เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ / เอพี - หลังจากรอคอยมานาน 3 ปี ในที่สุดเมื่อวันอังคาร ที่ 12 ก.ค. 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเล 5 คน ก็ได้ตัดสินให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะ ในการยื่นเรื่องร้องต่อศาลกรณีที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ โดยศาลชี้ว่า ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายให้จีนอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์เหนือน่านน้ำและทรัพยากรตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีน และจีนยังได้ละเมิดอธิปไตยในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์อีกด้วย
ปมสำคัญของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับ 4 ชาติอาเซียน คือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และมีไต้หวันร่วมอีกหนึ่งชาติก็คือแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีน (nine-dash line) ซึ่งจีนได้ลากครอบคลุมน่านน้ำในทะเลแห่งนี้ถึงร้อยละ 90 จากแผ่นดินใหญ่ไกลออกไปถึง 2,000 กิโลเมตร กระทั่งล้ำเข้าไปในน่านน้ำของฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ราว 200-300 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮกแต่ฝ่ายเดียว โดยที่จีนไม่ยอมเข้าร่วมด้วย เพื่อขอให้ศาลตัดสินว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนไม่สอดคล้องกับหลักการปักปันเขตแดนทางทะเล ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งทำขึ้นในปี 2525 หรือ ค.ศ. 1982 (Unclos) และยึดถือลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์
ทั้งนี้ แผนที่เส้นประของจีนมีขึ้นก่อนหน้าการทำอนุสัญญาฉบับดังกล่าว โดยแผนที่เดิม ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ปี 2490 ในสมัยที่จีนยังเป็นสาธารณรัฐจีน (ROC ) นั้น จีนได้ลากเส้นประ เป็นรูปตัว U ทั้งหมด 11 เส้น ครอบคลุมพื้นที่ที่จีนอ้างเป็นเจ้าของมาแต่โบราณกาล อย่างไรก็ตาม เป็นการอ้างที่คลุมเครือ
เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นในปี 2492 และพรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงครามกลางเมือง ถอยร่นไปตั้งหลักบนเกาะไต้หวัน รัฐบาลคอมมิวนิสต์จึงประกาศเป็นตัวแทนจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งเป็นเจ้าของสิทธิทางทะเลตาม ที่อ้างทั้งหมด ต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล จีนได้ยกเลิกเส้นประ 2 เส้น ที่ลากเข้าไปในอ่าวตังเกี๋ย เพื่อแสดงไมตรีจิตต่อเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นชาติคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้าน
จีนได้ให้สัตยาบันต่อ Unclos ในปี 2535 อย่างไรก็ตาม ตราบจนถึงขณะนี้ จีนไม่เคยมีการยื่นเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ภายในเส้นประ 9 เส้นอย่างเป็นทางการเลย นอกจากนั้น จีนยังได้ปักปันเขตแดนเพิ่ม โดยรวมหมู่เกาะ สันดอน แนวปะการังเข้ามา รวมทั้งสร้างเกาะเทียม โดยจีนเข้าควบคุมแนวปะการัง 7 แห่งจากทั้งหมดราว 200 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลี ในช่วง 2523-2533 และควบคุมสันดอนสการ์โบโร ในปี 2555 ตลอดจนลากเส้นประเส้นที่ 10 เข้าไปยังทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะไต้หวัน ในปี 2556 อีกด้วย
ปักกิ่งประกาศมาตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องว่า จะไม่ยอมรับคำตัดสิน เนื่องจากข้อพิพาทนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮก
นอกจากนั้น ยังโต้แย้งว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นเกิดขึ้นตามระเบียบโลกใหม่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนหน้าที่จะมี UNCLOS แผนที่นี้ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรมา โดยปักกิ่งระบุว่า จีนยอมรับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเอาพื้นที่ในทะเล ที่ญี่ปุ่นเคยยึดครอง กลับคืนมา โดยมีกฎหมายรองรับ และทำตามการอนุญาตของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งเหล่าชาติ ที่มีปัญหากับจีน รวมทั้งสหรัฐฯ ที่เข้ามาแทรกแซงข้อพิพาทในตอนนี้ ก็มิได้แสดงการคัดค้านในเวลานั้น
นักวิเคราะห์มองการเดินเกมของปักกิ่งเกี่ยวกับแผนที่เส้นประ 9 เส้นนี้ว่า จีนเป็นภาคีใน Unclos ก็จริง แต่จงใจไม่ให้คำนิยามความหมายของเส้นประ 9 เส้นในทางกฎหมาย และไม่มีการชี้แจงว่า จีนมีสิทธิอะไรบ้างภายในพื้นที่ดังกล่าว
ความคลุมเครือนี้เองทำให้ประชาชนในประเทศจีนมากมายเข้าใจว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นก็คือการกำหนดพรมแดนทางทะเลของจีน ครั้นเมื่อชาวจีนมีความเข้าใจคลุมเครือ ปักกิ่งก็ไม่เคยออกมาอธิบายให้กระจ่างเหมือนเดิม ทำให้มีการตีความกันไปหลายแง่ เช่น เส้นประนี้ครอบคลุมบริเวณที่จีนเรียกร้องสิทธิด้านเศรษฐกิจ หรือเป็นการลาก เพื่อกำหนดหมู่เกาะและแนวปะการัง ที่จีนต้องการควบคุม มากกว่าจะต้องการควบคุมน่านน้ำภายในแผนที่
ความกำกวมคลุมเครือเป็นกลยุทธ์ที่ปักกิ่งชอบใช้มานานแล้ว และไม่เคยต่อสู้กับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเปิดเผย แต่ชอบเหลือช่องว่างเผื่อไว้ให้ปักกิ่งได้อ้างอย่างไม่ชัดเจนต่อไปเรื่อย ๆ
แม้คำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮกไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ชัยชนะของฟิลิปปินส์ครั้งนี้มองกันว่า ได้สั่นคลอนการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างรุนแรงและในส่วนชาติคู่กรณีรายอื่นก็เท่ากับได้รับการรับรองจากคำตัดสินไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับไต้หวัน ซึ่งถือว่าตนคือประเทศจีนนั้น ยังคงยึดถือสิทธิตามประวัติศาสตร์ในทะเลจีนใต้ และคงฐานทัพบนหมู่เกาะ ปราตัส (Pratas Islands) รวมทั้งเกาะไท่ผิง ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสแปรตลีไว้
หลังจากศาลมีคำตัดสินออกมาเช่นนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปักกิ่งอาจถูกนานาชาติกดดันมากขึ้นให้ชี้แจงเหตุผลในทางกฎหมายเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในแผนที่เส้นประ 9 เส้น ให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา แต่เชื่อว่า จีนจะไม่ยกเลิกเส้นประ 9 เส้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำตัดสินของศาลมีแต่จะปลุกเร้ากระแสชาตินิยมขึ้นบนแผ่นดินมังกร และสถานการณ์ขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีน กับชาติทั้ง 5 ที่มีสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง จะยิ่งร้อนแรง ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไป