xs
xsm
sm
md
lg

สายสัมพันธ์ทางทหาร‘รัสเซีย-จีน’ก้าวกระโดดไปอีกก้าวใหญ่

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Russia-China military ties take a leap forward
By M K Bhadrakumar
11/09/2016

จีนกับรัสเซียกำลังจัดการซ้อมรบทางนาวีร่วมกันในทะเลจีนใต้ จากรายละเอียดกิจกรรมที่เปิดเผยออกมา ชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่การฝึกตามกิจวัตรปกติ หากแต่เป็นหลักหมายแสดงถึงก้าวกระโดดไปข้างหน้าในสายสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง

ผ้าที่ปิดคลุมแผนการซ้อมรบทางนาวีร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซียในทะเลจีนใต้ ได้ถูกเปิดออกมาแล้วในที่สุดหลังจากที่เฝ้ารอกันมานานทีเดียว จากสิ่งที่ปักกิ่งเผยให้เห็นในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน เกี่ยวกับการฝึกซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า “จอยต์ ซี-2016” (Joint Sea-2016) โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 8 วันเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 กันยายนคราวนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่จะเรียกว่าเป็นการฝึกตามกิจวัตรปกติได้เลย อย่าได้สำคัญผิดเป็นอันขาด นี่เป็นหลักหมายแสดงถึงการก้าวกระโดดไปข้างหน้าในสายสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับรัสเซีย และก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องลงรอยกันในทางยุทธศาสตร์อย่างสำคัญ

โฆษกของกองทัพเรือจีนเปิดเผยว่า การซ้อมรบครั้งนี้จะจัดขึ้น “นอกชายฝั่งมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)” ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน โดยมิได้ให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้ ทั้งนี้กองทัพเรือของทั้ง 2 ประเทศต่างจัดส่งทั้งเรือผิวน้ำ, เรือดำน้ำ, อากาศยานปีกตรึง, เฮลิคอปเตอร์ขึ้นลงจากเรือของเหล่านาวิกโยธิน, และยุทโธปกรณ์หุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกเข้าร่วมการฝึก

คำแถลงของโฆษกกองทัพเรือจีนกล่าวต่อไปว่า กองทัพเรือของทั้ง 2 ประเทศจะ “ดำเนินปฏิบัติการทางด้านการป้องกัน, การกู้ภัย, และการต่อต้านเรือดำน้ำ นอกเหนือจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเข้ายึดเกาะและอื่นๆ ... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะดำเนินการฝึกยิงด้วยกระสุนจริง, การปฏิบัติการเดินทางข้ามทะเลและการยกพลขึ้นเกาะ, ตลอดจนการฝึกด้านการป้องกันและการรุกโจมตีเกาะ เป็นต้น” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/1005847.shtml)

หน่วยทหารที่จะเข้าร่วมในคราวนี้ ของฝ่ายจีนจะเป็นทัพเรือทะเลใต้ (South Sea Fleet) ส่วนของฝ่ายรัสเซียคือ ทัพเรือแปซิฟิก (Pacific Fleet) แน่นอนทีเดียวว่า ทัพเรือทะเลใต้คือหน่วยซึ่งแสดงบทบาทสำคัญในน่านน้ำพิพาทต่างๆ ของทะเลจีนใต้ อันที่จริงแล้ว หน่วยนี้แหละเป็นกำลังสำคัญในการเข้ายึดครองหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) ในปี 1974

การซ้อมรบคราวนี้ยังบังเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิหลังที่พิเศษผิดธรรมดา เพียง 6 วันก่อนหน้านั้น รัสเซียเพิ่งประกาศจุดยืนของตนว่าด้วยประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดยืนที่สร้างความพึงพอใจให้แก่จีนเป็นอย่างยิ่ง มันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างใหญ่โตทีเดียวที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้แถลงเรื่องนี้ด้วยตนเอง และเป็นการแถลงจากดินแดนจีนอีกด้วย ในขณะที่เขากำลังจะออกเดินทางกลับบ้านภายหลังเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 ในเมืองหางโจวแล้ว

