xs
xsm
sm
md
lg

หรือ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ คิดเล่นงาน‘จีน’ โดยอาศัยการปรับสัมพันธ์กับ ‘ปูติน’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump’s temptations for war in Asia
By Francesco Sisci
14/11/2016

นโยบายการต่างประเทศโดยรวมของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเรียบง่ายและตรงไปตรงมาเมื่อเทียบกับแผนการอันซับซ้อนของฮิลลารี คลินตัน ขณะที่คลินตันต้องการทั้งสนับสนุนการรวมตัวของยุโรป, เผชิญหน้ากับรัสเซีย, และปักหมุดหวนกลับคืนไปมีฐานะครอบงำเหนือเอเชีย แต่สำหรับทรัมป์แล้ว เขาทอดทิ้งยุโรป, ทำข้อตกลงกับปูติน, โดยที่ในเอเชียนั้นจะขอความสนับสนุนจากปูติน อีกทั้งทรัมป์ยังอาจจะยื่นข้อเสนอชนิดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ต่อจีน ทั้งนี้แผนการของทรัมป์ต่อประเทศจีนนั้น โดยพื้นฐานแล้วมันก็เป็นอย่างเดียวกันกับแผนการของคลินตันนั่นเอง ยกเว้นแต่ว่าทรัมป์จะไม่มีเรื่องยุโรปมาคอยหันเหความสนใจ และก็จะได้รับความสนับสนุนจากรัสเซียอีกด้วย

ความท้าทายอย่างแรกสุดซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯจะต้องเผชิญนั้น เห็นได้ชัดเจนเลยว่าคือการทำให้ประเทศชาติกลับมามีความสามัคคีกัน หลังจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอันยาวนานและชั่วร้ายได้ทำให้เกิดรอยแผลน่าสยดสยองและความแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เขาจำเป็นต้องเข้าให้ถึงผู้คนซึ่งเท่าที่ผ่านมาเขาได้ล้อเลียนเยาะเย้ยและดูหมิ่นหยามหยันเอาไว้ และทำให้คนเหล่านี้เกิดความรู้สึกว่า ถึงอย่างไรเขาก็จะเป็นตัวแทนให้แก่พวกเขาได้

ใช่ครับ เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเนื่องจาก “พวกคนน่าสังเวช” (deplorables) ซึ่งที่สำคัญแล้วได้แก่พวกหนุ่มสาวชาวผิวขาวผู้รู้สึกแปลกแยกเพราะได้กระทำความผิดพลาดมากมายเกินไปแล้วในชีวิตของพวกเขาและต้องการโอกาสครั้งที่สอง แต่ตอนนี้เขาก็จะต้องเข้าไปสัมผัสกับ “พวกคนน่าสังเวช” อีกกลุ่มหนึ่งด้วย อันได้แก่พวกชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ, ผู้อพยพที่เพิ่งเข้ามาพำนักในสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้, ชาวรักร่วมเพศ, บรรดาคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว, พวกเสรีนิยมทั้งหลาย [1] เมื่อเวลาผ่านไปถึงระยะใดระยะหนึ่ง ทรัมป์ต้องทำให้ “พวกคนน่าสังเวช” อีกกลุ่มหนึ่งเหล่านี้รู้สึกว่าเขาเป็นตัวแทนของพวกเขาด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศชาติก็จะบริหารปกครองได้อย่างลำบากยากเย็นยิ่ง

นั่นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ผู้ซึ่งประสบเรื่องอย่างนี้มาก่อน 2 คน ได้แก่ ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ในอิตาลี และ ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย พวกเขาต่างได้รับเลือกตั้งจากผู้ออกเสียงส่วนข้างมากในประเทศ ทว่าหลังจากชนะแล้วก็ล้มเหลวไม่สามารถนำเอาส่วนที่เหลือของประเทศชาติกลับมารวมตัวสามัคคีกันได้ เรื่องดำเนินไปเช่นนั้นมันมีเหตุผลอันสลับซับซ้อนและแตกต่างผิดแผกกันไปในแต่ละประเทศ ทว่าตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเหล่านี้ก็บอกกับเราว่า ภารกิจหนักหนาสาหัสที่สุดของทรัมป์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันนี้แล้ว โดยที่จะต้องพูดจากับพวกที่เป็นศัตรูเป็นปรปักษ์กับเขา สิ่งที่ไม่เหมือนกับในอิตาลีหรือในประเทศไทยก็คือ ถ้าหากเกิดทรัมป์ประสบความล้มเหลว เขายังจะมีทางพึ่งพาอาศัยเล่ห์กลเก่าอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในย่ามของจักรพรรดิทั้งหลายไม่ว่าองค์ไหนก็ตาม ได้แก่การวางแผนทำให้เกิดการปะทะขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งจะนำเอาประเทศชาติเข้ามารวมตัวกันท่ามกลางความหวาดกลัวศัตรูที่เผชิญหน้าอยู่

แน่นอนทีเดียว ทรัมป์ยังต้องจัดลำดับความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของเขาให้เป็นระบบระเบียบอีกด้วย เขาต้องการจริงๆ หรือไม่ที่จะผละออกมาจาก(ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ซึ่งเป็น) ข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement หรือ FTA) ที่(ประธานาธิบดีบารัค โอบามา รวมทั้ง ฮิลลารี คลินตัน ในช่วงที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ผลักดันให้จัดทำ) กับชาติในเอเชีย (โดยมุ่งกีดกันจีนออกไป) และปล่อยทิ้งช่องว่างนี้เอาไว้ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้จีนสามารถจัดตั้ง FTA ในภูมิภาคนี้ของตนเองขึ้นมาได้? เรื่องนี้เป็นทั้งเศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ระดับโลกที่เข้ามาพัวพันเรียงร้อยถักทอเข้าด้วยกัน ตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน เขาอาจจะประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับเฟื่องฟูรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ หรือไม่เขาอาจจะประสบความล้มเหลว แต่ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตามที นโยบายการต่างประเทศของเขาต่อประเทศจีน น่าจะยังคงเป็นอย่างเดียวกันอยู่นั่นเอง โดยถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทรัมป์น่าจะต้องการเผชิญหน้ากับประเทศที่เขาระบุออกนามว่าเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯและเป็นผู้ใช้วิธีไม่เป็นธรรมมากที่สุดต่อสหรัฐฯ หรือหากเขาล้มเหลวที่จะปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจ เขาก็น่าจะมองจีนว่าเป็นแพะรับบาปชั้นเยี่ยม

หันมาพิจารณาเรื่องวาระทางด้านการต่างประเทศโดยรวมๆ บ้าง หากวินิจฉัยจากคำพูดคำแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแล้วครั้งเล่าของเขาแล้ว ทรัมป์ต้องการที่จะตีตราขึ้นบัญชีอย่างเป็นทางการว่า จีนเป็นชาติผู้ปั่นค่าเงินตรา (currency manipulator) ซึ่งจะเปิดทางให้สามารถใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการค้าต่อแดนมังกรได้ สำหรับยุโรปนั้น เขาไม่ได้แยแสใส่ใจเกี่ยวกับทวีปนี้ เกี่ยวกับสกุลเงินของยุโรป หรือเรื่องที่ยุโรปจะสามารถเกิดการบูรณาการในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง หรือเกิดการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ขณะเดียวกับที่เขายกย่องชมเชยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แน่นอนทีเดียว อะไรๆ ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ บุรุษผู้นี้เป็นคนที่ขึ้นลงวูบวาบได้อย่างรวดเร็ว บางทีอาจจะถึงขั้นทำอะไรตามอำเภอใจด้วยซ้ำ แต่ทรัมป์ก็ยังคงเป็นนักธุรกิจคนหนึ่ง และขึ้นชื่อเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนมาถ้าหากเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า เขาเคยทำเช่นนี้มาหลายครั้งแล้วในอดีต และในอนาคตเขาอาจจะทำเช่นนี้อีก อย่างไรก็ดี เราควรถึงกับเพิกเฉยละเลยต่อสิ่งที่เขาเคยพูดเอาไว้เชียวหรือ? นั่นไม่ใช่เป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งหนังสือพิมพ์จำนวนมากได้กระทำผิดพลาดมาแล้วหรือ --ด้วยการไม่เชื่อถือว่าเขาจะกระทำในสิ่งที่เขาบอกว่าจะกระทำ? โดยในกรณีแบบนี้ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การเอาชนะทั้งชนชั้นนำของรีพับลิกันและของเดโมแครตได้สำเร็จอย่างงดงาม

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นโยบายการต่างประเทศของเขาดูเรียบง่ายและเป็นเส้นตรงเอามากๆ ไม่เหมือนกับแผนการของฮิลลารี คลินตัน แผนการของเธอนั้นคือต้องการสนับสนุน (การบูรณาการของ) ยุโรปที่กำลังล้มเหลว (ผมคิดว่าเรื่องการทำให้ยุโรปรวมตัวกันนั้น เป็นแนวความคิดที่แทบจะพ่ายแพ้ไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว), เผชิญหน้ากับรัสเซีย, และปักหมุดหวนกลับคืนไปมีฐานะครอบงำเหนือเอเชีย แนวรบทั้ง 3 ด้านเหล่านี้แต่ละด้านล้วนมีความสลับซับซ้อนยิ่ง และความสำเร็จในแนวรบหนึ่งยังทำท่าว่าจะไม่สามารถส่งอิทธิพลหนุนเสริมให้เกิดความสำเร็จในอีก 2 แนวรบได้เสียอีก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว นโยบายการต่างประเทศของทรัมป์ง่ายๆ กว่ามาก ได้แก่ ทอดทิ้งยุโรปให้เผชิญกับชะตากรรมของตัวเอง, ทำข้อตกลงกับปูติน, โดยที่ในเอเชียนั้นจะขอความสนับสนุนจากปูติน อีกทั้งทรัมป์อาจจะยื่นข้อเสนอชนิดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ต่อจีน เรายังไม่ทราบหรอกว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้จะเป็นอะไร ทว่าในฐานะที่เป็นแผนการเช่นนั้นของทรัมป์ มันก็น่าจะยังคงมีลักษณะเป็นเส้นตรงมองเห็นกันได้ง่ายๆ ชัดเจน ถึงแม้ในทางปฏิบัติแล้ว กระทั่งเฉพาะเรื่องการรับมือกับจีนเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายดายหรอก แต่ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเพื่อต่อต้านจีน แบบเดียวกับที่ (ประธานาธิบดีริชาร์ด) นิกสัน เคยเข้าเป็นพันธมิตรกับจีนเพื่อต่อต้านรัสเซีย เมื่อปี 1971 ก็อาจช่วยให้สถานการณ์พลิกกลับตาลปัตรขึ้นมาได้

แน่นอนทีเดียว เรายิ่งทราบกันน้อยลงไปอีกในเรื่องที่ว่า หากเป็นกรณีเช่นนี้ จีนน่าจะทำอย่างไร จีนน่าที่จะรับมืออย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากยังต้องทำความกระจ่างในสิ่งที่ยังเป็นเพียงข้อสมมุติฐานถึง 2 ข้อ ข้อแรกคือ ทรัมป์นั้นต้องการที่จะประจันหน้ากับจีนจริงหรือไม่ ส่วนข้อที่สองได้แก่ จีนจะแสดงปฏิกิริยาหรือจะทุ่มเทสุดตัวขนาดไหน กระนั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่งในการพิจารณาแผนการของทรัมป์ต่อประเทศจีน ซึ่งก็คือโดยพื้นฐานแล้วมันก็เป็นอย่างเดียวกันกับแผนการของฮิลลารี คลินตันนั่นเอง ยกเว้นแต่ว่าทรัมป์จะไม่มีเรื่องยุโรปมาคอยหันเหความสนใจ และก็จะได้รับความสนับสนุนจากรัสเซียอีกด้วย แล้วเนื่องจากโดยเนื้อหาสาระแล้วมันก็เป็นแผนการที่สหรัฐฯมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเรื่อยมา จึงทำให้มันยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นไปอีก

เราไม่ทราบว่าจีนมีการเตรียมตัวรับมือกับเรื่องเช่นนี้หรือไม่ เท่าที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ปฏิกิริยาต่างๆ อย่างทางการจากปักกิ่งอยู่ในลักษณะที่เงียบเฉย และมีเพียงการอธิบายว่า ทรัมป์จะยังคงต้องการทำธุรกิจกับจีน ซึ่งปักกิ่งก็พร้อมแล้วสำหรับเรื่องนี้ [2] มีความเป็นไปได้ว่าการวางท่าทีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ทว่าเพื่อเผื่อไว้ว่าในกรณีที่มันเกิดจะไม่ถูกต้องขึ้นมา การพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองของจีนในเอเชียเวลานี้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

เอเชียในเวลานี้กำลังปรากฏดุลแห่งอำนาจชนิดใหม่ขึ้นมา ดังที่รายงานการวิจัยชิ้นหนึ่งของ คาร์เนกี เอนดาวเมนต์ (Carnegie Endowment) เมื่อไม่นานมานี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://carnegieendowment.org/2015/04/20/beyond-american-predominance-in-western-pacific-need-for-stable-u.s.-china-balance-of-power-pub-59837) ชี้เอาไว้ เมื่อขบคิดคำนึงกันในระยะสั้นและระยะปานกลางแล้ว ไม่ว่าสหรัฐฯหรือจีนก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยังคงสามารถรักษาฐานะครอบงำในเอเชียตะวันออกเอาไว้ได้

พวกประเทศที่เป็นมหาอำนาจระดับกลางๆ (อย่างเช่นญี่ปุ่นและอินเดีย) หรือประเทศซึ่งมีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ (อย่างเช่นเวียดนาม) ต่างยอมรับอย่างลังเลในฐานะการครอบงำภูมิภาคแถบนี้ของอเมริกัน อย่างไรก็ดี เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่ชาติเหล่านี้ในวันพรุ่งนี้หรือในระยะสั้น จะยอมรับฐานะครอบงำภูมิภาคแถบนี้ของจีน ทั้งนี้ต้องคำนึงด้วยว่า อเมริกาได้บทบาทของตนในเอเชียมา ก็ด้วยการทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 , ด้วยการทำสงครามในเกาหลี และในสงครามเวียดนามอันยืดเยื้อและเหนื่อยยากในช่วงทศวรรษ 1970 นอกจากนั้น อเมริกาสามารถประคับประคองให้หลายๆ ส่วนของเอเชียมีสันติภาพและเสถียรภาพในระหว่างช่วงสงครามเย็น ขณะเดียวกับที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในเอเชียนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ด้วยกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่อเมริกาเป็นผู้นำ

ในทางตรงกันข้าม ผลงานในภูมิภาคแถบนี้ของจีนมีความแตกต่างออกไปมาก แดนมังกรทำได้อย่างแย่ทีเดียวในระหว่างสงครามที่สู้รบอยู่ในเกาหลีและเวียดนาม, ระหว่างที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กล่าวได้ว่าเป็นฝ่ายถูกเล่นงานโดยพื้นฐาน ไม่เพียงเท่านั้นในระยะเวลา 30 ปีหลังมานี้ จีนก็ผูกพันการพัฒนาของตัวเองเข้ากับการปกป้องคุ้มครองและการสนับสนุนของอเมริกัน แดนมังกรเป็นฝ่ายชนะเพียงครั้งเดียวในสงครามชายแดนช่วงสั้นๆ ที่ทำกับอินเดียในปี 1962 ทว่านั่นก็เพียงส่งผลทำให้อินเดียรู้สึกเจ็บปวดอย่างล้ำลึกเนื่องจากถูกลบหลู่เกียรติภูมิ และไม่ใช่ว่าถูกกำลังทหารของจีนเอาชนะไปอย่างเด็ดขาด ยิ่งกว่านั้นอินเดียยังไม่เหมือนกับเวียดนามหรือญี่ปุ่น อินเดียนั้นไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในวงเขตอิทธิพลของจีนเลย และสงครามคราวนั้นแหละซึ่งนำพาให้ประเทศใหญ่ประเทศนี้ติดต่อปะทะและแข่งขันโดยตรงกับจีนเป็นครั้งแรก

