xs
xsm
sm
md
lg

จุดสำคัญๆ ในคำตัดสิน ‘ศาลกรุงเฮก’ เห็นชอบเห็นงามตามคำฟ้องของฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ของฟิลิปปินส์พากันโปรยดอกไม้ขณะตะโกนคำขวัญต่อต้านจีนด้วยสีหน้ายินดีปรีดา ที่บริเวณอ่าวในมหานครมะนิลา เมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) ภายหลังทราบผลการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - คณะผู้พิพากษา 5 คนของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ เมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) ประกาศคำตัดสินในคดีซึ่งฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างมองกันว่าเป็นการวินิจฉัยที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงในทางกฎหมายต่อเหตุผลข้ออ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่ง ขณะที่เป็นผลดีต่อมะนิลา

ต่อไปนี้คือประเด็นหลักๆ ในคำฟ้องของฟิลิปปินส์ และจุดสำคัญๆ ในคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

ประเด็นหลักๆ ในคำฟ้องของฟิลิปปินส์

คำฟ้องที่รัฐบาลยื่นต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อปี 2013 นั้นมี 15 ประเด็นด้วยกัน แต่อาจสรุปเป็นประเด็นหลักๆ ได้ 5 ประเด็น ดังนี้

1. จีนไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องบังคับใช้สิ่งที่ปักกิ่งเรียกว่า “สิทธิตามประวัติศาสตร์” เหนือน่านน้ำต่างๆ ซึ่งอยู่เกินเลยข้อจำกัดที่นิยามเอาไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) อันเป็นสนธิสัญญาซึ่งทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างก็เป็นภาคีอยู่

2. แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” (nine dash line) ของจีน ไม่มีพื้นฐานใดๆ รองรับเลยในกฎหมายระหว่างประเทศ

3. แผ่นดินลักษณะต่างๆ ในทะเล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จีนใช้ในการยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนในทะเลจีนใต้นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็น “เกาะ” (island) ตามที่จีนกล่าวอ้าง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีศักยภาพทางกฎหมายที่จะก่อให้เกิดสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนั้น การที่จีนทำการสร้างเกาะเทียมขึ้นมาจำนวนมากในช่วงหลังๆ นี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้

ทั้งนี้ ตาม UNCLOS หากเป็นแผ่นดินที่โผล่ขึ้นมาเมื่อน้ำลง เช่น แนวปะการัง (reef) ไม่ถือว่าก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ชาติที่ครอบครอง แต่ถ้าเป็นก้อนหิน (Rock) จะสามารถอ้างน่านน้ำอาณาเขตห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล และถ้าเป็นเกาะ (Island) จะสามารถอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEF) เป็นระยะห่างจากชายฝั่ง 200 ไมล์ทะเล

4. จีนละเมิด UNCLOS จากการขัดขวางไม่ให้ฟิลิปปินส์ใช้สิทธิอันถูกต้องชอบธรรมของตนในการทำประมงและในการสำรวจขุดค้นทรัพยากร

5. จีนสร้างความเสียหายให้แก่สภาพแวดล้อมอย่างชนิดไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้ ด้วยการทำลายแนวปะการัง, ใช้วิธีการทำประมงที่สร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และจับสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ในทะเลจีนใต้
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2015 และเผยแพร่โดยศาลอนุญาโตตุลาการถาวร แสดงให้เห็นบรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี ในกรุงเฮก</i>
จุดสำคัญในคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ของจีนนั้นใช้ไม่ได้

--คณะผู้พิพากษาทั้ง 5 พบว่า ชาวประมงจีนก็เช่นเดียวกับชาวประมงอื่นๆ ในอดีต โดยได้เคยใช้สอยหาประโยชน์จากเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ทว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าในอดีตจีนได้เคยประกาศใช้สิทธิควบคุมแต่เพียงผู้เดียวเหนือน่านน้ำเหล่านั้นหรือทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่ในเขตน่านน้ำเหล่านั้น
“คณะผู้พิพากษาสรุปว่าจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ เลยที่จะอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์ต่อทรัพยากรต่างๆ ภายในพื้นที่ทะเล ซึ่งตกอยู่ภายใน “เส้นประ 9 เส้น”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ย่อมเป็นสิ่งที่ลบล้างแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งจีนได้ใช้เป็นพื้นฐานในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ราวๆ 85% ของทะเลจีนใต้มาเป็นเวลา 69 ปีแล้ว

