐฯนั้นเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในการรับประกันสันติภาพและเสถียรภาพให้แก่บรรดาผู้ที่ร่วมยึดมั่นในค่านิยมต่างๆ และในวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงระยะยาวทั้งหลายของอเมริกา

ปัญหาที่แก้ไขคลี่คลายได้ยากเย็นมากข้อใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐฯก็คือว่า (การให้ชาติพันธมิตรในเอเชียมี) สมรรถนะด้านอาวุธนิวเคลียร์ ย่อมเท่ากับเป็นการบอกอย่างอ้อมๆ ให้พวกเขาใช้นโยบายความมั่นคงที่เป็นอิสระในทางพฤตินัย โดยเฉพาะยิ่งสำหรับญี่ปุ่นด้วยแล้ว และถ้าญี่ปุ่น (ซึ่งเพิ่งหลุดออกจากพันธนาการและได้รับการยอมรับให้เป็นมหาอำนาจทางทหารระดับภูมิภาครายหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง โดยที่ในความคิดเห็นของผมแล้ว เรื่องนี้ต้องขอบคุณพวกนักเชียร์นโยบายปักหมุด ซึ่งให้ความสนับสนุนอย่างมุ่งมั่นและอย่างไร้สมองต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพของประเทศนั้น) กำลังทำหน้าที่เป็นผู้จัดวาระทางความมั่นคงในเอเชียของตนเองแล้ว พวกฐานทัพอเมริกันอันใหญ่โตในญี่ปุ่น/โอกินาวะ จะมีบทบาทอะไรล่ะ?

ขณะที่ญี่ปุ่นเพิ่มแสนยานุภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากญี่ปุ่นติดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเปิดเผยหรืออย่างกึ่งเปิดเผย (เรื่องหนึ่งซึ่งฝังจิตฝังใจของพวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดเหลือเกิน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องต้องใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อกำจัดความทะเยอทะยานด้านอาวุธนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น แต่ผมจะไม่ขอกล่าวเช่นนี้อย่างมั่นอกมั่นใจหรอก เพื่อนมิตรทั้งหลาย) การปรากฏตัวของทหารอเมริกันในญี่ปุ่นก็จะดูเหมือนกับทหารรับจ้างกองหนึ่งที่กำลังพักพิงอยู่ในฐานทัพของพวกเขา โดยที่ไม่ได้มีภาระหน้าที่ซึ่งสหรัฐฯกับญี่ปุ่นดำเนินการบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างกระจ่างชัดเจนแต่อย่างใด

แน่นอนทีเดียว เจตนารมณ์ความตั้งใจนั้น ไม่ใช่ว่าจะให้กองทหารอเมริกันเหล่านี้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมนำมาใช้งานได้ แบบที่เป็นเพียงแค่ตัวหนุนเสริมตัวหนึ่งในพลังอำนาจด้านการพิทักษ์ป้องกันของฝ่ายญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ถ้ากองทหารอเมริกันเหล่านี้ไม่ได้มีการบูรณาการอย่างแน่นหนาเข้ากับนโยบายความมั่นคงของฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นสมควรที่จะจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกองทหารอเมริกันเหล่านักสักเท่าไหร่กัน และโดยผลในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น การจ่ายค่าตอบแทนนี้ย่อมเหมือนกับการให้การอุดหนุนกองทหารกองหนึ่งซึ่งทำอะไรเพียงน้อยนิดในการรับประกันความมั่นคงของญี่ปุ่น ทว่ากลับทำให้เกิดเป็นปัญหาในด้านการท้าทายอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น ตลอดจนในด้านการท้าทายความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ซึ่งกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นมาของญี่ปุ่นเสียมากกว่า?

