xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ” ส่งผู้แทนหารือแบบไม่เป็นทางการที่มาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สหรัฐฯ ส่งอดีตนักการทูตร่วมหารือแบบปิดลับกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโสมแดงที่มาเลเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่นานาชาติกำลังเฟ้นหาบทลงโทษเพื่อทำให้เกาหลีเหนือถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นทั้งในทางการทูตและเศรษฐกิจ

รัฐบาลเกาหลีใต้และสหรัฐฯ แถลงยืนยันการพบปะซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเวลา 2 วัน โดยการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการซึ่งมักเรียกกันว่า “Track 2” นี้เป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรง

“นิวยอร์ก แชนแนล” ซึ่งเคยเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างนักการทูตโสมแดงกับนักการทูตสหรัฐฯ ที่องค์การสหประชาชาติ ถูกเปียงยางประกาศตัดขาดเมื่อเดือน ก.ค. เพื่อแก้แค้นที่วอชิงตันขึ้นบัญชีดำผู้นำ คิม จอง อึน

คณะผู้แทนอเมริกันซึ่งเดินทางไปยังมาเลเซียคราวนี้ยังรวมถึง โรเบิร์ต กัลลุชชี ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าทีมเจรจาของสหรัฐฯ ที่ต่อรองให้เปียงยางยอมทำข้อตกลงระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 1994 ส่วนผู้แทนคนสำคัญของฝ่ายโสมแดง ได้แก่ ฮัน ซอง-รยอล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตผู้ช่วยทูตเกาหลีเหนือประจำยูเอ็น

การหารือครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือนำขีปนาวุธพิสัยกลาง “มูซูดัน” ออกมายิงทดสอบเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (20)
เลียน ซีกัล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีซึ่งได้เดินทางไปร่วมพูดคุย ระบุว่า ประเด็นหลักๆ ของการสนทนาก็คือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ฮัน ซอง-รยอล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือ และอดีตผู้ช่วยทูตเกาหลีเหนือประจำยูเอ็น เดินทางถึงโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเข้าร่วมพูดคุยแบบปิดลับกับคณะทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.
ซีกัล เผยกับสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ว่า ผู้แทนเปียงยางย้ำให้สหรัฐฯ ยอมเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือแล้วค่อยมาคุยกันเรื่องโครงการอาวุธ ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่า โสมแดงต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ก่อน

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ปฏิเสธที่จะเจรจาอย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ แต่เนื่องจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ หลายฝ่ายจึงเริ่มจับตาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะมีนโยบายต่อเกาหลีเหนือที่เปลี่ยนไปหรือไม่

นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า นโยบายที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและไม่ติดต่อสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เปียงยางมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเอง และเป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ มากขึ้นไปอีก

เกาหลีใต้ยืนยันว่า การพูดคุยครั้งนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“สหรัฐฯ ยังคงรักษาจุดยืนเดิมที่ว่า การรีบร้อนเปิดเจรจาทั้งที่เกาหลีเหนือยังไม่แสดงเจตนารมณ์ที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ เท่ากับการันตีความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมผิดๆ ของพวกเขา” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

การพบปะอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกว่า Track 2 นี้เกิดขึ้นนานๆ ครั้งเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปีมาแล้ว โดยเคยจัดขึ้นที่สิงคโปร์ เบอร์ลิน ปักกิ่ง และเมืองอื่นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น