เกาะทั้งหลายที่ถมทะเลสร้างขึ้นมาไม่มีสิทธิอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ

--บรรดาเกาะเทียมทั้งหลายที่จีนกำลังเร่งรีบสร้างขึ้นในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ไม่มีศักยภาพที่จะให้ประชากรอยู่อาศัยเลี้ยงชีพได้ ดังนั้นภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆ จึงไม่สามารถอ้างสิทธิมีเขต “เศรษฐกิจจำเพาะ” 200 ไมล์ทะเล แบบเกาะที่มีประชากรพำนักอาศัยได้
“คณะผู้พิพากษาชี้ว่า การปรากฏตัวในปัจจุบันของพวกบุคลากรของทางการในแผ่นดินจำนวนมากเหล่านี้ ต้องขึ้นต่อและพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอก และไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของแผ่นดินนั้นๆ ... (และ) ... (แผ่นดิน) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ไม่มีแห่งใดเลยซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิด (การอ้างสิทธิ) เขตทะเลเพิ่มเติมได้
“คณะผู้พิพากษาพบว่า โดยที่ยังไม่ต้องกำหนดเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน คณะผู้พิพากษาก็สามารถประกาศได้แล้วว่าพื้นที่ทะเลหลายๆ แห่งเหล่านั้นอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเหลื่อมซ้อนโดยการอ้างสิทธิใดๆ ที่มีความเป็นไปได้ของฝ่ายจีนเลย”
<i>ทหารของกองทัพเรือจีน เดินลาดตระเวนบนเกาะวูดดี้ ในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของทะเลจีนใต้  (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2016)  จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพาราเซล โดยเรียกชื่อเป็นภาษาจีนว่าหมู่เกาะซีซา </i>
จีนประพฤติปฏิบัติตนอย่างผิดกฎหมาย

เนื่องจากพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหานั้นอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ การที่จีนทำการก่อสร้างเกาะเทียมของตน และการที่จีนแทรกแซงขัดขวางกิจกรรมในการทำประมงและการขุดค้นทรัพยากรแร่ธาตุของฟิลิปปินส์ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
“จีนได้ละเมิดสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ คณะผู้พิพากษายังเห็นต่อไปอีกว่า พวกเรือบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายจีนได้กระทำการผิดกฎหมาย จากการก่อให้เกิดความเสี่ยงอันร้ายแรงที่จะเกิดการชนกัน เมื่อเรือเหล่านี้เข้าขัดขวางในทางกายภาพต่อเรือของฝ่ายฟิลิปปินส์”

จีนสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

การที่จีนดำเนินการถมทะเลสร้างเกาะเทียมอย่างขนานใหญ่ “ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง และละเมิดพันธกรณีของจีนที่จะต้องสงวนรักษาและปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศอันเปราะบาง”
จีนยังสะเพร่าเลินเล่อ จากความล้มเหลวที่ไม่ได้หยุดยั้งไม่ให้ชาวประมงของตน “ทำการจับเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์, เก็บปะการัง และจับหอยมือเสือ” จนอาจก่อให้เกิดอันตราย

การสร้างเกาะเทียมควรต้องยุติลงในระหว่างอยู่ในกระบวนการตัดสินข้อพิพาท

คณะผู้พิพากษาบอกว่า ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินกรณีการประจันหน้ากันทางทหารที่บริเวณแนวปะการัง เซกันด์ โธมัส โชล ระหว่างเรือของกองทัพฟิลิปปินส์ กับเรือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีน
อย่างไรก็ตาม “การที่จีนทำการถมทะเลและก่อสร้างเกาะเทียมต่างๆ อย่างใหญ่โตในช่วงหลังๆ มานี้ เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีซึ่งรัฐหนึ่งๆ พึงต้องปฏิบัติในระหว่างกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท ในเมื่อจีน ... ได้ทำลายหลักฐานเกี่ยวกับสภาวการณ์ตามธรรมชาติของแผ่นดินลักษณะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพิพาทโต้แย้งของคู่กรณี”

กำลังโหลดความคิดเห็น