และถ้าทรัมป์เรียกร้องญี่ปุ่นให้ “จ่ายเพิ่มขึ้น” (ญี่ปุ่นนั้นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการฐานทัพอเมริกันในประเทศของตนในสัดส่วน 75% อยู่แล้ว คิดเป็นตัวเงินเท่ากับประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.stripes.com/news/pacific/officials-wary-of-trump-s-brash-base-demand-1.408494) ญี่ปุ่นก็อาจจะเริ่มต้นถามว่า “เพื่ออะไรล่ะ? ถ้าญี่ปุ่นเปิดฉากถล่มโจมตีสิ่งปลูกสร้างทางด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างชนิดเด็ดหัวกันเลย ลุงแซมจะคอยช่วยระวังหลังของญี่ปุ่นให้หรือเปล่า?”

อย่างไรก็ดี บางทีพวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดอาจจะทำงานคิดคำนวณเสร็จสรรพแล้วด้วยซ้ำในเรื่องงบประมาณต่างๆ และเขียนตัวเลขด้วยดินสอเอาไว้เรียบร้อยภายในทั่วทั้งอาคารของสถานที่ตั้งแห่งสำนักงานศึกษาวิจัย หรือ คลังสมอง (think tank) ของพวกเขา เป็นการเผื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาอันแก้ไขยากเกี่ยวกับความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นนี้ และจริงๆ แล้วพวกเขาก็มองเห็นปัญหาที่เต็มไปด้วยปมยุ่งยากนี้ว่าจะกลายเป็นแหล่งทำเงินอันน่ายินดีสำหรับงานที่ไม่ค่อยต้องทำอะไรมากของพวกเขาไปได้จนกระทั่งถึงปี 2050 ทีเดียว (“นี่แหละท่าน คือแผนการ 500 ขั้นของเราเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องการประจันหน้าทางนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ โดยอิงอาศัยและโดยผ่านการใช้กองทหารร่วมปฏิบัติการ แผนการนี้จะใช้แทนแผนการ 475 ขั้น และมีการแก้ไขคลี่คลายเรื่องปวดหัวบางเรื่องเพิ่มมากขึ้นแล้ว ...”)

แต่เมื่อสมรรถนะด้านความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าพวกตัวแสดงท้องถิ่นทั้งหลาย โดยเฉพาะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ จะยิ่งเกิดความตระหนักชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของการปักหมุดนั้น มันไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของภูมิภาคอะไรมากมายหรอก แต่มันกำลังมุ่งก่อตั้งสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคอย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดคือการรักษา “ความเป็นผู้นำ” ของสหรัฐฯ (บางทีการใช้คำๆ นี้อาจจะฟังดูสุภาพกว่าการใช้คำว่า “การวางตัวเป็นเจ้า” (hegemony) นะครับ)

และจากการเลือกตั้งเอาโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาในคราวนี้ มันก็กำลังแสดงให้เห็นว่า ความกังวลสนใจของอเมริกันที่มีให้แก่ลำดับความสำคัญของเอเชียนั้น อาจจะออกมาว่า มันก็เป็นแค่เรื่องไม่ค่อยน่าสนใจอะไรนัก, เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข, และบางทีก็อาจจะถึงขั้นสามารถตัดทิ้งไปได้อย่างดื้อๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครที่กำลังครองอำนาจอยู่ในสหรัฐฯ และด้วยเหตุฉะนี้ ความปรารถนาของเอเชียที่ต้องการเข้าควบคุมชะตากรรมด้านความมั่นคงของตนเองก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก

อย่างที่ผมเสนอแนะเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นก่อน ทรัมป์น่าที่จะพยายามเดินนำหน้าแนวโน้มนี้เสียเลย ด้วยการโละทิ้งการปักหมุดออกไป –หรือถ้ามีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นอีก ก็หันมาเร่งเครื่องและเข้าบริหารจัดการความหายนะที่ถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วกันเสียเลย –ด้วยการทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ชนิดที่นำเอาเรื่องการปิดล้อมจีนออกไปจากความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ และด้วยการทำข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเปิดทางให้อเมริกาสามารถที่จะแซงคิวไปอยู่ข้างหน้าทั้งจีนและญี่ปุ่น ในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจจากการฟื้นฟูสัมพันธไมตรี

ความเป็นไปได้เหล่านี้น่าสนใจเอามากๆ ทีเดียว แต่ผมสงสัยว่าพวกนักเชียร์นโยบายปักหมุดจะยินยอมปล่อยให้ทรัมป์ได้ลองสำรวจความเป็นไปได้เหล่านี้หรือ

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์จะไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)

หมายเหตุผู้แปล

[1] สำหรับข้อเขียนเรื่อง Hillary is gone; Will the pivot live on? นี้ ขอเก็บความนำเสนอเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้:

'ฮิลลารี'แพ้แล้ว 'นโยบายปักหมุด'ยังอยู่ต่อไปได้ไหม?
โดย ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Hillary is gone; Will the pivot live on?
By Peter Lee
10/11/2016

ฮิลลารี คลินตัน เป็นสถาปนิกของนโยบาย “ปักหมุดหวนกลับมาให้ความสำคัญแก่เอเชีย” (pivot to Asia) ของสหรัฐฯ ถ้าหากคลินตันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เราย่อมสามารถที่จะตั้งสมมุติฐานได้อย่างปลอดภัยว่า นโยบายปักหมุดจะต้องเดินหน้าต่อไปตามรอยทางแห่งการปิดล้อมจีนของมัน นั่นคือ มีการสถาปนาเส้นขีดแบ่งที่ชัดเจนสดใสขึ้นมา เพื่อแยกระหว่างพฤติการณ์ละเมิดบรรทัดฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐฯและสนับสนุนโดยญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และชาติประชาธิปไตยอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก โดยสิ่งที่จะนำมาสร้างเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้ ก็คือการจัดตั้งแนวร่วมของบรรดารัฐซึ่งโกรธเกรี้ยวต่อการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนท้าทายไม่ยอมรับคำตัดสินว่าด้วยทะเลจีนใต้ของคณะตุลาการแห่งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก ขณะเดียวกัน หลักสำคัญอีกประการหนึ่งยังได้แก่ ร่มคุ้มครองป้องกันภัยนิวเคลียร์ (nuclear umbrella) ของสหรัฐฯ โดยโฟกัสอยู่ตรงที่การเน้นย้ำป้องปรามไม่ให้เหล่าชาติพันธมิตรของสหรัฐฯเข้าครอบครองสมรรถนะทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตนเอง

แต่จากชัยชนะจากการเลือกตั้งแบบสุดช็อกของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ข้อสมมุติฐานแสนสบายเหล่านี้มีอันเรรวนเสียกระบวนหนัก และคำถามที่กำลังถูกถามกันตลอดทั่วทั้งเอเชียก็คือ ทรัมป์จะใช้นโยบายเช่นไรต่อเอเชีย?

ทรัมป์นั้นเห็นด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูกับองค์ประกอบส่วนที่เป็นการประณามโจมตีจีนของนโยบายปักหมุด เขาประกาศว่า หนังสือเรื่อง “Death by China” ของ ปีเตอร์ โนวาร์โร (Peter Novarro) คือดาวเหนือนำทางของเขา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.salon.com/2012/08/22/chinas_not_so_secret_plan_for_world_domination/)

