xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ยังคงขัดขวางการจับปลาของ‘ชาวประมงฟิลิปปินส์’ภายหลังคำตัดสินของ‘ศาลกรุงเฮก’

เผยแพร่:   โดย: ลอเรนซ์ นีล ซานโตส

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China must respect Filipino fishermen s right to livelihood after Hague ruling
BY LORENZ NIEL SANTOS
05/08/2016

จีนยังคงขัดขวางห้ามปรามชาวฟิลิปปินส์ไม่ให้เข้าไปทำประมงที่แนวปะการัง “สคาร์โบโร โชล” ถึงแม้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินไปแล้วว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่สร้างความทุกข์ร้อนให้พวกเขาเพิ่มเติมขึ้นอีก นั่นก็คือคำวินิจฉัยใหม่เอี่ยมของศาลสูงสุดของประเทศจีนซึ่งระบุว่าผู้ที่ถูกจับได้ว่าเข้าไปทำประมงอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำ “ของจีน” อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 1 ปี ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของฟิลิปปินส์ ต่างแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการปัญหาการทำมาหากินของชาวประมง แต่ก็ยังคงต้องการให้พวกเขาใช้ความอดทนอดกลั้น และออกห่างจากน่านน้ำพิพาทจนกว่าประเด็นปัญหานี้จะได้รับการคลี่คลายให้ชัดเจนโดยผ่านการพูดจาแบบทวิภาคีกับจีน

รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงเตือนชาวประมงของตนให้ออกห่างจากน่านน้ำพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ หลังจากศาลสูงสุดของจีนออกคำเตือนที่ระบุว่า ผู้ซึ่งถูกจับกุมในความผิดฐานทำประมงอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี

ศาลสูงสุดของจีนออกคำเตือนดังกล่าว ถึงแม้เมื่อเร็วๆ นี้มีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งระบุว่าชาวประมงฟิลิปปินส์มีสิทธิอันชอบธรรมในเรื่องนี้ โดยที่ศาล PCA ได้บอกปัดไม่ยอมรับการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนืออาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ในทะเลจีนใต้

คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรส่วนหนึ่ง คือเรื่องเกี่ยวกับแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ในฐานะที่เป็นแหล่งทำประมงซึ่งหลายๆ ฝ่ายเข้าไปหาประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ ศาล PCA ระบุว่า สคาร์โบโร โชล และแนวปะการังอื่นๆ อีก 5 แห่งนั้นมีสถานะเป็น “โขดหิน” (rocks) ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) หรือ ไหล่ทวีป (continental shelf) รอบๆ “โขดหิน” เหล่านี้ได้

ศาล PCA ยังตัดสินด้วยว่า พฤติการณ์ของจีนในการขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้าไปยังแนวปะการังนี้ คือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในคำตัดสินเดียวกันนี้ PCA ยังรับรองพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นแหล่งทำประมงตามประเพณี ซึ่งไม่เพียงเฉพาะของชาวประมงที่มาจากฟิลิปปินส์เท่านั้น หากแต่เป็นของคนชาติต่างๆ จำนวนมาก

“เราต้องการปล่อยให้อะไรๆ เย็นตัวลงมาเสียก่อน เพราะศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเพิ่งตัดสินไปสดๆ ร้อนๆ นี้เอง” ชาร์ลส์ โฮเซ (Charles Jose) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงกับพวกผู้สื่อข่าว ระหว่างการประชุมมะนิลาว่าด้วยทะเลจีนใต้ครั้งที่ 2 (Second Manila Conference on the South China Sea)

ทั้งนี้ จีนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล PCA

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แถลงว่า คำตัดสินในคดีนี้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย เขายืนยันว่าประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าน่านน้ำพิพาทนี้อยู่ภายในดินแดนของจีน

“ในส่วนของเรานั้น ตอนนี้เราควรแสดงความอดทนอดกลั้นกันไปก่อน” โฮเซ กล่าว พร้อมกับบอกว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับชาวประมงนี้ ควรที่จะถือเป็นเรื่องลำดับต้นๆ ที่หยิบยกขึ้นมาพูดจากับฝ่ายจีน เนื่องจากการทำกินของพวกเขากำลังถูกกระทบกระเทือน

“เป็นเรื่องสำคัญที่ชาวประมงของเราควรสามารถที่จะทำประมงในบริเวณสคาร์โบโร โชล ได้ต่อไป เพราะการทำมาหากินของพวกเขากำลังได้รับความกระทบกระเทือน” โฮเซ กล่าว

“นี่คือประเด็นปัญหาลำดับต้นๆ ประเด็นหนึ่งที่เราควรหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวกับจีน เมื่อเราเปิดการพูดจาโดยตรงกับพวกเขา เรื่องนี้จะต้องหาทางแก้ไขคลี่คลาย” เขากล่าวต่อ

นับตั้งแต่ปี 2012 ที่จีนส่งเรือมาคอยสกัดกั้นขัดขวางไม่ให้เข้าไปยังสคาร์โบโร โชล ชาวประมงฟิลิปปินส์ก็ต้องเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับหน่วยยามฝั่งของจีนเรื่อยมา

ในเดือนกรกฎาคม หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการถาวรประกาศคำตัดสินไปแล้วหลายวัน หน่วยยามฝั่งจีนก็ยังคงสกัดขัดขวางไม่ให้ชาวประมงฟิลิปปินส์เข้าไปใกล้แนวปะการังนี้อยู่นั่นเอง ทั้งนี้เป็นรายงานของทีมข่าวจากเครือข่ายทีวี เอบีเอส-ซีบีเอ็น (ABS-CBN ABS-CBN) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าร่วมกับชาวประมงกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าว

