xs
xsm
sm
md
lg

‘ดูเตอร์เต’หวังกำจัด ‘กลุ่มอาบูไซยาฟ’ โดยไม่ต้องให้ ‘กองทัพสหรัฐฯ’ ช่วย

เผยแพร่:   โดย: โนเอล ทาร์ราโซนา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Duterte hopes to wipe out Abu Sayyaf Group without US military support
By Noel Tarrazona
17/09/2016

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ประกาศเร่งรัดกำจัดกลุ่มอาบูไซยาฟ ตั้งแต่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ ทว่าการที่กลุ่มนักรบติดอาวุธเพียบเหล่านี้ยังสามารถโจมตีตอบโตฝ่ายรัฐบาลได้ แสดงให้เห็นว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ขณะเดียวกันดูเตอร์เตก็แสดงท่าทีว่าไม่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐฯ ในการกำจัดปราบปรามกลุ่มกบฎที่เที่ยวก่อการร้ายมายาวนานกว่า 25 ปีกลุ่มนี้

ซัมโบอังกาซิตี้, ฟิลิปปินส์ - ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายบริหารของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ก็ออกคำสั่งให้กองทัพดำเนินการกำจัดกวาดล้างกำลังนักรบติดอาวุธเพียบจำนวน 400 คนเศษของกลุ่มอาบูไซยาฟ (Abu Sayyaf Group ใช้อัษรย่อว่า ASG) ซึ่งเที่ยวก่อการร้ายสร้างความสยดสยองให้แก่ประเทศชาติมาเป็นเวลากว่า 25 ปี

ทหารราว 10,000 คนถูกส่งออกไปประจำการ และมีคำสั่งให้ใช้กำลังทางนาวีเข้าปิดล้อมบริเวณชายฝั่งของบาซิลัน (Basilan) และ ซูลู (Sulu) การรุกโจมตีของกองทัพได้สังหารพวกนักรบติดอาวุธไปอย่างน้อยที่สุด 70 คน

ทว่ากลุ่มอาบูไซยาฟสามารถตีโต้ด้วยการสังหารทหารนาวิกโยธินชั้นนำไป 15 คน และทหารหน่วยรบพิเศษกองทัพบกที่ประสบการณ์โชกโชนอีก 3 คน โดยที่บางคนถูกตัดศีรษะ อาบูไซยาฟยังเปิดการโจมตีอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการก่อเหตุระเบิดในตลาดสาธารณะแห่งหนึ่งของเมืองดาเวาซิตี้ ภูมิลำเนาของดูเตอร์เต สังหารผู้คนไป 15 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 70 คน

อาบู รามี (Abu Rami) โฆษกของ ASG ออกมาแถลงว่า “การโจมตีด้วยระเบิดในเมืองที่เป็นภูมิลำเนาของประธานาธิบดีคราวนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นของสงครามที่กว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก และพวกเขา (นักรบติดอาวุธ) พร้อมแล้วที่จะเข้าทำสงครามกับทหารเป็นพันคนเป็นหมื่นคนซึ่งถูกส่งออกมาไล่ล่าพวกเขา”

สัปดาห์ที่แล้ว อาบูไซยาฟยังได้จับชาวมาเลเซียไปเป็นตัวประกัน 3 คน เป็นการเพิ่มเติมจากผู้ที่พวกเขาลักตัวไปรอเรียกค่าไถ่อยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วยชาวอินโดนีเซีย 9 คน, ชาวฟิลิปปินส์ 7 คน, และชาวดัตช์ 1 คน ขณะที่ตัวประกันชาวนอร์เวย์ที่ชื่อ คจาร์ทัน เซคคิงสตัด (Kjartan Sekkingstad) ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ที่ตำบลปาติกุล (Patikul) ในจังหวัดซูลู เมื่อวันเสาร์ (17 ก.ย.) (สื่อท้องถิ่นในฟิลิปปินส์อ้างโฆษกผู้หนึ่งของกลุ่มอาบูไซยาฟ แถลงว่า ได้รับเงินค่าไถ่เป็นจำนวน 30 ล้านเปโซ เท่ากับประมาณ 22 ล้านบาท ถึงแม้รัฐบาลนอร์เวย์และรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่างปฏิเสธเรื่องนี้ ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.news24.com/World/News/ex-hostage-tells-of-terror-as-friends-beheaded-in-philippines-20160918 -ผู้แปล)

การก่อเหตุโจมตีของอาบูไซยาฟในช่วงหลังๆ มานี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลยที่จะทำลายล้างกลุ่มนักรบติดอาวุธกลุ่มนี้

