รอยเตอร์ - รัฐบาลโคลอมเบียและกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือกบฏฟาร์ก (FARC) บรรลุข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์เมื่อวันพุธ (24 ส.ค.) ซึ่งทำให้การสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ และบั่นทอนเศรษฐกิจโคลอมเบียมานานกว่า 50 ปี ยุติลงอย่างเป็นทางการ
ภายใต้ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายใช้เวลาเจรจาที่คิวบานานเกือบ 4 ปี กองกำลังกบฏฟาร์กจะยอมวางอาวุธ และกลับมาใช้ชีวิตปกติเยี่ยงพลเรือนทั่วไป
การสู้รบที่ยาวนานหลายสิบปีได้คร่าชีวิตชาวโคลอมเบียไปกว่า 220,000 คน หลายแสนคนถูกขึ้นบัญชี “สูญหาย” และอีกหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นอยู่
ประชาชนในกรุงโบโกตาต่างออกมาเฉลิมฉลองสันติภาพอย่างครึกครื้นตามสวนสาธารณะ และผับบาร์ต่างๆ ทั่วเมืองหลวง
หลังจากนี้ รัฐบาลจะจัดทำประชามติว่าด้วยข้อตกลงสันติภาพกับกบฏฟาร์กในวันที่ 2 ต.ค.
“วันนี้ผมสามารถกล่าวจากก้นบึ้งของหัวใจว่า ผมได้บรรลุภารกิจที่พวกท่านมอบหมายให้ผมทำแล้ว” ประธานาธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส วัย 65 ปี ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้นำโคลอมเบียสมัยที่ 2 นปี 2014 ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันข้อตกลงสันติภาพให้สำเร็จ ระบุ
“ผมขอฝากถึงชาวโคลอมเบียทุกคนว่า บัดนี้การตัดสินใจอยู่ในมือของท่าน ไม่มีครั้งไหนที่พวกเราจะมีโอกาสกำหนดอนาคตของตัวเราเองได้มากเท่าครั้งนี้” ซานโตสแถลงผ่านสื่อโทรทัศน์
ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่ “สนับสนุน” ข้อตกลงยุติสงครามกับกบฏฟาร์ก แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า การใช้กำลังทหารบดขยี้กบฏฟาร์กให้สิ้นซากคือหนทางเดียวที่จะคืนความสงบมั่นคงให้แก่ประเทศได้อย่างถาวร
ข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้ถูกคัดค้านโดยอดีตประธานาธิบดีโคลอมเบียถึง 2 คน รวมถึง อัลวาโร อูริเบ ซึ่งเป็นผู้นำสายขวาจัด
ชาวโคลอมเบียบางคนยังรู้สึกกังขากับเงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้กบฏฟาร์กเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยไม่ต้องรับโทษจำคุกจากอาชญากรรมร้ายแรงที่ได้ก่อขึ้น
ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ กบฏฟาร์กจะสามารถมีผู้แทนในสภาคองเกรส แต่จะยังไม่มีสิทธิโหวตไปจนถึงปี 2018 หลังจากนั้นอดีตสมาชิกกบฏ 7,000 คนจะต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้งและหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนเหมือนพรรคการเมืองทั่วไป
ซานโตสระบุว่า ข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์จะถูกส่งให้สภาคองเกรสพิจารณาในวันนี้ (25 ส.ค.) และจะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบทางอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์
“เราได้รับชัยชนะที่สวยงามยิ่งกว่าสงครามครั้งใดๆ... การต่อสู้ห้ำหั่นด้วยอาวุธสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้เราจะเริ่มนำแนวคิดมาอภิปรายกัน” อีวาน มาร์เกวซ หัวหน้าผู้แทนเจรจาของกบฏฟาร์ก ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวที่กรุงฮาวานาของคิวบา
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้ต่อโทรศัพท์พูดคุยกับ ซานโตส เมื่อวานนี้ (24) เพื่อแสดงความยินดีกับรัฐบาลโคลอมเบีย
กบฏฟาร์กลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 1964 เนื่องจากไม่พอใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ นักรบเหล่านี้แสวงหาเงินทุนจากการค้าโคเคนและจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 กบฏฟาร์กมีสมาชิกมากถึง 17,000 คน และมีอิทธิพลควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ในโคลอมเบีย
ในปี 2002 รัฐบาลอูริเบซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ได้ลงมือกวาดล้างกบฏฟาร์กอย่างจริงจัง โดยสังการแกนนำกบฏและพวกนักรบล้มตายไปกว่าครึ่ง
การบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกบฏฟาร์กยังไม่อาจการันตีได้ว่าเหตุรุนแรงทางการเมืองในโคลอมเบียจะยุติลง เนื่องจากการเจรจากับกองทัพปลดแอกแห่งชาติ (National Liberation Army) ซึ่งเป็นกบฏกลุ่มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ยังไม่มีความคืบหน้า