ทว่าทรัมป์ก็มีทัศนะในด้านต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (ไม่เอา TPP!), เสนอนโยบายทางการค้าแบบมุ่งรื้อถอนตอบโต้ (ต้องเจรจาข้อตกลงการค้าที่ทำไปแล้วกันใหม่!), แสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อชาติพันธมิตรสำคัญๆ ของอเมริกา (ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ควรที่จะต้องเข้าแบกรับภาระของการที่สหรัฐฯต้องส่งทหารไปประจำที่นั่นให้มากขึ้นกว่าเดิม!), ไม่สนใจใยดีที่จะเข้าร่วมถ้าหากเกิดสงครามระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีเหนือขึ้นมา (“โชคดีนะ! สนุกให้เต็มที่เลยนะ พรรคพวก!” เขาพูดอย่างนี้ เมื่อถูกถามว่าจะทำอย่างไรถ้าเกิดสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือขึ้นมา ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.theguardian.com/us-news/2016/apr/02/donald-trump-north-korea-war-nuclear-weapons), แถมยังดูหมิ่นหยามหยันเจ้าเสาหลักแห่งนโยบายความมั่นคงในเอเชียของสหรัฐฯเสานั้น นั่นคือ การที่สหรัฐฯจะเป็นผู้กางร่มคุ้มครองป้องกันภัยนิวเคลียร์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น (การที่เขาดูเหมือนสามารถอดทนยอมรับได้ในเรื่องที่หลายๆ รัฐเอเชียมีความสนใจที่จะติดอาวุธนิวเคลียร์ โดยบอกว่านั่นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ถึงแม้มันอาจจะทำให้สหรัฐฯไม่สามารถกล่าวอ้างสิทธิที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในย่านแปซิฟิกแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว ดูรายละเอียดคำพูดของทรัมป์ในเรื่องการยอมให้ชาติต่างๆ มีอาวุธนิวเคลียร์ได้นี้ที่ https://thinkprogress.org/9-terrifying-things-donald-trump-has-publicly-said-about-nuclear-weapons-99f6290bc32a#.77nuzht09)

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นเลือกที่จะส่งสารแสดงความยินดีไปถึงว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้โดยใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรอย่างรอบคอบระมัดระวัง ขณะเดียวเดียวก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาเบะกำลังครุ่นคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เวลานี้ข้อตกลง TPP อยู่ในสภาพจะต้องตายไปอย่างแทบแน่นอนแล้ว แถมเขาก็ทราบดีว่า ตัวทรัมป์นั้นยังอาจมีความปรารถนาที่จะนำเอาความโกรธแค้นที่เขาเคยมีต่อการที่ญี่ปุ่นละเมิดล่วงล้ำทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯตั้งแต่ยุคดนตรีดิสโก้ทศวรรษ 1980 มาระบายเล่นงานใส่ระบอบปกครองของแดนอาทิตย์อุทัยในปัจจุบันอีกด้วย ทั้งนี้ญี่ปุ่นในเวลานี้มีเหตุผลความชอบธรรมมากมายเหลือเกินสำหรับการพรีเซนต์ตัวเอง –และก็ปฏิบัติตนตามนั้น—ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตเต็มที่แล้วในระบบความมั่นคงของเอเชีย และค่อยๆ เข้าแทนที่สหรัฐฯในการแสดงบทบาทเป็นผู้นำในระบบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็ใช่ว่าจะมีแต่เป็นเรื่องทางลบไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างหรอก

ถึงแม้วิธีคิดตามที่ผมจะบรรยายต่อไปนี้ ย่อมเป็นที่รังเกียจสาปแช่งในสำนักคลังสมองทั้งหลายของแวดวงวอชิงตัน ซึ่งได้ช่วยเหลือฮิลลารี คลินตัน และ เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในสมัยที่ฮิลลารี คลินตัน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ) ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมอันใหญ่โตประณีตแห่งการปักหมุดขึ้นมา แต่ว่าจากการที่ทรัมป์ซึ่งอยู่ในสภาพเหมือนในคำพังเพยที่กล่าวว่า เป็นวัวกระทิงดุที่หลงเข้าไปในร้านขายเครื่องถ้วยกระเบื้อง (bull in a China shop) กล่าวคือไม่ได้สนใจยอมรับความละเอียดอ่อนใดๆ ในนโยบายของสหรัฐฯทั้งสิ้น สภาพเช่นนี้กลับอาจจะช่วยให้เขาสามารถนำพาสหรัฐฯให้หลุดออกมาจากทางตันอันน่าอึดอัดกระอักกระอ่วนหลายๆ ประการ ซึ่งบังเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากนโยบายปักหมุด

เป็นต้นว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีน ด้วยการชี้นิ้วแทงไปที่จุดปวดแสบปวดร้อนของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันได้แก่ การอ้างกรรมสิทธิ์อย่างน่าหัวเราะในดินแดนน่านน้ำต่างๆ ในทะเลจีนใต้นั้น เวลานี้กำลังตกอยู่ในความยากลำบากเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงออกซึ่งความเด็ดเดี่ยวในการปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินของคณะตุลาการในศาลอนุญาโตตุลาการซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) แถมต่อมาฟิลิปปินส์ยังทรยศแปรพักต์จากกลุ่มพันธมิตรนี้เสียอีก โดยที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต หักมุมหันไปสนใจกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่าเรื่องการหาทางบังคับให้เป็นไปตามคำตัดสินดังกล่าวในทันที มิหนำซ้ำในเวลาต่อมาเขาก็ถอยห่างจากการร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯอีกด้วย

การขึ้นครองอำนาจของคณะบริหารทรัมป์ กลายเป็นการเปิดทางให้มีลู่ทางโอกาสที่ทัศนะความคิดเห็นของดูเตอร์เตจะได้รับการยอมรับ ในการแถลงแสดงความยินดีต่อชัยชนะของทรัมป์นั้น ดูเตอร์เตพยายามที่จะปิดบัญชีการเปิดสงครามร้อนแรงแต่ฝ่ายเดียวของเขาที่กระทำต่อโอบามา ด้วยการใช้คำพูดว่า “ผมไม่ต้องการที่จะทะเลาะอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะทรัมป์ชนะแล้ว”

ภายใต้ทรัมป์ สหรัฐฯอาจสามารถเห็นพ้องกับเรื่องที่ดูเตอร์เตมองเมินคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกที่อิงกับ UNCLOS รวมทั้งด้วยความที่ทรัมป์เองก็ชอบโชว์พลังทำอะไรแบบสุดโหดใจถึงอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่เห็นว่าต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรนักหนาในเรื่องที่ดูเตอร์เตถูกกล่าวหาว่ารณรงค์ปราบปรามยาเสพติด/ยิงทิ้งผู้ต้องสงสัยแบบใช้อำนาจศาลเตี้ยอย่างไม่บันยะบันยัง

บางทีดูเตอร์เตอาจจะรู้สึกซาบซึ้งใจที่พวกหน่วยงานคนดีของสหรัฐฯทั้งหลาย จะเลิกจัดหากระสุนแห่งสิทธิมนุษยชนและการประจบเอาใจจีนมาให้แก่พวกปรปักษ์ภายในฟิลิปปินส์ของเขา เพื่อเอาไว้ใช้ยิงใส่เป้าตาวัว “คนเถื่อนแห่งเอเชียและศัตรูของอเมริกา” ซึ่งตัวเขานี่แหละเป็นผู้พยายามพ่นเอาไว้ที่แผ่นหลังของเขาเอง บางทีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทน ดูเตอร์เตอาจหวนกลับมายกเลิกการที่เขาประกาศยุติไม่ซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯอีกต่อไป โดยอย่างน้อยที่สุดอาจจะตกลงให้มีขึ้นได้ในพื้นที่อื่นซึ่งไม่ใช่เกาะมินดาเนา ซึ่งเรื่องนี้ย่อมจะสร้างความยินดีปรีดาให้แก่ทั้งเพนตากอนและทั้งแก่ฝ่ายทหารของฟิลิปปินส์เอง ขณะเดียวกันก็จะช่วยบรรเทาความโมโหโทโสของ ฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) ผู้อุปถัมภ์ที่ทรงอำนาจของดูเตอร์เต (รามอสยังเป็นผู้พิทักษ์รักษาความเป็นหุ้นส่วนทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์, เป็นอดีตประธานาธิบดีและอดีตเสนาธิการทหารตลอดจนอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของฟิลิปปินส์อีกด้วย)