ปรากฏว่าหน่วยยามฝั่งของจีนคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวประมงนี้ และสั่งให้พวกเขาออกจากพื้นที่ไปในทันที

รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นั้น กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องที่มีจุดยืนแบบนุ่มนวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางดินแดนนี้

พวกเจ้าหน้าที่ของดูเตอร์เต ตลอดจน ฟรานซิส จาร์เดเลซา (Francis Jardeleza) ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งอยู่ในคณะทำงานที่ไปทำหน้าที่แก้ต่างคดีนี้ในกรุงเฮก ยังคงแนะนำให้ฟิลิปปินส์เดินหมากอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงจากการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีดูเตอร์เตกล่าวว่า เขาต้องการซ่อมแซมแก้ไขความสัมพันธ์ที่ฟิลิปปินส์มีอยู่กับจีนซึ่งได้เสียหายไปมากระหว่างยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ทั้งนี้คณะบริหารอากีโนนี่เองซึ่งเป็นผู้ริเริ่มยื่นฟ้องร้องจีนในคดีนี้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

ในการกล่าวแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาครั้งแรกของเขา ดูเตอร์เตบอกว่า คำตัดสินของศาล PCA “มีคุณูปการอย่างสำคัญต่อความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางให้ได้หนทางแก้ไขอย่างสันติและการบริหารจัดการข้อพิพาทต่างๆ ของพวกเรา”

ขณะที่ โฮเซ อธิบายว่าถึงแม้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายฟิลิปปินส์ก็จริงอยู่ แต่สถานการณ์ในภาคสนามนั้น เป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป

“ความเป็นจริงมีอยู่ว่า จีนยังคงอยู่ที่นั่น ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเปิดการเจรจาหารือกัน” โฮเซ บอก

จุดยืนของรัฐบาลดูเตอร์เต สอดคล้องกับจุดยืนของ อันโตนิโอ คาร์ปิโอ (Antonio Carpio) ผู้พิพากษาอาวุโสแห่งศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งบอกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพูดจากันเพื่อเจรจาหารือเกี่ยวกับคำตัดสินคราวนี้

“เวลานี้เรามีคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งที่จีนก็ได้รับรองให้สัตยาบันเอาไว้ ศาลแห่งนี้บอกว่าสคาร์โบโร โชล เป็นแหล่งทำประมงตามประเพณีของชาวประมงฟิลิปปินส์และชาวประมงจีน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างสามารถเข้าไปทำประมงที่นั่นได้ เราจะต้องพูดจากับฝ่ายจีนเพื่อจัดทำระเบียบวิธีการ เพื่อที่เราจะสามารถเข้าไปทำประมงในพื้นที่นั้น และเรามีสิทธิอย่างชัดเจนแน่นอนที่จะสามารถไปที่นั่นได้” คาร์ปิโอกล่าว เขาก็เป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งในทีมฟิลิปปินส์ซึ่งไปทำหน้าที่แก้ต่างคดีที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก

ถ้าหากปักกิ่งปฏิเสธไม่ยินยอม คาร์ปิโอบอกว่า ฟิลิปปินส์ย่อมสามารถและก็สมควรที่จะใช้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมาเป็นแต้มต่อ

“ยังมีหนทางอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าจีนได้ยื่นเรื่องภายใต้อนุสัญญา UNCLOS (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล) เพื่อขออนุญาตสำรวจพื้นใต้ทะเล โดยที่อำนาจในการออกใบอนุญาตดังกล่าวเป็นของ องค์การพื้นใต้ทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority) ดังนั้น เราจึงสามารถกลับไปยังศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ถ้าจีนปฏิเสธไม่ยินยอม ยังมีหนทางอีกมากมายที่จะกดดันจีนได้ถ้าหากเขาปฏิเสธ เราไม่ใช่ว่าอยู่ในฐานะที่ไม่มีใครช่วยอะไรได้เลย” เขาอธิบาย

เขาเสริมด้วยว่า ฟิลิปปินส์ยังสมควรที่จะรับเอาวิธีการต่อสู้ในประเด็นปัญหานี้ แบบถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย โดยเขาชี้ว่าพวกผู้นำ, นักธุรกิจ, และกระทั่งนักเรียนนักศึกษาของจีนต่างถูกสอนตั้งแต่ช่วงอายุน้อยๆ ว่า ทะเลจีนใต้เป็นของพวกเขา

เขายังเรียกร้องให้เสริมสมรรถนะด้านกลาโหมของประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม หากแต่เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องปราม


“ศาลจีน” เตือนห้ามทำประมงล่วงล้ำอาณาเขตแดนมังกร ครอบคลุม “น่านน้ำทะเลจีนใต้” ที่ “ศาลกรุงเฮก” ตัดสินว่าไม่ใช่ของปักกิ่ง
“ศาลจีน” เตือนห้ามทำประมงล่วงล้ำอาณาเขตแดนมังกร ครอบคลุม “น่านน้ำทะเลจีนใต้” ที่ “ศาลกรุงเฮก” ตัดสินว่าไม่ใช่ของปักกิ่ง
ศาลสูงสุดของจีนแถลงในวันนี้ (2 ส.ค.) ว่า ผู้ที่ถูกจับกุมในความผิดฐานทำประมงอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำของแดนมังกร ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวต่างประเทศ อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี นอกจากนั้นศาลแห่งนี้ยังอธิบายตีความขอบเขตน่านน้ำเหล่านี้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ด้วย ถึงแม้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศประกาศคำตัดสินเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าการกล่าวอ้างสิทธิดังกล่าวไม่มีเหตุผลข้อสนับสนุนทางกฎหมายรองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น