xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีก็พอจะมี!! “ข้อตกลงปารีส” เพื่อต่อสู้โลกร้อน กำลังจะมีผลบังคับใช้ อียูให้สัตยาบันแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>(จากซ้าย) ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู, เซโกลีน โรยาล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส, บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ, และ มาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป ถ่ายภาพร่วมกันภายหลังที่ประชุมรัฐสภายุโรป ลงมติในวันนี้ (4 ต.ค.) รับรองให้สัตยาบันข้อตกลงกรุงปารีสเพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน </i>
เอพี/เอเอฟพี - ข้อตกลงกรุงปารีส ซึ่งเป็นหลักหมายสำคัญในความพยายามของนานาชาติเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก กำลังจะมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากสมาชิกรัฐสภาของสหภาพยุโรป (อียู) ลงมติรับรองในวันนี้ (4 ต.ค.)

บรรดาสมาชิกรัฐสภายุโรปซึ่งเป็นตัวแทนจาก 28 ชาติอียู ลงมติด้วยคะแนนเสียง 610 ต่อ 38 งดออกเสียง 31 ให้สัตยาบันข้อตกลงที่มุ่งหมายจะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนฉบับนี้ในทันที โดยที่มีเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ บัน คีมุน เข้ามาเป็นประจักษ์พยานในการออกเสียงคราวนี้ด้วย

ข้อตกลงฉบับนี้ไม่อาจเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ จนกว่ามีอย่างน้อย 55 ประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นผู้ปล่อยไอเสียคาร์บอนไม่ต่ำกว่า 55% ของทั่วโลก ประกาศรับรองให้สัตยาบัน ก่อนหน้านี้ มี 62 ชาติแล้วที่รับรอง ทว่า ประเทศเหล่านี้รวมกันแล้วยังเป็นผู้ปล่อยไอเสียเพียงแค่ประมาณ 52% ของทั่วโลก

การให้สัตยาบันของรัฐสภาอียูคราวนี้ ซึ่งเป็นการเร่งรัดให้รวดเร็วขึ้นเป็นพิเศษกว่ากระบวนการตามปกติ ทำให้ข้อตกลงกรุงปารีสผ่านเงื่อนไขที่ยังขาดอยู่ดังกล่าว ทั้งนี้คาดหมายกันว่า อียูจะยื่นเอกสารทางกฎหมายในเรื่องนี้ต่อองค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการภายในวันศุกร์ (7) นี้

“จากการลงมติรับรองของรัฐสภาอียูเช่นนี้ ผมมีความมั่นใจว่า เราจะสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขเรื่อง 55% ได้อย่างรวดเร็วมาก ในเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น บันบอกกับผู้สื่อข่าว
<i>บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ขวา) กล่าวปราศรัยต่อรัฐสภายุโรป ก่อนหน้าการลงมติให้สัตยาบันข้อตกลงกรุงปารีสเพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน ณ อาคารรัฐสภายุโรป ในเมืองสตราสบูร์ก ทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศส วันนี้ (4 ต.ค.) </i>
ข้อตกลงกรุงปารีสมีเนื้อหากำหนดให้ทั้งประเทศร่ำรวย และประเทศยากจน ต้องดำเนินปฏิบัติการเพื่อสกัดกั้นภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกำลังทำให้ธารน้ำแข็งละลาย, น้ำทะเลอยู่ในระดับที่สูงขึ้น และ ทำให้แบบแผนการตกของฝนเกิดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ข้อตกลงฉบับนี้ระบุให้ประเทศต่าง ๆ ยื่นแผนการระดับชาติของตนในการลดการปล่อยไอเสีย เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามถึงขั้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าหากสามารถทำได้

อียูภูมิใจตนเองที่กำลังเป็นผู้นำรายหนึ่งในการต่อสู้ต้านทานภาวะโลกร้อน ทว่า กลับตกเป็นเป้าหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากสหรัฐฯกับจีนผู้ปล่อยไอเสียหมายเลข 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ แซงขึ้นหน้าสหภาพยุโรปในการให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงฉบับนี้ กระทั่งอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยไอเสียสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ก็ยังให้สัตยาบันแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

อียู ซึ่งเป็นผู้ปล่อยไอเสียราว 12% ของทั่วโลก แต่เดิมมีแผนการรอคอยให้แต่ละรัฐสมาชิกรับรองข้อตกลงกรุงปารีสภายในรัฐของตนเองก่อน แต่เมื่อความคืบหน้าดำเนินไปอย่างล่าช้า จึงได้ตัดสินใจกระทำเรื่องนี้ในนามของทั้งกลุ่มไปเลย

จากการลงมติให้สัตยาบันของประเทศต่าง ๆ ที่ดำเนินมาจนถึงเวลานี้ ทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าข้อตกลงกรุงปารีสจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยภูมิอากาศครั้งต่อไป ซึ่งกำหนดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก

กำลังโหลดความคิดเห็น