ขณะที่เวลานี้ญี่ปุ่นกับเวียดนามต่างรู้สึกว่าพวกเขาไม่ต้องการกลับเข้าไปอยู่ใต้ปีกของจีนอีกคำรบหนึ่ง สำหรับชาวอินเดียที่ไม่เคยอยู่ใต้ปีกของจีนมาก่อนเลย ก็ยิ่งไม่ต้องการที่จะกลายเป็นบริวารของจีน อย่างไรก็ดี การคาดคำนวณอนาคตในเอเชียตะวันออกเช่นนี้เป็นเรื่องยากลำบากมาก ถ้าหากไม่นำเอาการปรากฏตัวของรัสเซียเข้ามาพิจารณาด้วย รัสเซียนั้นทราบเป็นอย่างดียิ่งว่า ถ้าจีนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นเจ้าใหญ่ของภูมิภาคแถบนี้แล้ว อำนาจในการควบคุมดินแดนไซบีเรียของรัสเซียก็อาจจะอ่อนยวบลง และด้วยเหตุนี้จึงมีความหวั่นเกรงมากต่อความเป็นไปได้อันนี้

เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมเคยแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับความยากลำบากต่างๆ ในทางภูมิศาสตร์ของประเทศจีน (ดูรายละเอียดที่http://www.atimes.com/atimes/China/MD13Ad02.html) อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน, การค้า, และการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค ล้วนแต่กำลังมีการเชื่อมโยงต่อสายเพิ่มมากขึ้นทุกทีกับการเติบโตขยายตัวและการพัฒนาของประเทศจีนเอง มันกำลังปรับเปลี่ยนพลิกโฉมภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคแถบนี้อย่างเป็นวัตถุวิสัย (objectively) และสหรัฐฯหรือมหาอำนาจระดับภูมิภาครายอื่นๆ ก็ไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะเข้าแทนที่การลงทุนหรือศักยภาพทางการตลาดของจีนได้ ทว่ามันก็ไม่ใช่อยู่ในลักษณะแบบความสัมพันธ์ฝ่ายเดียว เพราะแต่ละประเทศที่อยู่ใต้การพิทักษ์คุ้มครองของสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ยังมีปฏิสัมพันธ์ในความเชื่อมโยงพหุภาคีกับเหล่าชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคทั้งหมดของตัวเองอีกด้วย

ภาพใหญ่อันประณีตซับซ้อนกำลังปรากฏขึ้นมา ทำนองเดียวกับภาพของภาคพื้นทวีปยุโรปในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทว่าเนื่องจากขนาดและจำนวนของประเทศต่างๆ ในเอเชียในปัจจุบัน ความสลับซ้อนแบบยุโรปยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อมาปรากฏในเอเชียปัจจุบัน จึงอยู่ในลักษณะหนักข้อและใหญ่โตมากกว่า เหมือนกับว่าได้รับสารกระตุ้นอย่างสารสเตอรอยด์