เราน่าจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ว่า กองบัญชาการของพวกปักหมุดสหรัฐฯซึ่งเที่ยวผู้ผลิตงานวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จะแสดงความแข็งกร้าวขนาดไหนในการเรียกร้องให้คณะบริหารทรัมป์เคารพปฏิบัติให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ในฐานะที่เป็นแกนกลางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในด้านเอเชียและในนโยบายต่อฟิลิปปินส์

อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งถ้าหากทรัมป์หยุดดำเนินตามนโยบายของโอบามาต่อไปแล้ว ก็น่าจะปลดเปลื้องสหรัฐฯให้หลุดออกมาจากความอิหลักอิเหลื่อที่การปักหมุดกำลังทำให้เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ พื้นที่ดังกล่าวได้แก่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ขณะที่บางทีรัฐบาลเกาหลีใต้อาจจะรู้สึกสำนักบุญคุณจากการที่ทรัมป์เตือนให้ระลึกว่า สาธารณรัฐเกาหลีไม่เป็นเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (หรือบางทีกระทั่งอาจจะไม่ใช่สถานที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ) ที่จะเกิดมหันตภัยทางการเมืองขึ้นมา แต่เกาหลีใต้ก็มีความกระวนกระวายใจอย่างชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่ทรัมป์จะก่อให้เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์อันเต็มไปด้วยปัญหา ที่สาธารณรัฐเกาหลีมีอยู่กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชานเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-korea-braces-for-uncertainties-as-trump-presidency-could-spell-trouble)

เป็นความกระวนกระวายใจที่มีเหตุผลทีเดียว

ในปัจจุบัน สหรัฐฯพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบแห่งยุทธศาสตร์ต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์แบบแข็งกร้าวฮาร์ดคอร์ โดยกำลังเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกำจัดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาเอง ทั้งนี้อาจจะต้องขอบคุณการที่ประธานาธิบดีโอบามาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเนื่องจากการเรียกร้องผลักดันนโยบายห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุผลที่ฟังดูติดดินไม่ได้ดูสูงส่งอะไรขนาดนั้น ก็มีอยู่ว่าฐานะความมีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าใครๆ ในทางยุทธศาสตร์ในตลอดทั่วทั้งเอเชียของสหรัฐฯ จะต้องถูกทำลายลง ถ้าหากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นทำการตอบโต้ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ ด้วยการจัดทำโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาเอง

จากการที่เกาหลีเหนือกำลังสร้างคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตนขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง, ขณะเดียวกันก็กำลังทำงานในเรื่องจรวดที่จะใช้ส่งอาวุธเล่านี้ไปสู่เป้าหมาย, รวมทั้งมีสมรรถนะทางนิวเคลียร์ในระดับขยับเข้าไปใกล้เส้นสีแดงที่สหรัฐฯขีดเอาไว้ ดังนั้นพวกนักวางแผนทางทหารของสหรัฐฯกับสาธารณรัฐเกาหลีจึงนำเอาแผนการโจมตีแบบที่มุ่งเด็ดหัวโสมแดง (เล่นงานคณะผู้นำเกาหลีเหนือ และ/หรือสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของโสมแดง) เข้าสู่วาระการพิจารณา สำหรับทางเลือกที่อาจก่อให้เกิดสภาพโลกาวินาศน้อยกว่านี้ ได้แก่การใช้ “การลงโทษคว่ำบาตรแบบมุ่งบดขยี้” ต่อเกาหลีเหนือ ทว่าโอกาสที่เรื่องนี้จะทำได้สำเร็จได้ลดลงไปอย่างมากมายเสียแล้ว จากการที่สหรัฐฯตกลงที่จะนำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD เข้าไปติดตั้งประจำการในเกาหลีใต้ จนกระทั่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้เป็นตัวแสดงหนึ่งเดียวที่อาจทำให้การลงโทษคว่ำบาตรดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จได้

เมื่อเผชิญกับทางเลือกที่ช่างเลือกไม่ลงสักทางเดียวเช่นนี้ นักยุทธศาสตร์อเมริกาบางคนจึงกำลังเริ่มเอนเอียงไปสู่จุดยืนที่ว่า สหรัฐฯควรต้องทำในสิ่งที่เกาหลีเหนือเรียกร้องต้องการมาโดยตลอด ได้แก่การเปิดการเจรจาต่อรองกันโดยตรงซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับสถานะความเป็นรัฐผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับโอบามา แต่สำหรับทรัมป์ล่ะ?

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง ทรัมป์ค่อนข้างแสดงอาการไม่ได้สนอกสนใจอะไรนักหนาในเรื่องความเป็นไปได้ที่ชาติในเอเชียจะพากันติดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเท่ากับเปิดกว้างในเรื่องที่เขาอาจจะตัดสินใจเลือกเส้นทางเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากที่ปรึกษาบางคนหรือสำนักคลังสมองบางแห่งมีการตระเตรียมเพื่อจัดหาโล่กำบังทางการเมืองอะไรบางอย่างให้แก่เขา

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เหล่านี้ ครั้นเมื่อหันมาพูดถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนบ้าง กลับดูเหมือนว่าน่าสงสัยเสียจริงๆ ว่าในวาระของทรัมป์นั้นจะมีโอกาสที่จะบรรจุเรื่องความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับปักกิ่งเข้าไปบ้างไหม

สำหรับทรัมป์แล้ว ในคำบรรยายอ้างเหตุผลที่ทำให้อเมริกันอยู่ในภาวะตกต่ำในปัจจุบันนั้น เขามอบหมายบทผู้ร้ายให้แก่จีน แล้วยิ่งเมื่อคำนึงถึงการที่เขาแสดงท่าทีต้องการปรองดองกับรัสเซียด้วยแล้ว มันก็ยากที่จะจินตนาการได้ว่า นโยบายว่าด้วยจีนของทรัมป์จะไม่มีการสร้างสมดุล ด้วยการเข้าประจันหน้าอย่างเกรียวกราวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการค้า, ไซเบอร์, การจารกรรมทางอุตสาหกรรม, และอื่นๆ อีกทำนองเดียวกันนี้ ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์ทางการทหาร/อุตสาหกรรม/ความมั่นคง ตามเล่นงานเขาอย่างไม่ยอมเลิกรา ทรัมป์จำเป็นต้องผลักดันนำเสนอภารกิจในเอเชียซึ่งจะทั้งสามารถเล่นงานจีนและทั้งสร้างความพึงพอใจให้เพนตากอน

ภารกิจดังกล่าวนี้อาจจะได้แก่คำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่เลียนแบบนโยบายของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในการเร่งเดินหน้าเพื่อต่อเรือรบเพิ่มขึ้นมาให้ได้เป็นจำนวน 350 ลำ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดที่สามารถเติมเต็มความปรารถนาของกองทัพเรือสหรัฐฯ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ความปรารถนาของพวกอุตสาหกรรมต่อเรืออเมริกัน (เป้าหมายในปัจจุบันนั้นอยู่ที่แค่ 308 ลำ) ยิ่งกว่านั้นมันยังจะกลายเป็นเครื่องสนับสนุนเสริมส่งทางฝั่งทหาร ต่อแผนการการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในทางฝั่งพลเรือนของทรัมป์ โดยที่การก่อสร้างการสร้างงานจำนวนมากๆ เหล่านี้คือส่วนสำคัญในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอันหยาบๆ คร่าวๆ และ/หรือยาครอบจักรวาลแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองของเขา

เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในสภาพใช้จ่ายเงินทองของตนเองจนแทบหมดเนื้อหมดตัวแล้วเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์คล้ายคลึงกันนี้ของตนเอง ปักกิ่งจึงไม่น่าปรารถนายินดีที่จะซื้อหาพันธบัตรตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้จ่ายในการดำเนินแผนการต่างๆ ที่ทรัมป์ประกาศเอาไว้