ปูตินพูดถึงเรื่องนี้ในรูปแบบของการตอบคำถามจากนักข่าว เขาแถลงว่าดังนี้:

ผมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีมากซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความไว้วางใจกัน ผมต้องขอบอกว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันมิตร อย่างไรก็ตาม เขาไม่เคยเลย –ผมใคร่ที่จะขอย้ำเรื่องนี้— คือ เขาไม่เคยขอให้ผมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหา (ทะเลจีนใต้) นี้ หรือทำการแทรกแซงไม่ว่าในทางใดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรประเภทนี้เคยผ่านออกจากปากของเขาเลย ทว่าแน่นอนทีเดียว เรามีความคิดเห็นของเราเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความคิดเห็นที่ว่านี้เป็นอย่างไร? ก่อนอื่นเลย เราจะไม่เข้าแทรกแซง เราเชื่อว่าการเข้าแทรกแซงโดยมหาอำนาจใดๆ ก็ตามจากภายนอกภูมิภาคนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่หนทางแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาเหล่านี้ ผมเชื่อว่าการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันของมหาอำนาจฝ่ายที่สามใดๆ จากภายนอกภูมิภาคนี้ เป็นสิ่งที่จะสร้างความเสียหายและไม่บังเกิดผลดีใดๆ นี่คือประเด็นแรกที่ผมขอพูด

ประการที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก และคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้นั้น เราเห็นด้วยและขอสนับสนุนจุดยืนของจีนที่ไม่รับรองคำตัดสินของศาลแห่งนี้ ผมจะขอชี้แจงให้พวกคุณทราบถึงเหตุผลในเรื่องนี้ มันไม่ใช่เป็นจุดยืนทางการเมือง แต่เป็นจุดยืนทางกฎหมายแท้ๆ ทีเดียว นั่นก็คือ กระบวนการพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการใดๆ ก็ตาม ควรที่จะต้องริเริ่มขึ้นมาโดยฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในข้อพิพาท ขณะที่ศาลอนุญาโตตุลาการก็ควรต้องรับฟังคำโต้แย้งและความเห็นแสดงจุดยืนของฝ่ายต่างๆ ซึ่งพิพาทกันอยู่ ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จีนไม่ได้ไปเข้าร่วมการพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกเลย และไม่มีใครเลยในศาลแห่งนั้นที่ได้รับฟังการแถลงจุดยืนต่างๆ ของฝ่ายจีน ดังนั้น คำตัดสินเหล่านี้จะถือว่ามีความเป็นธรรมได้อย่างไร? เราจึงสนับสนุนจุดยืนของจีนในประเด็นปัญหานี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/52834)


นี่เป็นจุดยืนอันคมชัดซึ่งไม่ใช่การแสดงตนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในข้อพิพาทในลักษณะที่เพิกเฉยละเลยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงความดูหมิ่นอย่างแหลมคมต่อการเข้าไปแทรกแซงของวอชิงตัน จุดยืนเช่นนี้เป็นการส่งเสริมหนุนเนื่องวัตถุประสงค์ของฝ่ายปักกิ่ง ขณะเดียวกันสำหรับฝ่ายมอสโกนั้น ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อเรื่องที่รัสเซียกำลังพยายามพัฒนาสายสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับเวียดนาม หรือกับสมาคมอาเซียนโดยรวม ปักกิ่งแสดงออกมาให้เห็นว่ารู้สึกพึงพอใจ โดยที่กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวยกย่องสรรเสริญคำแถลงคราวนี้ของปูติน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/t1395926.shtml)

เกี่ยวกับการซ้อมรบร่วมครั้งนี้ มีรายงานว่ามอสโกกับปักกิ่งมีการปรับรายละเอียดของการฝึกอยู่บ่อยครั้ง โดยสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเนื่องจากคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างรวดเร็วในความมั่นคงของภูมิภาค เหตุผลประการหนึ่งอาจจะได้แก่การที่สหรัฐฯตัดสินใจส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” (USS Ronald Reagan) ไปยังเกาหลีใต้ เพื่อร่วมการซ้อมรบทางนาวีในช่วงกลางเดือนตุลาคม การฝึกนี้มุ่งหมายที่จะให้เป็นการสำแดงพลังความเข้มแข็งต่อเกาหลีเหนือ ทว่ามันก็กำลังจัดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดของภูมิภาคว่าด้วยเกาหลีเหนือกำลังเพิ่มทวีขึ้นมาก และ ยูเอสเอส เรแกน คือส่วนหนึ่งของหมู่เรือโจมตีของอเมริกันซึ่งตั้งฐานอยู่ในญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯที่ประจำการอยู่ส่วนหน้าเพียงลำเดียวในภูมิภาคแถบนี้

น่าสนใจทีเดียวที่ วาเลนตินา มัตวิเยนโค (Valentina Matviyenko)ประธานสภาสูงแห่งรัฐสภารัสเซียซึ่งกำลังเยือนจีน ได้กล่าวย้ำในกรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายนว่า รัสเซียกับจีนมีจุดยืนที่เหมือนกันในเรื่องเกาหลีเหนือ อีกหนึ่งวันต่อมา คือในวันเสาร์ (10 ก.ย.) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียก็ได้ออกคำแถลงร่วมกับฝ่ายจีน เรียกร้องฝ่ายต่างๆ หลีกเลี่ยงอย่าได้มีการเคลื่อนไหวอย่างหุนหันพลันแล่น

การแสดงจุดยืนว่าด้วยทะเลจีนใต้ของปูตินคราวนี้ ไม่ใช่เป็นการร่ายกลอนสดอย่างชนิดมิได้มีการเตรียมการมาก่อน คำถามใหญ่อยู่ที่ว่ามอสโกกับปักกิ่งสามารถสำรวจค้นหาส่วนประกอบพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรกันได้หรือไม่ นี่อาจจะไม่ใช่เป็นการจับมือเป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ ทว่าสามารถเตรียมการให้พวกเขาพรักพร้อมสำหรับการตอบโต้ผลักดันให้ถอยกลับ ถ้าหากสหรัฐฯจะเกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายไปในทิศทางแห่งการเป็นนักแทรกแซงอย่างชัดเจนรวมทั้งมีความพร้อมเพิ่มขึ้นมากที่จะใช้แสนยานุภาพทางทหารภายใต้ประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป การที่สหรัฐฯส่งระบบป้องกันขีปนาวุธ “ทาด” (THAAD) เข้าไปประจำการในเกาหลีใต้ คือเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลร่วมให้แก่ทั้งรัสเซียและจีน ขณะเดียวกัน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นพยายามใช้วิธีรุกด้วยการหว่านโปรยเสน่ห์อย่างแยบยลไร้ข้อตำหนิ แต่ปูตินก็แสดงให้เห็นชัดว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะยินยอมอ่อนข้อเรื่องดินแดนใดๆ ให้ญี่ปุ่น ในปัญหาพิพาทว่าด้วยหมู่เกาะคูริล (Kurile Islands)

อันที่จริง แนวความคิดว่าด้วยจีนกับรัสเซียจับมือเป็นพันธมิตรกันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เมื่อปี 2014 รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซียร์เกย์ ชอยกู (Sergei Shoigu) ได้เคยทดลองเสนออย่างเปิดเผย เกี่ยวกับแนวความคิดที่จะให้รัสเซียจับมือเป็นแนวร่วมกับจีนเพื่อสู้รบกับการก่อการร้ายและเพื่อตอบโต้ “การปฏิวัติสี” (color revolutions’ color revolutions) ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่

ก่อนหน้าที่ปูตินจะเดินทางไปหางโจว เขาได้ออกมากล่าวถึงความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับจีนในเวลานี้ว่าเป็น “หุ้นส่วนแบบครอบคลุมรอบด้านและเป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” สำหรับทางด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้น ขณะพบปะหารือกับปูตินในหางโจวเมื่อวันที่ 4 กันยายน เขาได้เรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาให้จีนกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น และรวมกลุ่มกันเชิงยุทธศาสตร์อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2016-09/04/c_135660159.htm)

(เก็บความจากข้อเขียนในบล็อก Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น