สภาพเช่นนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นด้านลบเสมอไป มันอาจจะกลายเป็นการสร้างการแข่งขันเชิงบวกขึ้นในภูมิภาคโดยที่แต่ละประเทศต่างทำกันแข่งขันระหว่างกัน ทว่ามันก็อาจจะหมายความได้เช่นกันว่า ความเป็นศัตรูแบบคู่อาฆาตก็สามารถเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งผลักดันนำไปสู่สงครามหรือความขัดแย้งต่างๆ แน่นอนว่าชาติจำนวนมากและผู้คนจำนวนมากมีอะไรต้องสูญเสียเยอะแยะในความขัดแย้งและในสงคราม ทว่าหากเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้เชื่องช้าและกำลังปรากฏความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมขึ้นมา ความต้องการที่จะใช้หนทางคลี่คลายอย่างรวดเร็วมารับมือกับประเด็นปัญหาอันสลับซับซ้อน ก็อาจจะดูเป็นสิ่งล่อใจที่มีมนตร์เสน่ห์มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในส่วนของจีนเองนั้น ถ้าหากจีนไม่ต้องการที่จะกลายเป็นเพียงวัตถุซึ่งถูกกระทำในแผนการของฝ่ายอื่นๆ แล้ว จีนก็จำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในความสัมพันธ์ต่อภายนอก เหมือนกับที่กำลังกระทำอยู่แล้วด้วยการเพิ่มพูนกระชับความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับพวกชาติเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ขณะเดียวกันจีนก็ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายภายในประเทศ เศรษฐกิจที่ยังคงถูกครอบงำโดยภาครัฐ และโครงสร้างทางการเมืองที่ยังคงคลุมเครือไม่โปร่งใส คือจุดอ่อนข้อด้อยที่สำคัญมาก 2 ประการ ไม่ว่าแผนการของทรัมป์จะเป็นอย่างไรก็ตามที ปักกิ่งก็ควรต้องเร่งรีบลงมือกระทำอย่างว่องไวรวดเร็ว

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์จะไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักจีนวิทยา, นักเขียน, และคอลัมนิสต์ชาวอิตาลี ซึ่งพำนักอาศัยและทำงานอยู่ในปักกิ่ง เขาเป็นผู้ร่วมเขียนเรื่องส่งให้ Il Sole 24ore หนังสือพิมพ์ธุรกิจระดับชาติของอิตาลี อีกทั้งได้รับเชิญอยู่บ่อยครั้งให้เป็นนักวิจารณ์กิจการระหว่างประเทศ แก่สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) และ ฟีนิกซ์ ทีวี (Phoenix TV) ของฮ่องกง

หมายเหตุผู้แปล

[1] “พวกคนน่าสังเวช” (deplorables) คำๆ นี้กลายเป็นเรื่องฮือฮาทางการเมืองขึ้นมาในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯปีนี้ เนื่องจาก ฮิลลารี คลินตัน ไปกล่าวปราศรัยกับพวกผู้สนับสนุนเธอในวันที่ 9 พฤศจิกายน ระบุว่า “พวกคุณทราบไหม เพียงแค่ใช้การมองภาพรวมทั่วๆ ไป คุณก็จะนำเอาพวกผู้สนับสนุนทรัมป์ประมาณครึ่งหนึ่งมาบรรจุไว้ในสิ่งที่ดิฉันเรียกว่าตะกร้าของพวกคนน่าสังเวช ใช่ไหมล่ะคะ พวกเหยียดเชื้อชาติ, พวกกดขี่สตรี, พวกหวาดกลัวและชิงชังคนรักร่วมเพศ, พวกหวาดกลัวและชิงชังชาวต่างชาติ, พวกหวาดกลัวและชิงชังอิสลาม ...” ปรากฏว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันนำเรื่องนี้มาใช้โจมตีเธอว่าเป็นตัวอย่างแสดงถึงการที่เธอไม่เข้าใจพวกผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นล้านๆ คนซึ่งเธอต้องการที่จะเป็นประธานาธิบดีของพวกเขา จากนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน คลินตันได้ยอมขอโทษ บอกว่าการที่เธอพูดออกไปเช่นนั้น โดยเฉพาะการใช้คำว่าครึ่งหนึ่ง เป็นการกล่าวเหมารวมที่ไม่ถูกต้อง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2016/09/11/us/politics/hillary-clinton-basket-of-deplorables.html?_r=0 ) สำหรับในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียน (ฟรานเชสโก ซิสซี) เพียงนำเอาคำนี้มาใช้ เพื่อแสดงความเห็นว่า ทรัมป์ได้ชัยชนะจากพวกผู้ออกเสียงกลุ่มไหน และยังจะต้องเข้าให้ถึงพวกผู้ออกเสียงกลุ่มใด

