xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเงิบ! ชาวโคลอมเบียลงประชามติ “คัดค้าน” ข้อตกลงสันติภาพกับกบฏ FARC หลังรบกันมากว่า 50 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ฆวน มานูเอล ซานโตส แห่งโคลอมเบีย พร้อมคณะรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวหลังทราบผลประชามติว่าด้วยการรับหรือไม่รับข้อตกลงสันติภาพกับกบฏ FARC เมื่อวันอาทิตย์ (2 ต.ค.)
เอเอฟพี - ชาวโคลอมเบียลงประชามติ “คัดค้าน” ข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลได้เจรจากับกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia : FARC) ด้วยคะแนนเกินครึ่งมาแบบเฉียดฉิววานนี้ (2 ต.ค.) นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าตกตะลึงสำหรับผู้นำโบโกตา ซึ่งคาดหวังว่าการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 52 ปีจะถูกปิดฉากลงได้แล้ว

คณะกรรมการการเลือกตั้งโคลอมเบียแถลงว่า ฝ่ายที่โหวต “โน” มีคะแนนมากกว่าเพียง 57,000 เสียง หรือเท่ากับชนะไม่ถึง 0.50%

ประธานาธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลของเขาจะเดินหน้าผลักดันกระบวนการสันติภาพกับกบฏ FARC ต่อไป

“ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะคัดค้าน... แต่ผมยังไม่ยอมแพ้ ผมจะแสวงหาสันติภาพไปจนกระทั่งวันสุดท้ายที่ผมเป็นผู้นำประเทศ” ผู้นำโคลอมเบียแถลงผ่านสื่อโทรทัศน์

ด้าน โรดริโก ลอนโดโน หรืออีกฉายาหนึ่งว่า “ทีโมเลียน ทีโมเชนโก” ผู้นำสูงสุดของกบฏ FARC ก็ยืนยันเช่นกันว่ากองกำลังของเขาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับกระบวนการสันติภาพ

“FARC ขอประณามพลังทำลายล้างของกลุ่มที่ต้องการสร้างความเกลียดชัง ซึ่งส่งผลต่อการทำประชามติครั้งนี้” เขาแถลงที่กรุงฮาวานาของคิวบา ซึ่งเป็นสถานที่เจรจาสันติภาพกับรัฐบาลโคลอมเบีย

อย่างไรก็ตาม กบฏ FARC “ยังเต็มใจที่จะใช้วิธีเจรจาเป็นอาวุธหนึ่งเดียวเพื่อสรรค์สร้างอนาคต”

ฝ่ายที่สนับสนุนข้อตกลงฉบับนี้เชื่อว่ามันจะช่วยปิดฉากความขัดแย้งทางอาวุธครั้งใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในซีกโลกตะวันตก

สื่อและนักวิจารณ์ออนไลน์เปรียบเทียบผลประชามติคราวนี้กับปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” เมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งชาวอังกฤษส่วนใหญ่เลือกที่จะนำประเทศออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)
โรดริโก ลอนโดโน หรือ “ทีโมเลียน ทีโมเชนโก” ผู้นำสูงสุดของกบฏ FARC ให้สัมภาษณ์หลังทราบผลประชามติ
จากผลการนับคะแนน 99.9% พบว่า ชาวโคลอมเบียโหวตคัดค้านข้อตกลงสันติภาพ 50.21% และสนับสนุน 49.78% โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ค่อนข้างน้อยเพียง 37% เท่านั้น

ทางการโคลอมเบียชี้ว่า ฝนที่ตกหนักเนื่องจากอิทธิพลของพายุเฮอริเคนแมทธิว (Matthew) ที่พัดผ่านทะเลแคริบเบียนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำประชามติครั้งสำคัญนี้

ผลประชามติที่ออกมาส่งผลให้อนาคตของโคลอมเบียตกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน

“การทำประชามติทุกนี้มีทุกอย่างของประเทศเป็นเดิมพัน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง” ฆอร์เก เรสเตรโป ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์ความขัดแย้ง CERAC แถลงก่อนจะทราบผลโหวต

ด้านประธานาธิบดีซานโตสยอมรับว่า รัฐบาลยังไม่มี “แผนสอง” ในกรณีที่ประชาชนไม่ยอมรับข้อตกลงสันติภาพ

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยสถาบัน Datexco และ Ipsos Napoleon Franco ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ชี้ว่า ฝ่ายโหวต “เยส” มีแนวโน้มที่จะชนะขาดถึง 20% และจะมีประชาชนที่โหวต “โน” เพียง 35% เท่านั้น ผลประชามติจริงที่ออกมาจึงนับว่าผิดความคาดหมายอย่างมาก

ฝ่ายที่คัดค้านข้อตกลงสันติภาพนั้นไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลยอมอ่อนข้อให้แก่กบฏ FARC ซึ่งก่ออาชญากรรมสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร ลักพาตัว และข่มขู่

“คำว่าสันติภาพนั้นฟังดูน่าตื่นเต้น แต่ข้อตกลงที่ฮาวานาคือสิ่งที่น่าผิดหวัง” อดีตประธานาธิบดี อัลวาโร อูริเบ แห่งโคลอมเบีย ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้าน ระบุ

กบฏ FARC ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 1964 เนื่องจากไม่พอใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ นักรบเหล่านี้แสวงหาเงินทุนจากการค้าโคเคนและจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 กบฏ FARC มีสมาชิกมากถึง 17,000 คน และมีอิทธิพลควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ในโคลอมเบีย

ทางการโคลอมเบียประเมินว่า สงครามซึ่งเกิดจากปมขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์และดินแดนได้คร่าชีวิตประชาชนไปราว 260,000 คน โดยมีผู้สูญหายราว 45,000 คน และอีกราว 6.9 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน



กำลังโหลดความคิดเห็น