xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการอ้างโปเกมอนโกทำโจ๋ยุ่นไม่สนใจกัน แนะพ่อแม่สอนคิด รู้จักความเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการเสวนาโปเกมอน โก ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว อ้างวัยรุ่นโยโกฮามาชีวิตเปลี่ยน ก้มหน้า ขาดการสนใจกัน ชี้ ถ้าเล่นในสังคมขาดวินัย ไม่รู้ขอบเขต มีผลกระทบแน่ ด้าน มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย แนะพ่อแม่สอนคิด วิเคราะห์ รู้จักความเหมาะสม ไม่ให้ข้อมูลคนแปลกหน้า ไม่ห้ามเล่นหวั่นเด็กต้าน ขณะที่ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เผย คณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติ ชงแผนการเท่าทันสื่อออนไลน์และคุ้มครองเด็ก เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จัดเสวนา “สังคมได้อะไร จากเกมโปเกมอน โก”

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เฉพาะทางวัยรุ่น และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ในการประชุมจิตวิทยาระดับโลกที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พบพฤติกรรมมนุษย์จากผลกระทบของเกมโปเกมอนที่น่าสนใจ คือ โยโกฮามาเป็นเมืองที่มีระเบียบวินัยสูง และระบบขนส่งมวลชนที่ดีมาก โดยเฉพาะทางราบแก่ผู้สูงอายุ ที่สำคัญ มีการสาธิตกฎกติกาการเล่นเกมถึงข้อควรทำและข้อควรหลีกเลี่ยง โดยพบว่าเกมดังกล่าวได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเด็กเยาวชนในเมืองนั้น จากการอ่านหนังสือเวลานั่งว่างบนรถไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นสังคมก้มหน้าเล่นเกมและการชุมนุมตามที่สถานที่ต่าง ๆ เพื่อก้มหน้าเล่นเกมของตัวเอง ขาดการสนทนากัน หรือสนใจกัน แม้เกมนี้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากแต่หากเล่นเกมในสังคมที่ยังขาดวินัยและจิตสำนึกที่ไม่รู้จักจำกัดขอบเขต และไม่ถูกกาลเทศะย่อมมีผลกระทบแน่นอน

“ในการประชุมจิตวิทยาโลกครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าโปเกมอนเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งของเทคโนโลยีที่มนุษย์จะต้องปรับตัวให้รู้เท่าทัน โดยนักจิตวิทยาระดับโลกที่ญี่ปุ่นได้นำเสนอนวัตกรรมหุ่นยนต์เสมือนคน หรือระบบ Humanoid เพื่อแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โลกของหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานที่ขาดทักษะ ฉะนั้น ในอนาคตแม้แต่แรงงานไทยก็คงต้องปรับตัวให้เป็นแรงงานมีฝีมือ สิ่งเดียวที่มนุษย์จะอยู่เหนือหุ่นยนต์ คือ ความรักความผูกพัน และจิตวิญญาณที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองให้เกิดนวัตกรรม แต่นั่นหมายถึงผู้ใหญ่ทุกวันนี้ต้องตระหนักที่จะสร้างศักยภาพให้ลูกหลานให้รู้เท่าทัน มีจิตสำนึก มีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม” นพ.สุริยเดว กล่าว

ด้าน นางศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า การพัฒนาเกมสมัยใหม่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ชอบความท้าทาย การมีเรื่องราว ต้องการการยอมรับ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผู้เล่นเป็นคนสร้างเรื่องได้เอง รวมถึงการมีภาพที่เสมือนจริงเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเกม ทุกอย่างถูกออกแบบเพื่อให้คนติดและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่เบื้องหลัง เช่น การซื้อของแลกแต้ม หรือบางธุรกิจก็ใช้ผลประโยชน์จากเกมเพื่อดึงดูดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมในเกมถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ทบทวนและเรียนรู้จากปรากฏการณ์ซ้ำเหล่านี้ พ่อแม่และครูจึงต้องสอนให้เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ รู้จักความเหมาะสมของการใช้เวลาและสถานที่ ไม่ควรบุกรุกสถานที่ราชการหรือที่ส่วนบุคคล ไม่นำตัวไปอยู่ในสถานที่อันตรายหรือยามวิกาล สิ่งสำคัญคือระเบียบวินัย การเล่นเกมเพื่อความสนุกแต่ไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การไม่ให้ข้อมูลแก่คนแปลกหน้า และไม่ควรห้ามเล่นด้วยการตั้งกฎเหล็กทันที เพราะเด็กจะต่อต้านหรือโกหก แต่ต้องฝึกให้ทำบ่อยๆเป็นชีวิตประจำวัน ปลูกฝังให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการตรงต่อเวลา รู้จักการควบคุมตนเอง และมีสมดุลในชีวิต พร้อมกับเป็นแบบอย่างให้เห็น

ขณะที่ น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพในเรื่องเด็กกับสื่อ ได้ผลักดันยุทธศาสตร์แห่งชาติเรื่องสื่อออนไลน์ โดยร่วมกับองค์การยูนิเซฟ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะโปเกม่อนเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สื่อออนไลน์เข้ามา ความรู้หรือการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ การปกป้องคุ้มครองควรเป็นจุดเดียว คณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติจึงเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นจุดจัดการ ระหว่างนี้กำลังเสนอแผนการเท่าทันสื่อออนไลน์และการคุ้มครองเด็กเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นการจัดการระยะยาวทั้งทักษะการเท่าทันสื่อและรู้จักการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์

กำลังโหลดความคิดเห็น