xs
xsm
sm
md
lg

InClip: โตเกียวเริ่มใจห่างวอชิงตัน ญี่ปุ่น-รัสเซีย ตกลง “ผ่อนปรนวีซ่า” กระตุ้นท่องเที่ยว รับปูตินเยือนทางการโตเกียวเดือนหน้า-โซลส่งคุย “ว่าที่ปรึกษามั่นคงทรัมป์” ถกนิวเคลียร์เกาหลีเหนือด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่น และรัสเซีย บรรลุข้อตกลงการผ่อนปรนวีซ่าสำหรับพลเมืองของทั้ง 2 ชาติ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และข้อตกลงด้านพลังงานร่วมกัน ในแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ รับการมาเยือนกรุงโตเกียวอย่างเป็นทางการของผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในกลางเดือนหน้า หันหัวเรือเอาใจออกห่างวอชิงตัน หลังได้ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณอันตรายกระทบมั่นคงแดนอาทิตย์อุทัย ด้านเกาหลีใต้ออกมายอมรับ แอบส่งตัวแทนเจรจาที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯของทรัมป์ อดีตพลโท ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) คุยปัญหานิวเคลียร์เปียงยาง พร้อมอ้าง “ฟลินน์” ชี้ รัฐบาลสหรัฐฯชุดทรัมป์จะให้ความสำคัญกับอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นอันดับหนึ่ง

เดอะ เจแปน ไทม์ส รายงานล่าสุดว่า แหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ในวันศุกร์ (18 พ.ย.) ว่า ญี่ปุ่นและรัสเซียได้ตกลงร่วมกันในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยอมตกลงผ่อนปรนข้อจำกัดวีซ่าการเข้าประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งในเนื้อหาบางส่วนของแผนปฏิบัติการ 8 ด้าน รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านกุมารแพทย์ กระตุ้นการลงทุนและการค้าในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มต้นขึ้นในภายในปีนี้

โดยพบว่า ฮิโรชิเกะ เซโกะ (Hiroshige Seko) รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น แถลงว่า จะเปิดเผยแผนการในระหว่างการหารือแบบสองต่อสองของผู้นำทั้งสองชาติในทีประชุมนอกรอบของการประชุมโอเปก ซัมมิต กลางกรุงลิมา เปรู นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ (19 พ.ย.)

สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า ทางโตเกียวต้องการใช้ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดันการเจรจาปัญหาดินแดนพิพาทที่ยังไม่คืบหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจาในเรื่องนี้ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของปูตินในช่วงระหว่างวันที่ 15 - 16 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

โดยเจแปนไทม์ส ชี้ต่อว่า การเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นของปูติน เป็นเสมือนความพยายามจากโตเกียวที่จะหาสมดุลทางอำนาจใหม่ท่ามกลางการเมืองโลกในยามที่วอชิงตันได้ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่เคยข่มขู่จะถอนกองกำลังทหารอเมริกันออกจากดินแดนญี่ปุ่น และรวมไปถึงการยุติข้อตกลงทางการค้าเสรี TPP ผลงานในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต บารัค โอบามา ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณอันตรายกระทบต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น

ซึ่งสื่อญี่ปุ่นชี้ต่อว่า บรรดานักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า อาเบะจำเป็นต้องเล่นบทบาททางการทูตแบบพึ่งตนเองมากขึ้นเมื่อต้องเจรจากับทรัมป์ ที่มีนโยบาย “สหรัฐฯต้องมาก่อน” ที่เชื่อว่าจะอยู่เบื้องหลังการทำนโยบายต่างประเทศของเขา

และสำหรับรายละเอียดของแผนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย เดอะเจแปนไทม์ส รายงานว่า ในแผนการ มีการแสดงถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 8 ด้านด้วยกัน เป็นต้นว่า ด้านการแพทย์และยา พลังงาน เทคโนโลยีชั้นสูง และการอุตสาหกรรมสำหรับการพัฒนาเขตรัสเซียตะวันออกไกล

ซึ่งในการประชุมเอเปกซัมมิตในวันเสาร์ (19 พ.ย) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) มีกำหนดจะเดินทางเยือนกรุงมอสโกในวันที่ 3 ธ.ค. เพื่อปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ในการเตรียมการพบปะระหว่างอาเบะและปูตินที่จะมีขึ้นหลังจากนั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ข้อตกลงที่มีร่วมกันนั้น จะมีการจัดตั้งหน่วยงานสำหรับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในกรุงมอสโก เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแดนอาทิตย์อุทัยให้เป็นที่รู้จักในหมู่พลเมืองหมีขาว

และในส่วนด้านการพลังงาน โตเกียวและมอสโกจะร่วมลงทุนในการสำรวจและพัฒนาหลุมพลังงานและและแก๊สธรรมชาติ รวมไปถึงโปรเจกต์พลังงานสีเขียว และความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

อีกทั้งในข้อตกลง ยังประกาศขยายจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างทั้ง 2 ชาติ นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป และมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนทางการกีฬาในกีฬาเวิลด์คัพ 2018 ที่จะมีรัสเซียเป็นเจ้าภาพเกิดขึ้น

เดอะเจแปนไทม์ส รายงานว่า และสำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2017 ตัวแทนจากโตเกียว และมอสโก จะเริ่มต้นประชุมร่วมทางความร่วมมือในการพัฒนาทางด้านแพทย์และยา รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีในด้านนี้ระหว่างกัน และส่วนสำหรับญี่ปุ่น ทางโตเกียวจะช่วยมอสโกวางแผนการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นภายในหน้าร้อนถัดไป ซึ่งในแผนการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้น คาดว่า ทางโตเกียวจะเน้นถึงปัญหาการจราจรติดขัดของรัสเซีย และระบบการบำบัดขยะ ซึ่งโครงการเริ่มต้นจะเกิดขึ้นที่เมือง โวรอนเนซฮ์ (Voronezh) ทางใต้ของรัสเซีย

และในขณะเดียวกัน สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า เมื่อหันไปดูทางเกาหลีใต้ พบว่า โซลได้ส่ง โช แต-ยอง (Cho Tae-yong) ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ เพื่อพบกับอดีตพลโท ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) ว่าที่ปรึกษาทางความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนถัดไป ซึ่งพบว่าเขาได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ในวันศุกร์ (19 พ.ย.)

โดยทางโชได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ ถึงการพบปะว่า ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯ ชี้ว่า ภัยปัญหาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการ

“ฟลินน์ได้ให้คำนิยามความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ว่า เป็นพันธมิตรที่สำคัญ และจากพื้นฐานนี้สมควรที่ทั้ง 2 ชาติจะต้องทำให้แน่นแฟ้นต่อไป” โชแถลง

เดอะเจแปนไทม์ส ชี้ว่า โชได้เปิดเผยกับสำนักข่าวยอนฮับว่า คนทั้งคู่ได้หารือร่วมกันเป็นเวลา 1 ชม.

ฟลินน์ที่ยังไม่ได้รับตำแหน่งจากทรัมป์อย่างเป็นทางการได้เปิดเผยกับผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะให้ความสำคัญกับนโยบายอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นอันดับหนึ่ง และจะร่วมมือกับโซลอย่างใกล้ชิด โชให้ความเห็นต่อ

แต่อย่างไรก็ตาม โช กล่าวว่า ในการเจรจาไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงที่ทางโซลจำเป็นต้องช่วยสนับสนุนวอชิงตัน การลดจำนวนกองกำลังสหรัฐฯในเกาหลีเหนือ แผนการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศในเกาหลีใต้ หรือแผนการแชร์ข่าวกรองทางทหารร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น

ซึ่งสื่อญี่ปุ่นชี้ว่า โซลต้องจ่ายค่าการต้องคงกำลังทหารสหรัฐฯไว้ในประเทศของตัวเอง โดยพบว่ามีกองกำลังสหรัฐฯอยู่ในเกาหลีใต้จำนวน 28,500 นาย และในญี่ปุ่น 54,000 นาย โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนเมษายนล่าสุด ทรัมป์ ออกมาประกาศว่า ทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นจ่ายเงินจำนวนน้อยจนเกินไปให้กับทางวอชิงตันในการต้องปกป้องประเทศทั้งสอง และยังประกาศต่อว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการให้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ออกมาปกป้องดินแดนของตัวเอง

โดยทางแหล่งข่าวโตเกียวให้ข้อมูลกับเดอะเจแปนไทม์ส ว่า ทางโตเกียวเชื่อมั่นว่า ทางว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “ต้องเข้าใจผิดในเรื่องตัวเลข” ที่ทางโตเกียวได้จ่ายให้ทางวอชิงตันเพื่อคงกองกำลังสหรัฐฯไว้ในดินแดนของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังกล่าวต่อว่า โตเกียวได้ทำข้อตกลงการออกค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับทางวอชิงตันในอดีตในการร่วมรับผิดชอบ พบว่า ทางโตเกียวต้องจ่ายเกือบ 200 พันล้านเยน หรือราว 1.9 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

และแหล่งข่าวโตเกียวยังเปิดเผยต่ออีกว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะอธิบายถึงเรื่องนี้ถึงประโยชน์ที่อเมริกาจะได้รับในการคงกองกำลังไว้ในญี่ปุ่นให้ทรัมป์เข้าใจในสหรัฐฯต่อไป “หากทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่เล็งเห็นถึงตัวเลขและการตอบแทนเป็นหลัก ทางเราเชื่อมั่นว่า ทรัมป์จะต้องเห็นถึงคุณประโยชน์ในการคงกองกำลังสหรัฐฯเอาไว้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นต้นว่า มีกำลังไว้ใกล้กับจีนและเกาหลีเหนือภายใต้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่เรียกว่า the U.S. forward deployment strategy

เดอะเจแปนไทม์สรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ที่ปรึกษาของทรัมป์ อเล็กซานเดอร์ เกรย์ (Alexander Gray) และ ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ได้เขียนบทความลงนิตยสารนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) ก่อนผลการเลือกตั้งสหรัฐฯจะออกมา ระบุว่า ดูเหมือนรัฐบาลสหรัฐฯชุดทรัมป์จะใช้จุดยืน “สันติต้องมาจากความแข็งแกร่ง” (peace through strength) ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

และในบทความว่าด้วยความเป็นพันธมิตร ทั้งเกรย์และนาวาร์โร ยังคงยืนยันสนับสนุนการเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นให้กับทางวอชิงตัน แต่กระนั้นคนทั้งคู่ยังย้ำว่า “อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า ข้อผูกพันของทรัมป์ต่อพันธมิตรของอเมริกาในเอเชียเป็นเสมือนฐานรองรับที่แข็งแกร่งต่อความมั่นคงของภูมิภาคนี้”







กำลังโหลดความคิดเห็น