รอยเตอร์ - เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือก่อสร้างระบบท่อส่งแก๊สใต้ทะเลกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในเมืองอิสตันบูลระหว่างการเยือนตุรกีอย่างเป็นทางการของผู้นำรัสเซีย ที่นอกจากหารือกระชับความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานแล้ว ผู้นำทั้งสองยังหารือในประเด็นการค้า การท่องเที่ยว และการหาจุดยืนร่วมกันในปัญหาซีเรีย
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (11 ต.ค.) ว่า ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เป็นเจ้าภาพรับรองการมาเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่เรือนรับรอง อ็อตโตมาน-อีรา วิลลา(Ottoman-era villa) ในวันจันทร์ (10)
ในการพบปะผู้นำของทั้งสองชาติยังได้ลงนามข้อตกลงก่อสร้างระบบท่อส่งแก๊สใต้ทะเล กระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงาน โดยในการแถลงการณ์ร่วม แอร์โดอันประกาศว่า “ในวันนี้ ได้มีโอกาสใช้เวลาทั้งวันในการหารือความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งทำให้ผมมีความมั่นใจว่าความสัมพันธ์ระดับปกติกับรัสเซียนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างก้าวกระโดด”
รอยเตอร์ชี้ว่า ความหวานชื่นระหว่างตุรกี ชาติสมาชิกองค์การนาโตและรัสเซียเกิดขึ้นเนื่องมาจากทั้งสองชาติต้องตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจ และถูกชาติตะวันตกหมางเมิน
ด้านผู้นำรัสเซียได้ประกาศว่า มอสโกตัดสินใจยกเลิกการคว่ำบาตรอาหารบางประเภทจากตุรกี ซึ่งคำสั่งคว่ำบาตรเกิดขึ้นหลังจากตุรกีได้ยิงเครื่องบินขับไล่รัสเซียตกใกล้พรมแดนซีเรียในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และนอกจากนี้ผู้นำชาติทั้งสองยังได้ประกาศจะพยายามให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติกลับคืนสู่ระดับปกติอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า
ในการพบปะเมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) ได้มีการลงนามข้อตกลงระบบท่อส่งแก๊สใต้ทะเล เติร์กสตรีม (TurkStream) ซึ่งจะทำให้ทางมอสโกสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตัวเองในตลาดพลังงานยุโรป และยังสามารถตัดเส้นทางการส่งซัปพลายไปยังยูเครน ซึ่งถือเป็นเส้นทางเดียวของรัสเซียในการส่งแก๊สเข้าสู่ยุโรปในปัจจุบันนี้
รอยเตอร์รายงานต่อว่า โปรเจกต์เติร์กสตรีมเกิดขึ้นเมื่อทางมอสโกตัดสินใจล้มเลิกโครงการระบบท่อส่งแก๊สเซาท์สตรีมเข้าไปยังบัลแกเรียเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปที่มีความต้องการลดการพึ่งพาด้านพลังงานจากรัสเซีย
โดยในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวานนี้ (10) แอร์โดอันยังประกาศต่อว่า โครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียในตุรกีรุดหน้า ซึ่งในปี 2013 บริษัทนิวเคลียร์ คอร์เปอร์เรชัน โรซาตอม (Rosatom) ของมอสโกประสบความสำเร็จในการคว้าสัญญาการก่อสร้างมูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 โรง ซึ่งจะกลายเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของแดนเติร์กแห่งนี้ รอยเตอร์ระบุ แต่กระนั้นความคืบหน้าในการก่อสร้างต้องหยุดลงชั่วคราวหลังจากที่ตุรกีและรัสเซียมีปัญหาเนื่องมาจากเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียถูกกองทัพตุรกียิงตก
รอยเตอร์รายงานต่อว่า สำหรับปัญหาซีเรีย พบว่าตุรกีและรัสเซียมีความเห็นต่างในหลายด้าน โดยผู้นำตุรกีได้กล่าวถึงปัญหาซีเรียว่า “มีความอ่อนไหวมาก” แต่ยอมรับว่าเขาได้มีการพูดคุยกับปูตินในวันจันทร์ (10) เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพตุรกีในซีเรีย
โดยทั้งแอร์โดอันและปูตินประกาศว่า พวกเขามีความเห็นร่วมกันในความสำคัญของการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไปยังเมืองอะเลปโป “เราทั้งสองมีจุดยืนร่วมในประเด็นการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ไปยังเมืองอะเลปโป ซึ่งประเด็นสำคัญเฉพาะหน้าคือการรับประกันความปลอดภัยการส่งความช่วยเหลือ” ประธานาธิบดีรัสเซียแถลง และยืนยันว่าตัวเขาเห็นด้วยกับแอร์โดอันในแง่การเพิ่มการติดต่อทางการทหาร
รอยเตอร์ชี้ว่า ถึงแม้ว่าตัวผู้นำตุรกีจะออกมากล่าวถึงการพูดคุยเพิ่มเติมในอนาคตกับรัสเซียถึงปัญหาซีเรีย แต่ทว่าดูเหมือนว่าจะมีสัญญาณความเป็นไปได้น้อยมากที่จะบ่งบอกถึงความคืบหน้าในการนำไปสู่การยุติความเห็นต่างเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่ารัสเซียสนับสนุนประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อต้านกบฏซีเรีย ในขณะที่ตุรกีสนับสนุนกบฏซีเรีย และต้องการเห็นอัสซาดออกจากอำนาจไป
ในแถลงการณ์ร่วม ประธานาธิบดีตุรกีแอร์โดอันกล่าวต่อว่า “เราทั้งคู่หารือในการที่ทั้งตุรกีและรัสเซียจะร่วมมือกันได้อย่างไร โดยเฉพาะด้านการส่งเครื่องบรรเทาทุกข์เข้าไปยังเมืองอะเลปโป ยุทธศาตร์ใดที่พวกเราจำเป็นต้องใช้ในการทำให้ชาวอะเลปโปได้สันติภาพ” และกล่าวต่อว่า “เราทั้งสองชาติมาพร้อมกับกระทรวงต่างประเทศ และผู้นำกองทัพระดับสูง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง”