xs
xsm
sm
md
lg

“จีน-รัสเซีย” คืบไปอีกก้าว “ร่วมลงทุน 7 แสนล้าน” ผลิต “เครื่องบินพาณิชย์” แข่ง “โบอิ้ง 787-แอร์บัส A350”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของรัสเซีย เดนิส มานตูรอฟ (ซ้าย) และ จิน จวงหลง (ที่3จากขวา) ประธานของบรรษัท COMAC ของจีน เข้าร่วมพิธีเผยโฉมแบบจำลองเครื่องบินไอพ่นลำตัวกว้างเดินทางระยะไกล ซึ่งประเทศทั้งสองประกาศร่วมลงทุนพัฒนา ณ งานแอร์โชว์ ไชน่า เมืองจูไห่ ทางภาคใต้ของจีนเมื่อวันุธ (2พ.ย.) </i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี/MGRออนไลน์ - จีน กับรัสเซีย ขยับอีกก้าวในโครงการร่วมกันลงทุนเป็นมูลค่าที่อาจจะสูงถึงระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 700,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาเครื่องบินไอพ่นลำตัวกว้างเดินทางระยะไกล รายงานข่าวหลายกระแสและคำแถลงของบริษัทระบุในวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) ขณะที่ปักกิ่งกำลังหาทางท้าทายฐานะครอบงำอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานเชิงพาณิชย์ของ 2 กิจการชาติตะวันตกอย่าง โบอิ้ง และ แอร์บัส

แผนการมหึมาที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักอึ้งนี้ บรรษัทอากาศยานเพื่อการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Commercial Aircraft Corporation of China หรือ COMAC) รัฐวิสาหกิจของแดนมังกร และบรรษัทสหอากาศยาน (United Aircraft Corporation หรือUAC) ซึ่งรัฐบาลรัสเซียถือหุ้นข้างมาก อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์ชื่อดังๆ อย่างเช่น ซูคอย ซูเปอร์เจ็ต 100 ได้ตกลงกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พบปะหารือกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ที่กรุงปักกิ่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรษัททั้งสองได้เปิดแสดงแบบจำลองของเครื่องบิน ซึ่งยังมิได้มีการตั้งชื่อนี้ในงานแอร์โชว์ ไชน่า ที่เมืองจูไห่ ทางภาคใต้ของแดนมังกรเมื่อวันพุธ (2) โดยที่ประกาศด้วยว่าได้เริ่มมองหาซัปพลายเออร์ที่จะมาช่วยทำชิ้นส่วนต่างๆ ของอากาศยานรุ่นนี้แล้ว

ทางด้าน COMAC ระบุในคำแถลงว่า กิจการร่วมทุนซึ่งกำหนดจัดตั้งขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ภายในปีนี้ จะพัฒนาเครื่องบินลำตัวกว้างขนาด 280 ที่นั่ง ซึ่งสามารถบินในระยะทางไกล 12,000 กิโลเมตร

สเปกเช่นนี้เท่ากับว่า เครื่องบินชนิดนี้จะกลายเป็นคู่แข่งขันโดยตรงของ โบอิ้ง 787 และ แอร์บัส เอ350
<i>รูปโฉมเต็มๆ ของแบบจำลองเครื่องบินพาณิชย์ลำตัวกว้างเดินทางระยะไกล ซึ่งรัฐวิสาหกิจของจีนและของรัสเซียจะร่วมกันลงทุน โดยคาดกันว่าอาจต้องใช้เงินระหว่าง 13,000 ล้าน ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ </i>
โครงการนี้จะมีมูลค่าระหว่าง 13,000 ล้าน ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่แต่ละฝ่ายจะออกเงินทุนกันคนละครึ่ง “โกลบอลไทมส์” หนังสือพิมพ์จีนในเครือของเหรินหมินรึเป้า ที่เป็นปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ รายงานเอาไว้ในฉบับวันพฤหัสบดี (3) โดยอ้างว่า เป็นคำพูดของ ยูรี สลูย์ซาร์ ประธานกรรมการบริหารของ UAC

