xs
xsm
sm
md
lg

EU ถอด “กบฏฟาร์ก” ออกจากบัญชีก่อการร้ายชั่วคราว หลังลงนามข้อลงสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์กับ รบ.โคลอมเบีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส แห่งโคลอมเบีย และ โรดริโก ลอนโดโน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ทิโมเลียน “ทีโมเชนโก” ฮิเมเนซ ผู้นำสูงสุดของกบฏฟาร์ก ร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพยุติสงคราม ที่เมืองคาร์ตาเกนา วานนี้ (26 ก.ย.)
เอเอฟพี - สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศถอดรายชื่อกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือกบฏฟาร์ก (FARC) ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายเป็นการชั่วคราววันนี้ (27 ก.ย.) หลังมีพิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างกบฏฝ่ายซ้ายกับรัฐบาลโคลอมเบีย

กบฏฟาร์กถูกใส่ชื่อลงในบัญชีก่อการร้ายของอียูตั้งแต่ปี 2002 โดยบัญชีดังกล่าวได้ให้นิยามบุคคลหรือองค์กรที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ว่า “เป็นบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่มีส่วนพัวพันกับการก่อการร้าย และต้องถูกลงโทษด้วยมาตรการบีบบังคับ (restrictive measures)”

คำสั่งถอดรายชื่อชั่วคราวนี้มีขึ้นหลังจากผู้แทนกบฏฟาร์กและรัฐบาลโบโกตาได้ร่วมลงนามข้อตกลงสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองคาร์ตาเกนา (Cartagena) ของโคลอมเบีย เมื่อวันจันทร์ (26)

“ในการถอดรายชื่อชั่วคราวนี้ กบฏฟาร์กยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชีองค์กรก่อการร้ายอยู่ แต่อียูจะไม่ใช้มาตรการบีบบังคับ (เช่น การอายัดทรัพย์สิน หรือปิดกั้นเงินทุน เป็นต้น) อีกต่อไป” เจ้าหน้าที่อียูคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“ดังนั้น พลเมืองและองค์กรอียูจะสามารถให้ทุนสนับสนุนสมาชิกกบฏฟาร์ก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพ”

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุด้วยว่า มาตรการคว่ำบาตรกบฏฟาร์กจะถูกระงับไว้ 6 เดือนในช่วงแรก หลังจากนั้นจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง

“กบฏฟาร์กได้ดำเนินมาตรการเชิงบวกหลายด้านซึ่งอียูให้การยอมรับ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจสอบและยืนยัน”

การถอดถอนรายชื่อกบฏฟาร์กออกจากบัญชีก่อการร้ายของอียูอย่างถาวร “จะมีการพิจารณาหลังผ่าน 6 เดือนนี้ไปแล้ว โดยขึ้นอยู่กับผลของข้อตกลงสันติภาพ”

พิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียและกบฏฟาร์กเป็นผลมาจากการเจรจานานถึง 4 ปีเพื่อยุติการสู้รบในละตินอเมริกาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 50 ปี และจะต้องผ่านกระบวนการทำประชามติเป็นขั้นตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า

กบฏฟาร์กลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 1964 เนื่องจากไม่พอใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ นักรบเหล่านี้แสวงหาเงินทุนจากการค้าโคเคนและจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 กบฏฟาร์กมีสมาชิกมากถึง 17,000 คน และมีอิทธิพลควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ในโคลอมเบีย

ทางการโคลอมเบียประเมินว่า สงครามซึ่งเกิดจากปมขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์และดินแดนได้คร่าชีวิตประชาชนไปราว 260,000 คน โดยมีผู้สูญหายราว 45,000 คน และอีกราว 6.9 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน

เฟเดริกา โมเกรินี ประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของอียู แถลงว่า อียู “พร้อมที่จะอนุมัติแพ็กเกจเงินช่วยเหลือ 600 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพ” ระหว่างกบฏฟาร์กและรัฐบาลโคลอมเบีย

ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ กบฏฟาร์กจะสามารถมีผู้แทนในรัฐสภาโคลอมเบีย แต่จะยังไม่มีสิทธิโหวตไปจนถึงปี 2018 หลังจากนั้นอดีตสมาชิกกบฏ 7,000 คนจะต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนเหมือนพรรคการเมืองทั่วไป

“วันนี้โคลอมเบียได้แสดงความกล้าหาญที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังผ่านสงครามมานานถึง 50 ปี พวกเขาแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าสันติภาพนั้นเป็นไปได้ และสามารถเกิดขึ้นได้จริง” โมเกรินี กล่าว
บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และ มิเชลล์ บาเชเล็ต ประธานาธิบดีชิลี ปลอบโยนผู้นำโคลอมเบียซึ่งหลั่งน้ำตา หลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามสันติภาพกับกบฏฟาร์ก


กำลังโหลดความคิดเห็น