xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ จับเข่าคุยเวเนฯ เป็นครั้งแรก กลางงานสักขีพยาน สิ้นสุดสงครามกลางเมืองโคลอมเบียกับกบฏ FARC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี พบกับประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในวันจันทร์ (26 ก.ย.) กลางพิธีประกาศสิ้นสุดสงครามกลางเมืองโคลอมเบียที่ยืดเยื้อกับกลุ่มกบฏ FARC ที่ได้มีการลงนามสันติภาพเกิดขึ้นในเมืองคาร์ตาเกนา (Cartagena)

รอยเตอร์รายงานวันนี้ (26 ก.ย.) ว่า การพบปะครั้งแรกอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และเวเนซุเอลาเกิดขึ้นในวันจันทร์ (26) หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี และประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร ต้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามสันติภาพระหว่างประธานาธิบดีโคลอมเบีย ฮวน มานูเอล ซานโตส และผู้นำกลุ่มกบฏ FARC โรดริโก ลอนโดโน (Rodrigo Londono) หรือที่รู้จักในนาม “ทีโมเชนโก” (Timochenko) ยุติสงครามกลางเมืองโคลอมเบียที่ยืดเยื้อนานกว่า 50 ปี

โดยรอยเตอร์ชี้ว่าผู้นำระดับสูงของทั้งสองชาติที่อยู่ในชุดสีขาวยังคงนั่งพูดคุยอยู่ต่อไปแม้จะสิ้นสุดงานด้านพิธีการแล้ว

โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “รัฐมนตรีเคร์รีได้แสดงความกังวลของสหรัฐฯผ่านไปยังผู้นำเวเนซุเอลาถึงความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในดินแดนลาตินอเมริกาแห่งนี้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองเวเนซุเอลานับล้านคน และยังได้ร้องขอให้ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา มาดูโร ยังคงเดินหน้าร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับกลุ่มฝ่ายค้านต่อไปเพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศต้องเผชิญอยู่”

ทั้งนี้ ทั้งเคร์รีและมาดูโรได้ตกลงที่จะคงการหารือระดับทวิภาคีต่อไป ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เคอร์บีแถลงต่อ

รอยเตอร์รายงานว่า สหรัฐฯ และเวเนซุเอลาเป็นหเมือนคู่กัดนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ฮูโก ชาเวซ ยังคงอยู่ในอำนาจ ซึ่งทั้งสองชาติต่างแลกสงครามน้ำลายรวมไปถึงการประกาศสั่งขับเจ้าหน้าที่การทูตของอีกฝ่ายเป็นระยะๆ และมาจนถึงปัจจุบันนี้สหรัฐฯและเวเนซุเอลาไม่มีการแต่งตั้งเอกอัคราชทูตของตัวเองไปประจำอยู่ในประเทศอีกฝ่าย

เป็นที่ทราบดีว่า เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานที่มาดูโรต้องประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ และเวเนซุเอลาต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกในระดับเลข 3 หลัก การจลาจลและประท้วงรายวัน ซึ่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอ้างว่าประเทศของเขาตกเป็นเหยื่อสงครามทางเศรษฐกิจที่มีสหรัฐฯ ร่วมมือกับนักการเมืองเวเนฯ บงการอยู่เบื้องหลัง

และความยากลำบากยังรวมไปถึงการเผชิญหน้ากับคำร้องการขอลงประชามติจากฝ่ายค้านต่อตัวเขา ซึ่งในวันจันทร์ (26 ก.ย.) ฝ่ายค้านเวเนซุเอลาได้ประกาศเรียกร้องให้ทั่วประเทศร่วมใจเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 12 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ในการผลักดันการทำประชามติต่อมาดูโร เพื่อจะขับไล่พรรคโซเชียลลิสต์ของมาดูโรในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่อาจจะมีขึ้นก่อนกำหนด

แต่ทว่าความพยายามของฝ่ายค้านเวเนฯ ต้องพบกับการขัดขวางจากคณะกรรมการเลือกตั้งเวเนฯ ที่ได้มีการกำหนดข้อจำกัด และรวมไปถึงการอ้างความเหมาะสมของเงื่อนเวลาที่เห็นควรการเลือกตั้งสมควรที่จะต้องเกิดขึ้นในปี 2017 ไปแล้วเท่านั้น

“ทุกคนทราบดีว่าเรากำลังทำงานเพื่อเดินหน้าไปสู่ข้อเรียกร้องการลงประชามติที่ได้ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งนี่เป็นปัญหา” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการพบกับประธานาธิบดีมาดูดรเกิดขึ้น และเคร์รียังกล่าวต่อว่า “และเราต้องหาทางที่จะทำให้การลงประชามติเดินหน้า ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะช่วยปลดปล่อยเวเนซุเอลาในสถานการณ์ที่ตกเป็นตัวประกันในขณะนี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น