“COMAC มีชื่อเสียงในเรื่องเทคโนโลยีและดีไซน์ที่โดดเด่น และเราจะไม่เพียงร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย” สลูซาร์ บอกกับโกลบอลไทมส์ ในงานแอร์โชว์ ไชน่า พร้อมกับเสริมด้วยว่า เครื่องบินที่ฝ่ายรัสเซียกับฝ่ายจีนร่วมกันพัฒนานี้ จะมีราคาถูกกว่าของคู่แข่งราว 10%

ประเด็นหลังนี้ดูจะเป็นการตอบโต้การแสดงความคิดเห็นของพวกนักวิเคราะห์ตะวันตก ที่มองว่า โครงการนี้เป็นแผนการริเริ่มซึ่งมีแรงจูงใจทางการเมือง และยากที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งหากทำได้ก็จะมีราคาต้นทุนสูงมาก

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ทางการของแต่ละบริษัท ราคาที่ระบุไว้สำหรับเครื่องบิน แอร์บัส เอ350 ขนาด 280 ที่นั่ง คือ ลำละ 272.4 ล้านดอลลาร์ ส่วน โบอิ้ง 787 ขนาด 290 ที่นั่ง ราคาลำละ 264.6 ล้านดอลลาร์

ขณะที่คำแถลงของ COMAC ระบุว่า เครื่องบินร่วมพัฒนานี้จะสามารถออกบินเที่ยวแรกได้ในระยะเวลา 7 ปี และเริ่มต้นส่งมอบแก่ผู้สั่งซื้อได้ในอีก 3 ปีถัดจากนั้น

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพี ระบุว่า การพัฒนาเครื่องบินเชิงพาณิชย์นั้น คือ ความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีระดับก้าวหน้า และเท่าที่ผ่านมาโครงการด้านการบินและอวกาศของจีน ก็ประสบปัญหาล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลานานอยู่เรื่อย

คำแถลงของ COMAC กล่าวว่า โครงการนี้จะเปิดกว้างและมุ่งคัดเลือกซัปพลายเออร์จากทั่วโลกซึ่งมีความยินดีที่จะ “แบกรับความเสี่ยงร่วมกัน”
<i>แบบจำลองของเครื่องบินไอพ่น เออาร์เจ-21ซึ่งบรรษัท COMAC ของจีนนำออกมาแสดงที่งานแอร์โชว์ ไชน่า เมืองจูไห่ เมื่อวันพุธ (2 พ.ย.) </i>
ปัจจุบันปักกิ่งกำลังมองหาทางสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศภายในประเทศของตนขึ้นมา โดยที่เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับการตอกย้ำเอาไว้ในแผนการ “เมดอินไชน่า 2025” ของจีน

เป็นที่คาดหมายกันว่าแดนมังกรจะกลายเป็นตลาดการบินขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลาอีกไม่นาน จากการที่มีผู้เดินทางโดยทางอากาศพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แอร์บัสประมาณการเอาไว้ว่า ภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า จีนจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ๆ เกือบ 6,000 ลำ คิดเป็นมูลค่าราว 945,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การคาดการณ์ของโบอิ้งสูงกว่านี้อีก นั่นคือ ให้ตัวเลขสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากโครงการร่วมกับฝ่ายรัสเซียนี้แล้ว COMAC ยังกำลังพัฒนาเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์แบบลำตัวแคบ 1 ช่องทางเดินของตนเอง ซึ่งก็คือ โครงการ ซี919 ถึงแม้การพัฒนา ซี919 ล่าช้ากว่ากำหนด และเพิ่งนำออกมาอวดโฉมกันได้ในปีที่แล้ว อีกทั้งยังไม่ได้เริ่มบินเที่ยวแรกเลยด้วยซ้ำ ทว่า COMAC ระบุว่าได้รับใบสั่งซื้อแล้วเป็นจำนวน 570 ลำจากลูกค้า 23 ราย

COMAC ยังมีเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็กลงมาอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เออาร์เจ21 ขนาด 90 ที่นั่ง ซึ่งออกบินในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เที่ยวแรกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากต้องเลื่อนออกไปหลายครั้งจนล่าช้ากว่ากำหนดอยู่หลายปี

กำลังโหลดความคิดเห็น