อย่างไรก็ตาม การสร้างเรือรบเหล่านั้นและนำมาแล่นรอบๆ เอเชียในการซ้อมรบร่วมกับประเทศต่างๆ ตลอดจนในการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือที่เป็นการท้าทายจีน น่าจะเป็นวิธีที่ดีซึ่งทำให้เพนตากอนสามารถได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้นตามที่ปรารถนา หลังจากที่ได้ถูกลดทอนลงในบางระดับจากคณะบริหารโอบามา

สำหรับจีนแล้ว ข่าวดีก็คือมีรายงานว่าโลกทัศน์ของทรัมป์อยู่ในลักษณะแบบมุ่งดำเนินการอะไรอย่างสั้นๆ แคบๆ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขามีขอบเขตความใส่ใจกับสิ่งภายนอกในระดับนกฮัมมิ่งเบิร์ดตัวกระจิ๋ว และจึงมีความโน้มเอียงที่จะโฉบจากประเด็นปัญหาหนึ่งไปสู่อีกประเด็นปัญหาหนึ่งเพื่อหาผลประโยชน์ความได้เปรียบระยะสั้น แทนที่จะพยายามมุ่งมั่นดำเนินแผนการอันยาวนานหลายสิบปีซึ่งทั้งมีขนาดมหึมา, ยากลำบาก, และมีความเสี่ยงสูง เพื่อทำให้จีนต้องยอมสยบโดยผ่านยุทธศาสตร์การปักหมุด และทำความฝันแห่ง “ศตวรรษแปซิฟิกของอเมริกัน” (America’s Pacific Century) ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา

แต่ข่าวร้ายสำหรับจีนก็คือมีรายงานว่าโลกทัศน์ของทรัมป์อยู่ในลักษณะแบบมุ่งดำเนินการอะไรอย่างสั้นๆ แคบๆ และเมื่อต้องเผชิญกับการล็อบบี้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจของพวกที่เชียร์นโยบายปักหมุด ซึ่งมีเครือข่ายอันกว้างขวางใหญ่โตของผู้สนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าในเพนตากอน, ในคลังสมองต่างๆ, สื่อ, และในวงการอุตสาหกรรม ทรัมป์และทีมนโยบายการต่างประเทศของเขาที่มีงานล้นมือเต็มทีอยู่แล้ว จึงน่าที่จะยอมยกงานด้านนโยบายเอเชียจำนวนมากไปให้แก่พวกที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน

ในกรณีเช่นนี้ จีนย่อมมีหวังจะต้องเผชิญความเลวร้ายที่สุด ทั้งจากทรัมป์เองและทั้งจากนโยบายการปักหมุด

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์จะไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)


หรือ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ คิดเล่นงาน‘จีน’ โดยอาศัยการปรับสัมพันธ์กับ ‘ปูติน’
นโยบายการต่างประเทศโดยรวมของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเรียบง่ายและตรงไปตรงมาเมื่อเทียบกับแผนการอันซับซ้อนของฮิลลารี คลินตัน ขณะที่คลินตันต้องการทั้งสนับสนุนการรวมตัวของยุโรป, เผชิญหน้ากับรัสเซีย, และปักหมุดหวนกลับคืนไปมีฐานะครอบงำเหนือเอเชีย แต่สำหรับทรัมป์แล้ว เขาทอดทิ้งยุโรป, ทำข้อตกลงกับปูติน, โดยที่ในเอเชียนั้นจะขอความสนับสนุนจากปูติน อีกทั้งทรัมป์ยังอาจจะยื่นข้อเสนอชนิดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ต่อจีน ทั้งนี้แผนการของทรัมป์ต่อประเทศจีนนั้น โดยพื้นฐานแล้วมันก็เป็นอย่างเดียวกันกับแผนการของคลินตันนั่นเอง ยกเว้นแต่ว่าทรัมป์จะไม่มีเรื่องยุโรปมาคอยหันเหความสนใจ และก็จะได้รับความสนับสนุนจากรัสเซียอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น