เอเจนซีส์ / MGR online - ผู้คนจำนวนหลายพันคนทั่วออสเตรเลีย พร้อมใจเข้าร่วมการเดินขบวนตามท้องถนนใน 25 เมืองทั่วแดนจิงโจ้ เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการเปิดรับ “ผู้ลี้ภัย” เข้าประเทศ
การเดินขบวนสนับสนุนการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้าสู่ออสเตรเลียดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันในกว่า 25 เมืองทั่วแดนจิงโจ้ ในวันเสาร์ (22 ต.ค.) ถูกริเริ่มโดยกลุ่มเคลื่อนไหวในโครงการ “Welcome to Australia” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้สังคมออสเตรเลียเป็นสังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพ
“การร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ เป็นการประกาศก้องให้ประเทศนี้ ได้รับรู้ถึงความปรารถนาของเราในฐานะที่ออสเตรเลียเป็นดินแดนแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล และพร้อมให้การต้อนรับต่อผู้มาใหม่” โมฮัมหมัด อัล-คาฟาจี อดีตผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นผู้นำโครงการ Welcome to Australia กล่าว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดถือเป็นหนึ่งแรงกดดันที่พุ่งตรงเข้าใส่รัฐบาลออสเตรเลียที่ยังคงเดินหน้านโยบายผลักดันผู้อพยพทางเรือแบบแข็งกร้าวต่อไป ผ่านการตั้งศูนย์กักกันผู้อพยพในประเทศนาอูรู ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ในปัจจุบันต้องทำหน้าที่เป็น “บ้าน” ให้กับผู้อพยพเกือบ 1,000 คน ที่หวังจะเข้าไปแสวงหาชีวิตใหม่ในแดนจิงโจ้
ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในการจัดตั้งศูนย์กักกันผู้อพยพบนเกาะนาอูรู ในระหว่างปี 2001 - 2008 ก่อนที่จะหวนกลับมาเปิดศูนย์กักกันนี้อีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2012 ในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิง จูเลีย กิลลาร์ด
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจบนเกาะนาอูรู ซึ่งเป็นรัฐ-ชาติขนาดเล็ก กลางมหาสมุทรแปซิฟิกได้เปิดการสืบสวนเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อพยพ ที่เป็นเด็กรายหนึ่ง โดยน้ำมือของผู้อพยพอีกรายหนี่ง หลังหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง “เดอะ การ์เดียน” ตีแผ่เรื่องน่าสลดที่ผู้อพยพชาวอิหร่านรายหนึ่ง สามารถจับได้คาหนังคาเขาในขณะที่ผู้อพยพอีกรายหนึ่งทำการล่วงละเมิดทางเพศ ต่อบุตรสาววัยเพียง 6 ปีของตน โดยที่ผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวลอยู่ภายในค่ายผู้อพยพ และไม่ถูกจับกุม หรือดำเนินคดีใด ๆ
นาอูรูถือเป็นบ้านของผู้อพยพลี้ภัยทางเรือที่ถูกส่งต่อมาจากออสเตรเลีย โดยศูนย์กักกันผู้อพยพของออสเตรเลียบนเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ มีจำนวนผู้อพยพอาศัยอยู่มากกว่า 700 ชีวิต และถูกโจมตีจากนานาชาติ รวมถึงบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของเหล่าผู้อพยพ รวมถึงการล่วงละเมิดต่อเด็กที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เคยออกรายงานเมื่อปี 2013 ที่ระบุว่า ศูนย์ควบคุมผู้อพยพของออสเตรเลียบนเกาะนาอูรูนั้น “ไม่มีความเหมาะสม” สำหรับการใช้เป็นสถานที่เลี้ยงดูเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานของเหล่าผู้อพยพทางเรือที่ถูกสกัดจับขณะพยายามเดินทางสู่ออสเตรเลีย ก่อนที่ทางการออสเตรเลีย ซึ่ง “ไม่มีนโยบายรับผู้อพยพ” เข้าประเทศ จะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปไว้บนค่ายกักกันบนเกาะนาอูรู ที่อยู่ห่างจากออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 3,000 กิโลเมตร รวมถึงที่เกาะมานุสอันห่างไกลของประเทศปาปัวนิวกินี โดยแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ยอมรับเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลแดนจิงโจ้เป็นการตอบแทน