พันตรี ฟิเลมอน ตัน (Major Filemon Tan) โฆษกของกองทัพฟิลิปปินส์แถลงว่า พวกนักรบอาบูไซยาฟสามารถหลบหนีได้อย่างว่องไว และฝ่ายทหารกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากชาวบ้านท้องถิ่น เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและที่ซ่อนของนักรบเหล่านี้

กองทัพฟิลิปปินส์ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีในการสู้รบต่อต้านการก่อการร้ายนี้ จากกองทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯราว 100 คนซึ่งตั้งประจำอยู่ในเมืองซัมโบอังกาซิตี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือทางกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement ใช้อักษรย่อว่า EDCA) ระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ (ข้อตกลงฉบับนี้ทำขึ้นในยุคของประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ซึ่งขึ้นบริหารฟิลิปปินส์ก่อนหน้าดูเตอร์เต -ผู้แปล)

ภายหลังที่เขาเดินทางกลับจากการประชุมซัมมิตสมาคมอาเซียนที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาวแล้ว ดูเตอร์เตได้ออกมาพูดเรียกร้องให้ทหารหน่วยรบพิเศษของอเมริกันเหล่านี้ออกไปจากฟิลิปปินส์ โดยระบุว่าการปรากฏตัวของทหารพวกนี้จะทำให้ไม่สามารถนำสันติภาพมาสู่เกาะมินดาเนาได้ ปรากฏว่าพวกองค์กรเอียงซ้ายทั้งหลายต่างแสดงความยินดีต้อนรับการเรียกร้องของดูเตอร์เตคราวนี้

ทว่ากองทัพฟิลิปปินส์นั้นยังคงยืนกรานว่า ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับฝ่ายทหารสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งหนักแน่นเหมือนเดิม และคำพูดคำแถลงของประธานาธิบดีดูเตอร์เตในเรืองนี้ ยังมิได้มีการแปรรูปออกมาเป็นนโยบายรัฐบาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น

คำถามจึงมีอยู่ว่า ดูเตอร์เตจะสามารถกำจัดกวาดล้างกลุ่มอาบูไซยาฟได้อย่างไร หากปราศจากการสนับสนุนของสหรัฐฯ?

ดูเตอร์เตนั้นกำลังวางแผนจะซื้ออาวุธจากรัสเซียและจีน เขากำลังส่งรัฐมนตรีกลาโหม เดลฟิน ลอเรนซานา (Delfin Lorenzana) และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคบางคนไปยังสองประเทศนี้เพื่อสำรวจศึกษาเรื่องอาวุธ ทั้งนี้ในบรรดาทรัพย์สินทางทหารต่างๆ ซึ่งกองทัพฟิลิปปินส์กำลังปรารถนาที่จะได้ไว้ในครอบครอง อย่างหนึ่งก็คือ เครื่องบินแบบใบพัด ซึ่งมีความเหมาะสมแก่การทำศึกปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบและพวกผู้ก่อการร้ายในมินดาเนา

ดูเตอร์เตเชื่อว่าสามารถกำจัดกวาดล้างกลุ่มอาบูไซยาฟได้ภายในวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีของเขาด้วยการใช้กำลังทหาร 10,000 คน เขายังกำลังจะปรับปรุงยกระดับสถานที่ต่างๆ ทางทหาร รวมทั้งจะขึ้นเงินเดือนให้ทหารด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็จะใช้ทักษะความชำนาญทางการทูตของเขา ในการเกลี้ยกล่อมชักชวนให้อาบูไซยาฟยุติการทำสงคราม

ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่เขาไปตรวจเยี่ยมจังหวัดบาซิลาน ซึ่งถือเป็นที่มั่นสำคัญที่สุดของ ASG ดูเตอร์เตได้พบปะหารือกับเหล่าผู้นำของศาสนาอิสลาม เขายังพูดเรียกร้องจูงใจให้นักรบติดอาวุธยุติการทำสงครามในบาซิลาน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ทว่า การเรียกร้องชักชวนของดูเตอร์เตดูจะไม่ได้ผลอะไร พวกนักรบติดอาวุธเหล่านี้ยังคงทำการซุ่มตีและฆ่าทหาร รวมทั้งจับตัวผู้คนไปเรียกค่าไถ่ เขาจึงออกคำสั่งให้ส่งกำลังทหาร 5 กองพันไปประจำการที่จังหวัดนั้นในทันที

ดร.เอเดรียน เซมอร์ลัน (Dr. Adrian Semorlan) อาจารย์ด้านสังคมวิทยาเอเชีย กล่าวให้ความเห็นกับเอเชียไทมส์ว่า ดูเตอร์เตสามารถที่จะกำจัดกวาดล้าง ASG ได้ ถ้าได้รับความสนับสนุนจากพวกชาวบ้านท้องถิ่น ซึ่งสามารถที่จะให้ข้อมูลข่าวสารสำคัญยิ่งแก่ฝ่ายทหาร เกี่ยวกับที่หลบซ่อนและความเคลื่อนไหวของพวกนักรบเหล่านี้

“ดูเตอร์เตได้ประกาศให้อำนาจแก่พวกชาวบ้านท้องถิ่นในการออกติดตามพวกอาบูไซยาฟแล้ว ดังนั้นตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ทางชุมชนจะต้องแสดงบทบาทหน้าที่ในส่วนของพวกเขา” เซมอร์ลัน บอก

ทางด้าน เรนาโต เรเยส (Renato Reyes) ผู้นำของกลุ่มบากง อัลยันซัง มากาบายัน (Bagong Alyansang Makabayan ใช้อักษรย่อว่า BAM) หนึ่งในกลุ่มฝ่ายซ้ายขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ออกมาเรียกร้องให้ดูเตอร์เตยกเลิกข้อตกลง EDCA ที่ทำไว้กับอเมริกันเสียเลย โดยเขากล่าวว่า ข้อตกลงนี้ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เสียประโยชน์

อย่างไรก็ตาม อันโตนิโอ ตริลลาเนส (Antonio Trillanes) วุฒิสมาชิกฝ่ายค้าน ได้ออกมาต่อต้านคัดค้านการที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต เรียกร้องให้ทหารอเมริกันถอนตัวออกไปจากมินดาเนา ตริลลาเนสกล่าวว่าการปรากฏตัวของกองทหารหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ ทำให้เกิดความหวังที่จะมีการยกระดับสมรรถนะทางทหารของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความสามารถในการทำศึกปราบปรามการก่อการร้าย

วอชิงตันยังวางแผนจะจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 66 ล้านดอลลาร์ เพื่อเอาไว้ใช้ก่อสร้างสถานที่ทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯขึ้นในฟิลิปปินส์ ตามข้อตกลง EDCA ทว่านักวิเคราะห์หลายๆ คนในมินดาเนามีความเห็นว่า การปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯในฟิลิปปินส์นั้น ไม่ใช่มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดล้อมควบคุมพวกนักรบติดอาวุธอย่าง ASG หรอก หากแต่มุ่งที่จะตอบโต้ต้านทานจีนที่กำลังเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารมากขึ้นทุกทีในภูมิภาคแถบนี้

ในขณะที่สหรัฐฯพยายามที่จะให้ความสนับสนุนฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เตก็กำลังเคลื่อนเข้าไปใกล้ชิดกับจีนเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ เขาแสดงความชื่นชมต่อความเคลื่อนไหวของจีนในการช่วยเหลือจัดสร้างศูนย์บำบัดขึ้นหลายแห่งขึ้นในฟิลิปปินส์ เพื่อใช้บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาจำนวนราว 600,000 คนที่ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่ที่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี ดูเตอร์เตยังได้พูดหลายครั้งว่าจีนควรที่จะมาช่วยเหลือก่อสร้างระบบทางรถไฟในมินดาเนา

“ประเทศจีนมีเงิน แต่ไม่ใช่อเมริกา อเมริกาไม่มีเงิน” เขากล่าว

ทว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทหารสหรัฐฯได้เคยสนับสนุนกองทหารฟิลิปปินส์จำนวน 4,000 คนในการสู้รบกับพวกนักรบที่สังกัดอยู่กับกลุ่ม “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร” (Moro National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MNLF) ที่ได้ประกาศเอกราชพร้อมกับบุกเข้าโจมตีเมืองซัมโบอังกาซิตี้

กองทัพสหรัฐฯได้ให้ทหารฟิลิปปินส์ยืมอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ตลอดจนทรัพย์สินทางด้านน้ำ เพื่อนำมาจำกัดปิดกั้นความเคลื่อนไหวของพวกกบฏ การสู้รบในเดือนกันยายนคราวนั้นดำเนินอยู่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีกบฏ MNLF ถูกสังหารไปอย่างน้อยที่สุด 100 คน กบฏอีกกว่า 100 คนยอมจำนนและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารไปหลายสิบคน

โนเอล ทาร์ราโซนา เป็นนักหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศอิสระ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ ntarrazona@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น