[2] ปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการของจีนต่อการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ส่งสารแสดงความยินดีถึงทรัมป์ ที่ได้รับเลือกตั้ง โดยที่สื่อทางการจีนภาษาไทย (ภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุซีอาร์ไอ (China Radio International) รายงานเนื้อหาในสารดังกล่าวเอาไว้ดังนี้:
นายสี จิ้นผิงกล่าวว่า จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ที่สุดของโลก สหรัฐฯเป็นประเทศพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งสองประเทศต่างมีภาระหน้าที่ที่สำคัญในการพิทักษ์สันติภาพ เสถียรภาพและส่งเสริมการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของทั่วโลก สองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างกว้างขวาง การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯให้มั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งสองฝ่าย และสอดคล้องกับความปรารถนาทั่วไปของสังคมโลก ข้าพเจ้าให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯอย่างสูง หวังว่า เราสองคนจะให้ความพยายามร่วมกัน ยึดมั่นในหลักการไม่ขัดแย้งกัน ไม่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ให้ความเคารพกันและอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน ขยายขอบเขตความร่วมมือทวิภาคี ในภูมิภาคตลอดจนทั่วโลก ควบคุมความขัดแย้งด้วยวิธีสร้างสรรค์ ผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ พัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นบนจุดเริ่มต้นใหม่ สร้างความผาสุกแก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายและประชาชนทั่วโลก
(ดูรายละเอียดได้ที่http://thai.cri.cn/247/2016/11/10/301s247834.htm)

ต่อมา สี ยังได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับทรัมป์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน และสื่อทางการจีนภาษาไทยรายงานสิ่งที่ผู้นำทั้งสองพูดจากันเอาไว้ดังนี้:

นายสี จิ้นผิงแสดงความยินดีต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกล่าวว่า ตลอดเวลา 37 ปีที่จีนกับสหรัฐอเมริกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ อีกทั้งส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและทั่วโลก สภาพความเป็นจริงได้พิสูจน์ว่า ความร่วมมือเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวของสองประเทศ ในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก จีนกับสหรัฐอเมริกาสามารถร่วมมือกันในหลายสิ่งหลายอย่าง จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ยินดีใช้ความพยายามร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างความผาสุกให้กับประชาชนของสองประเทศตลอดจนทั่วโลก

นายทรัมป์ขอบคุณประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่แสดงความยินดีกับการได้รับเลือกตั้งของเขา อีกทั้งเห็นด้วยกับคำพูดของนายสี จิ้นผิง เขากล่าวว่า สหรัฐฯ กับจีนต่างเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ยินดีร่วมมือกับจีนเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะพัฒนาดียิ่งขึ้น
(ดูรายละเอียดได้ที่http://thai.cri.cn/247/2016/11/14/226s247966.htm)

ขณะที่ สำนักงานเปลี่ยนผ่านรับมอบตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็ได้ออกคำแถลงเกี่ยวกับการพูดคุยทางโทรศัพท์ของ ทรัมป์กับสี คราวนี้ โดยกล่าวว่า:

“ระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ผู้นำทั้งสองได้สร้างความรู้สึกอันชัดเจนถึงการให้ความเคารพซึ่งกันและกันต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า เขาเชื่อว่าผู้นำทั้งสองจะทำให้เกิดหนึ่งในความสัมพันธ์ที่แข็งแรงที่สุดสำหรับประเทศทั้งสองขึ้นมาในอนาคต”

(ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-usa-trump-china-respect-idUSKBN1390GB?il=0)


กำลังโหลดความคิดเห็น