xs
xsm
sm
md
lg

เนปาลระบายน้ำออกจาก “ทะเลสาบธารน้ำแข็ง” ใกล้ยอดเอเวอเรสต์ หวั่นไหลหลากท่วมชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทหารจากกองทัพเนปาลและชนเผ่าเชอร์ปาช่วยกันทำทางสำหรับระบายน้ำออกจากทะเลสาบธารน้ำแข็งอิมจา (Imja) ใกล้ๆ ยอดเขาเอเวอเรสต์ (ภาพ - DEPARTMENT OF HYDROLOGY AND METEOROLOGY)
เอเจนซีส์ - กองทัพเนปาลได้ทำการระบายน้ำออกจากทะเลสาบธารน้ำแข็งใกล้ๆ ยอดเขาเอเวอเรสต์ เพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำไหลหลากลงมาท่วมชุมชน เส้นทางเดินป่า และสะพานที่อยู่เบื้องล่าง

น้ำในทะเลสาบธารน้ำแข็งอิมจา (Imja) ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 5,000 เมตร และมีความลึกเกือบ 149 เมตรในบางจุด ได้ลดลงมาสู่ระดับปลอดภัยแล้ว หลังจากกองทัพเนปาลได้ใช้เวลานานหลายเดือนในการระบายน้ำให้ลดลงจากปกติ 3.4 เมตร

ทะเลสาบอิมจาเป็นหนึ่งในทะเลสาบธารน้ำแข็งที่มีอยู่หลายพันแห่งทั่วเทือกเขาหิมาลัย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทะเลสาบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเอ่อล้นตลิ่งเร็ว เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

เจ้าหน้าที่ยังเกรงว่า แผ่นดินไหวรุนแรงที่เนปาลเมื่อปีที่แล้วอาจส่งผลให้ทะเลสาบอิมจาอยู่ในภาวะไม่เสถียร

กองทัพเนปาลระบุว่า งานระบายน้ำออกจากทะเลสาบอิมจาครั้งนี้ถือเป็นภารกิจบนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยทหารและชาวเชอร์ปาต้องร่วมกันทำงานถึง 6 เดือนเต็ม เพื่อสร้างทางระบายน้ำออกมาทีละน้อย

มวลน้ำราว 4 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ถูกปลดปล่อยออกจากทะเลสาบ โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

ท็อป คาตรี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาเนปาล ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการระบายน้ำ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า รัฐบาลยังมีแผนจะดำเนินการอย่างเดียวกันนี้กับทะเลสาบอื่นๆ

“นี่เป็นโครงการนำร่องที่เราทำสำเร็จโดยไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น และจะนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับการบรรเทาความเสี่ยงในทะเลสาบธารน้ำแข็งอื่นๆ ด้วย” คาตรี กล่าว

ภารกิจนี้ถือว่ายากลำบากเป็นพิเศษ เนื่องจากหิมะที่ตกหนักและอันตรายจากการปฏิบัติงานในที่สูง โดยทีมงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แค่วันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

การระบายน้ำออกจากทะเลสาบอิมจาเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อช่วยเนปาลรับมือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ยูเอ็นได้สนับสนุนงบประมาณเกือบ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระบายน้ำออกจากทะเลสาบแห่งนี้

ทะเลสาบธารน้ำแข็งในเนปาลเคยไหลหลากลงมาท่วมชุมชนมากกว่า 20 ครั้งตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โดยเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ยอดเขาเอเวอเรสต์ 3 ครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น